ทำไมตลาดหุ้นหายกังวลกับ BREXIT เร็วขนาดนี้

ทำไมตลาดหุ้นหายกังวลกับ BREXIT เร็วขนาดนี้

หลังจากรู้ผลการทำประชามติของสหราชอาณาจักร ที่ประชาชนส่วนใหญ่เลือกที่จะออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป

ตลาดหุ้นทั่วโลกถูกเทขายอย่างหนักในช่วง 1-2 วันแรก โดยเฉพาะตลาดหุ้นในยุโรป 


ที่น่าสนใจคือ แรงขายทั้งหมดในตลาดหุ้นทั่วโลกเกิดขึ้นเพียง ช่วง 1-2 วัน หลังการทำประชามติ หลังจากนั้น แทบทุกตลาดหุ้นก็ทยอยปรับขึ้นอย่างรวดเร็ว

อะไรคือสาเหตุหลัก ที่ทำให้นักลงทุนคลายกังวลกับ BREXIT รวดเร็วขนาดนี้? ผมคิดว่ามีอยู่ 3 เหตุผลด้วยกัน คือ

หนึ่ง นักลงทุนคาดหวังสูงมากว่าธนาคารกลางของประเทศมหาอำนาจทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น Bank of England, European Central Bank, Federal ReserveBank และ Bank of Japan มีศักยภาพเพียงพอ และจะทำทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้ BREXITส่งผล กระทบที่รุนแรงต่อเศรษฐกิจของตัวเองและของโลก ดูได้จากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 10 ปี ของประเทศเหล่านี้ที่ปรับลดลงมากหลังการทำประชามติ เช่น อังกฤษ ปรับลดลง 0.50% (เหลือ 0.81%) เยอรมนีปรับลดลงถึงขั้นติดลบ สหรัฐฯ และญี่ปุ่นปรับลดลง0.1-0.2% พูดง่ายๆ ก็คือ นักลงทุนฟันธงว่าธนาคารกลางเหล่านี้จะต้องทำการผ่อนนโยบายการเงินชุดใหญ่อีกรอบเร็วๆนี้

สอง UK ได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ เร็วกว่าที่คาดไว้หลายเดือน ทำให้ความเสี่ยงเรื่องภาวะสุญญากาศหมดไป อีกทั้งการที่นายกฯ คนใหม่เป็นผู้ที่สนับสนุนฝ่าย “อยู่ต่อ” ทำให้ตลาดคาดการณ์ว่ากระบวนการเจรจาเพื่อออกจาก EU น่าจะออกมาในลักษณะประนีประนอม มากกว่าแบบแตกหัก ดังนั้นผลกระทบที่จะเกิดขึ้นก็น่าจะเบากว่าถ้าได้ผู้นำ จากฝ่าย “ออก”

สาม ถึงแม้ UK จะเป็นเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 5 ของโลก แต่ก็มีสัดส่วนแค่ 4% ของเศรษฐกิจโลก มูลค่าการส่งออกและนำเข้าของ UK ก็ไม่สูง คิดเป็นเพียง 3% และ 4% ของมูลค่าการส่งออกและนำเข้าโลก ตามลำดับ ตลาดหุ้นของ UK เอง ถึงแม้จะเป็นตลาดหุ้นที่ใหญ่ที่สุด ในยุโรป ก็มีสัดส่วนเพียง 6% ของมูลค่ารวมของตลาดหุ้นทั่วโลกเท่านั้น

สรุปง่ายๆ ก็คือ ขนาดที่ไม่ได้ใหญ่มากของเศรษฐกิจ UK ทำให้นักลงทุนเชื่อว่าผลกระทบจาก BREXIT ต่อเศรษฐกิจโลกไม่น่าจะมีมาก อีกทั้งการที่กระบวนการออกจาก EU ยังไม่ได้เริ่มนับหนึ่ง และหลังจากนับหนึ่งแล้ว ก็น่าจะต้องใช้เวลาอีกมากกว่า 2 ปีในการเจรจา ก็น่าจะมีส่วนช่วยทำให้นักลงทุนหายกลัวค่อนข้างเร็ว นอกจากนั้น การที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าเศรษฐกิจUK กว่า 6 เท่า ยังคงส่งสัญญาณฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยที่ทำให้ความกังวลเรื่อง BREXIT ลดลงไปมาก

ถ้าจะให้เรียงลำดับความสำคัญของเหตุผลทั้ง 3 ข้อ ผมให้น้ำหนัก มากที่สุดกับเหตุผลข้อที่หนึ่ง เนื่องจากตลอดระยะเวลา 7-8 ปีที่ผ่านมา เป็นที่ทราบกันดีว่าตลาดทุนโลกได้รับอานิสงส์อย่างมากจากการผ่อนคลายนโยบายการเงินของธนาคารกลางของประเทศขนาดใหญ่เนื่องจากธนาคารกลางเหล่านี้ให้ความสำคัญอย่างมากกับการใช้ตลาดทุน เป็นช่องทางในการกระตุ้นเศรษฐกิจ

ครั้งนี้ก็เช่นกัน ตลาดทุนเชื่อว่าจะได้เห็นการผ่อนคลายนโยบายการเงินแบบพร้อมๆ กันอีกรอบเท่าที่ผมติดตามดู นักลงทุนส่วนใหญ่คาดว่า จะได้เห็น BOE ทำการลดดอกเบี้ยอีก 1-2 ครั้งในปีนี้ และมีแนวโน้มว่าจะทำ QE อีกรอบ ECB จะยืดเวลาการทำ QE ออกไปอีก 6-9 เดือน และ Fed จะชะลอการขึ้นดอกเบี้ยออกไปจนถึงปลายปีนี้ หรือต้นปีหน้า

ในอีกมุมหนึ่ง การที่นักลงทุนตั้งความคาดหวังไว้ค่อนข้างสูง เช่นนี้ ก็ถือเป็นความเสี่ยงสำหรับตลาดทุนเช่นกัน ถ้าธนาคารกลาง เหล่านี้ไม่ผ่อนนโยบายการเงิน หรือผ่อนน้อยกว่าที่นักลงทุนอยากเห็น ก็อาจทำให้เกิดแรงเทขายรอบใหญ่ในตลาดทุนทั่วโลกได้ ตลาดหุ้นไทยก็เผชิญกับความเสี่ยงนี้เช่นกัน

แต่การที่ไทยพึ่งพาเศรษฐกิจ UK ค่อนข้างน้อย ไม่ว่าจะด้านการส่งออก การท่องเที่ยว หรือ การลงทุนตรง (มูลค่าการลงทุนตรงสุทธิในไทยของ UK คิดเป็น 0% ของ GDP ของไทย) downside risk ของตลาดหุ้นไทยน่าจะมีค่อนข้างจำกัดเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นอื่นๆ โดยเฉพาะ ตลาดหุ้นของ UK และใน Europe

กล่าวโดยสรุป ณ จุดนี้ ผมเชื่อว่ายังไม่มีใครสามารถตอบได้ว่าผลกระทบที่แท้จริงจาก BREXIT จะมีมากน้อยแค่ไหน จนกว่ากระบวนการออกจากEU ของUK จะเริ่มต้นขึ้น และรายละเอียดต่างๆ ของการเจรจาเริ่มปรากฎออกมา ดังนั้นทุกประเด็นที่มีการวิเคราะห์หรือพูดถึงกันในวันนี้ ยังคงเป็นเพียงการคาดเดาบนสมมุติฐานต่างๆ นานา ที่ต่างคนต่างคิดทั้งสิ้น

ผมเชื่อว่าจากนี้ไปจนถึงสิ้นปี ปัจจัยเรื่อง BREXIT น่าจะเริ่มมีผลกระทบต่อตลาดทุนน้อยลง ความสนใจของนักลงทุนน่าจะไปอยู่ที่การดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางต่างๆมากกว่า

ซึ่งถ้าทุกอย่างเป็นไปตามที่นักลงทุนคาดไว้ ก็แปลว่า BREXIT จะกลายเป็นปัจจัยบวกสำหรับตลาดหุ้นในช่วงเวลาที่เหลือของปี เพราะจะได้แรงส่งจาก BOE, ECB และ Fed