ทีวีดิจิทัลกัดฟันลงทุน

ทีวีดิจิทัลกัดฟันลงทุน

มูลค่างบโฆษณาครึ่งปีแรกที่ 55,972 ล้านบาท

 ติดลบ 8% จากการรายงานของนีลเส็น ประเทศไทย

ถือเป็นตัวเลข “ติดลบ”สูงในรอบ 10ปีของอุตสาหกรรมโฆษณา ปัจจัยหลักมาจากกำลังซื้อถดถอย บรรดาแบรนด์และสินค้าต่างๆ ที่เข็นยอดขายไม่ขึ้น จึงต้องใช้วิธีลดต้นทุน “หั่นงบโฆษณา”เป็นลำดับแรก

ส่วนสื่อที่อยู่ในข่ายโดนตัดงบ! ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสื่อดั้งเดิม ทั้งจากสาเหตุ ราคาสูง และจำนวนผู้เสพสื่อลดลง จากเทคโนโลยีและพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน

แม้ปัจจุบัน สื่อทีวี ยังครองตำแหน่งผู้นำการ เข้าถึง ครัวเรือนไทยทั่วประเทศเกือบ 100% แต่อิทธิพลและบทบาทเริ่มลดลง จากขยายตัวของสื่อออนไลน์ ปัจจุบันประชากรไทยเข้าถึงอินเทอร์เน็ตสัดส่วน 56% โดยมีปัจจัยเร่ง“โมบาย อินเทอร์เน็ต” การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตครั้งแรกผ่านมือถือของคนต่างจังหวัดที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อพฤติกรรมการเสพสื่อและคอนเทนท์ต่างไปจากเดิม

ขณะที่ ทีวีดิจิทัล ช่องใหม่ที่เปิดตัวมาราว 2 ปี ต้องเผชิญปัญหารอบด้าน ทั้งการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีสื่อออนไลน์ ที่ส่งผลต่อพฤติกรรมผู้ชมคนรุ่นใหม่หายไปจากหน้าจอทีวีมากขึ้น ปัญหาการเปลี่ยนผ่านโทรทัศน์ดิจิทัลกับหน่วยงานกำกับดูแล กสทช. แต่ปัญหาหนักต้องยกให้ภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อฉุดเม็ดเงินสื่อทีวี ในทิศทางสร้างสถิติ ขาลง ในช่วง 2 ปีนี้

อีกทั้งต้องเผชิญภาวะการแข่งขันสูง จากจำนวนช่องฟรีทีวีเพิ่มขึ้น 4 เท่าตัว  ขณะที่ ผู้นำรายเดิม ช่องและ ช่อง7” ​ยังคงแข็งแกร่งในการครอบครองเม็ดเงินโฆษณาทีวีก้อนใหญ่ด้วยสัดส่วน 60% และยังอัดเม็ดเงินลงทุนต่อเนื่อง ทั้งละครและกีฬาระดับโลก คอนเทนท์อันดับต้นที่ผู้ชมชื่นชอบ เพื่อรักษาฐานผู้ชม

สถานการณ์ปัจจัยลบที่ทีวีดิจิทัล ช่องใหม่ต้องเผชิญในขณะนี้ ยังไม่มีทางออกอื่นให้เลือกเดิน!  เมื่อทุกช่องยอมจ่ายเงินประมูลงวดที่ 3 เรียบร้อย และรวมเม็ดเงินที่จ่ายเกินครึ่งทางมาแล้ว หลังจากนี้คงต้องเดินหน้าอัดเม็ดเงินลงทุนสร้างคอนเทนท์ เรียกเรทติ้งผู้ชม หวังส่วนแบ่งงบโฆษณาทีวี เมื่อเศรษฐกิจกลับสู่ภาวะปกติ โดยอาศัยจุดเด่นของสื่อทีวี ที่เข้าถึงคนไทยทั่วประเทศตอบโจทย์การสื่อสารแบรนด์กลุ่มแมส  

แม้ช่วงต้นปีทีวีดิจิทัล หลายช่องยังอยู่ในอาการนิ่ง! รอดูทิศทางกำลังซื้อ พร้อมเจรจา กสทช. ขอเลื่อนจ่ายเงินประมูลงวดที่3 หวังต่อลมหายใจในปีนี้ แต่เมื่อไม่สามารถทำได้ ครึ่งปีหลังนี้ หลายช่องจึงอยู่ในอาการเดินหน้า“กัดฟัน”ลงทุนคอนเทนท์ราคาแพง ทั้งลิขสิทธิ์กีฬาดัง ซีรีส์ วาไรตี้ ฟอร์แมทต่างประเทศ รวมทั้งกิจกรรมการตลาดอัดแคมเปญดึงผู้ชม 

แม้แนวโน้มครึ่งปีหลังยังไม่เห็นปัจจัยบวกที่จะทำให้กำลังซื้อกลับมาฟื้นตัว และจูงใจให้แบรนด์ต่างๆ กลับมาใช้งบโฆษณาจำนวนมากอีกครั้ง

แต่ในเมื่อ “ตัวเลือก”การลงโฆษณาทีวี อยู่ที่เรทติ้งทีวีดิจิทัลจึงต้องมุ่งลงทุนคอนเทนท์สร้างฐานผู้ชมต่อไป ไม่ว่าตลาดจะมีเม็ดเงินโฆษณาหรือไม่ก็ตาม!