ยุค‘แม่มด’ครองโลก

ยุค‘แม่มด’ครองโลก

วันพุธที่ 13 กรกฎาคม นาง Theresa May รัฐมนตรีมหาดไทยของอังกฤษ (Home Secretary) จะได้เข้าทำงานที่

No 10 Downing Street หรือที่ทำงานของนายกรัฐมนตรีของอังกฤษเป็นวันแรก แทนนายเดวิด คาเมรอน ที่ต้องไขก๊อกออกไป หลังจากแพ้โหวตประชามติ Brexit หนังสือพิมพ์ The New York Timesรายงานว่า มีอยู่ 5 อย่างไรที่เราควรที่จะรู้เกี่ยวกับนายกรัฐมนตรีหญิงคนที่สองรายนี้

1) เธออายุ 59 ปีแล้ว และได้ดำรงตำแหน่งเป็น รมว.มาตุภูมิ หรือมหาดไทยของอังกฤษมาตั้งแต่ปี 2010 หรือเมื่อ 13 ปีก่อน หลังจากได้รับเลือกเป็น ส.ส. จากพรรคอนุรักษ์นิยม เธอมีปรัชญาการเมืองสายกลาง มีหลายคนเปรียบเทียบเธอเหมือนกับ Angela Merkel นายกรัฐมนตรีของเยอรมนี ว่ามีความคล่องตัว ชอบอะไรที่ปฏิบัติได้ อย่างไรก็ตาม เธอถูกวิจารณ์ว่า นโยบายการแพยพ (อิมมีเกรชั่น) ผู้ลี้ภัยของเธอไม่สามารถลดจำนวนคนอพยพเข้าอยู่อังกฤษได้

2) Theresa May สัญญาว่าจะเดินหน้าเจรจาให้อังกฤษออกจากอียู โดยบอกว่า Brexit ก็คือ Brexit ถึงแม้ว่าเธอมีความเห็นส่วนตัวว่าอังกฤษควรอยู่ในอียูต่อไป แต่ต้องทำตามผลของประชามติ แต่เธอจะไม่เร่งร้อนในเรื่องนี้ โดยจะค่อยๆ เจรจา และอาจจะขอใช้มาตรา 50 ของสนธิสัญญาลิสบอนเพื่อลาออกจากอียูอย่างเป็นทางการในช่วงปลายปีนี้

3) Theresa May เป็นเพื่อนนักเรียนที่มหาวิทยาลัย Oxford กับ Benazir Bhutto ในงานเลี้ยงเต้นรำของมหาวิทยาลัย บุตโตแนะนำให้เธอได้รู้จักกับ Philip May และต่อมาทั้งคู่ได้แต่งงานกัน ส่วนบุตโตต่อมาได้เป็นนายกรัฐมนตรีของปากีสถาน

4) เธอมีนโยบายปกป้องสิทธิและผลประโยชน์ของแรงงาน เธอมีความเห็นว่าแรงงานควรจะมีตัวแทนไปนั่งอยู่ในบอร์ดบริหารของบริษัท

5) เธอชอบปรุงอาหารกินเอง มีหนังสือปรุงอาหารประเภทต่างๆ ถึง 100 กว่าเล่ม

การมานั่งในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอังกฤษของ Theresa May เท่ากับกลุ่มประเทศ G-7 ที่ประกอบด้วย สหรัฐ แคนาดา อังกฤษ เยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี และญี่ปุ่น มีผู้นำที่เป็นผู้หญิงแล้ว 2 คน คือ Angela Merkel ของเยอรมนี และ Theresa May ของอังกฤษ ถ้าหากว่าในเดือนพฤศจิกายนนี้ นาง Hillary Clinton ได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีของสหรัฐ เราจะได้ผู้นำที่มีอิทธิพลต่อการดำเนินนโยบายที่จะมีผลกระทบต่อความเปลี่ยนแปลงของโลกที่เป็นผู้หญิงล้วนๆ เพราะว่าสหรัฐเป็นมหาอำนาจของโลก เยอรมนีเป็นมหาอำนาจของยุโรป และอังกฤษเป็นจักรวรรดินิยมเก่าที่ยังไว้ลายอยู่

ยุคแม่มดครองโลกดีๆ นี้เอง ในขณะที่โลกกำลังเข้าสู่ความตึงเครียดของการเผชิญหน้ากันระหว่างกลุ่ม G-7 และมหาอำนาจตะวันออก คือ รัสเซียและจีน

ในทางการเงิน ผู้หญิง 2 คนมีบทบาทสูงสุดในการกำหนดทิศทางของระบบการเงินโลกในขณะนี้คือ Janet Yellen ประธานของธนาคารกลางสหรัฐ และ Christine Lagardeกรรมการผู้จัดการใหญ่ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) Yellen คุมนโยบายดอลลาร์ที่เป็นเงินสกุลหลักของโลก เธอเตรียมสภาพคล่องดอลลาร์ที่ไม่จำกัดในการรับมือกับผลกระทบของ Brexit หรือความผันผวนของตลาดการเงินที่กำลังมาถึงจุดเปลี่ยนแปลง โดยเปิดสว็อปไลน์ดอลลาร์ให้ธนาคารกลางของกลุ่ม G-7 ไม่อั้น มีการคาดกันว่าธนาคารกลางสหรัฐอาจจะลดดอกเบี้ย พร้อมกับกลับไปทำ QE4

ส่วน Lagarde เตรียมเพิ่มบทบาทของไอเอ็มเอฟในระบบการเงินโลก ในปี 2009 ไอเอ็มเอฟพิมพ์เงิน SDRs เทียบเท่า 250,000 ล้านดอลลาร์เพื่ออุ้มระบบการเงินโลก ถ้าหากว่าเกิดวิกฤติการเงินขึ้นมา และธนาคารกลางต่างๆ ไม่สามารถจะอุ้มแบงก์ หรือเพิ่มหนี้ให้รัฐบาลอีกต่อไป ไอเอ็มเอฟจะพิมพ์เงิน SDRs หรือ Special Drawing Rights เพื่อให้เงิน SDRs เป็นเงินสกุลหลักของโลกต่อไป แทนดอลลาร์ในกรณีที่ดอลลาร์เกิดเฟ้อขึ้นมา เพราะว่าเล่นพิมพ์เงินกันไม่อั้น

ในยุคแม่มดครองโลกมีการเตรียมการทางการเมืองเรียบร้อยแล้วให้ผู้หญิงมีอำนาจในการกำหนดนโยบายของโลกที่เยอรมนี อังกฤษ และคาดว่าจะที่สหรัฐเมื่อฮิลลารีชนะการเลือกตั้ง ส่วนทางการเงิน Janet Yellen และ Christine Lagarde ตั้งแท่นรอที่จะพิมพ์เงินเพื่อเปลี่ยนโครงสร้างการเงินโลกอยู่แล้ว   ใครจะชอบหรือไม่ชอบก็ตาม บรรดาแม่มดกำลังขี่ไม้กวาดมาอาละวาดแล้ว!!