Brexit : ยุค(ฝัน)ของผู้นำหญิง

Brexit : ยุค(ฝัน)ของผู้นำหญิง

ในความเป็นไปได้หนึ่ง ที่อาจเรียกว่าเป็นความฝันและความแปลกใหม่ทางการเมืองสำหรับสหราชอาณาจักรในยุค

 post-Brexit หรือหลังจากที่ถอนตัวจากการเป็นสมาชิกของประชาคมยุโรป นั่นคือ จะมีผู้นำหรือประมุขเป็นสตรีทั้งหมด

สหราชอาณาจักรในฐานะเป็นรัฐ(state) รัฐหนึ่งที่ประกอบด้วย 4 ประเทศ คืออังกฤษ สกอตแลนด์ ไอร์แลนด์เหนือ และเวลส์ ณ ปัจจุบันนี้ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงดำรงตำแหน่งเป็นประมุขแห่งรัฐ (head of state) ที่สืบเนื่องติดต่อกันมาอย่างมั่นคงเป็นระยะเวลา 64 ปี ยืนยาวที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ

ในระดับ head of government นั้น ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักรเรียกในภาษาอังกฤษว่า prime minister ทำหน้าที่บริหารกิจการทั้งหมดของสหราชอาณาจักรที่ครอบคลุมทั้ง 4 ประเทศ ส่วนในสกอตแลนด์ ไอร์แลนด์เหนือ และเวลส์นั้น เรียกในภาษาอังกฤษว่า first minister เพื่อให้แตกต่างไม่ซ้ำซ้อนกัน แต่โดยพื้นฐานในทางปฏิบัติแล้ว คือหัวหน้าฝ่ายบริหารที่มีฐานะไม่แตกต่างจากนายกรัฐมนตรี (บางที่เราอาจจะเรียกว่า มุขมนตรีซึ่งเป็นศัพท์ที่คนไทยทั่วไปไม่คุ้นเคย) เพียงแต่มีอำนาจการบริหารที่จำกัดเฉพาะในประเทศของตัวเองเท่านั้น  ไม่มีอำนาจการบริหารนอกเหนือพรมแดนในประเทศอื่นๆที่อยู่ร่วมในสหราชอาณาจักรและไม่มีอำนาจบริหารใดๆในกิจการที่เกี่ยวข้องหรือมีผลต่อสหราชอาณาจักรทั้งหมด

ณ ปัจจุบันนี้ นิโคลา สเตอร์เจิน (ซึ่งมีบทบาทโดดเด่นในการเรียกร้องให้มีการลงประชามติเป็นครั้งที่ 2 สำหรับสกอตแลนด์ที่จะแยกตัวออกมาจากสหราชอาณาจักร) ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสกอตแลนด์นับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2014  ในขณะที่หัวหน้ารัฐบาลไอร์แลนด์เหนือคืออาร์ลีน ฟอสเตอร์ที่ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2016 ด้วยวัยเพียง 46 ปี

สดๆ ร้อนๆ และตำแหน่งสำคัญที่สุดก็คือเธเรซ่า เมย์ ที่เพิ่งก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของสหราชอาณาจักร เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนที่ 2 ในประวัติศาสตร์ต่อจากมาร์กาเร็ต แธตเชอร์  และเป็นคนที่ 13 ในยุคสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2

เท่ากับ ณ เวลานี้ สหราชอาณาจักรมีประมุขแห่งรัฐและผู้นำรัฐบาลเป็นผู้หญิงถึง 4 คนพร้อมๆกัน  หากในอนาคตอันใกล้นี้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในเวลส์ บางที สหราชอาณาจักรอาจจะมีผู้นำเป็นสตรีพร้อมกันทั้ง 5 คนเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์เกือบหนึ่งศตวรรษนับตั้งแต่ไอร์แลนด์เหนือเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักรเมื่อปี 1922

ในขณะเดียวกัน ผู้นำพรรคการเมืองสำคัญๆในแต่ละประเทศก็ล้วนแต่เป็นผู้หญิง ในสกอตแลนด์ พรรคการเมืองใหญ่ที่สุดสามพรรคอยู่ในกำมือของผู้นำหญิงทั้งสิ้น พรรคแห่งชาติสกอตแลนด์เป็นพรรคที่มีสมาชิกสภาผู้แทนมากที่สุดมีหัวหน้าพรรคชื่อนิโคลา สเตอร์เจินซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรคแห่ง

ชาติสกอตแลนด์แล้ว พรรคใหญ่อันดับสองในรัฐสภาสกอตแลนด์ก็คือพรรคอนุรักษ์นิยมมีรูธ เดวิดสันเป็นหัวหน้าพรรค ในขณะที่พรรคแรงงานซึ่งเคยเป็นพรรคที่ผูกขาดครองเสียงข้างมากในสกอตแลนด์มาตลอดตั้งแต่ปี 1964 ก่อนจะพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อปีที่แล้ว กลายเป็นพรรคใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสามของประเทศมีหัวหน้าพรรคชื่อเคเซีย ดักเดล  ส่วนในไอร์แลนด์เหนือนั้น นายกรัฐมนตรีอาร์ลีน ฟอสเตอร์กลายเป็นผู้นำหญิงคนแรกและหนึ่งเดียวในฐานะหัวหน้าพรรคสหภาพประชาธิปไตย   อย่างน้อยที่สุดถือว่าเป็นภาวะที่พัฒนาก้าวหน้ากว่าเวลส์ซึ่งยังคงเฝ้ารอสตรีคนแรกในประวัติศาสตร์การเมืองของประเทศ โดย ณ ปัจจุบันนี้ หัวหน้าพรรคการเมืองใหญ่ที่สุดอันดับ 3 และอันดับ 5 เป็นผู้หญิง

ในขณะเดียวกัน อังกฤษกำลังจะเจริญรอยตามแนวทางของสกอตแลนด์อย่างมีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูง  นอกเหนือจากเธเรซ่า เมย์เป็นหัวหน้าพรรคอนุรักษนิยมแล้ว ความไม่แน่นอนทางการเมืองต่างๆภายหลังการลงประชามติ Brexit  อาจส่งถึงการเปลี่ยนแปลงหัวหน้าพรรคแรงงานด้วย และมีโอกาสความเป็นไปได้ที่หัวหน้าพรรคคนใหม่จะเป็นสตรีคนแรกในประวัติศาสตร์ 160 ปีของพรรค หลังจากที่ก่อนหน้านี้ มีเพียงสตรีสองคนที่ทำหน้าที่เพียงรักษาการหัวหน้าพรรคเท่านั้น

การก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหญิงของสหราชอาณาจักรคนแรกในรอบ 26 ปีและในช่วงที่ประเทศกำลังประสบกับวิกฤติครั้งเลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา ย่อมทำให้เธเรซ่า เมย์ถูกจับตามองด้วยสายตาแห่งความหวังว่า จะทำหน้าที่เป็นผู้นำ "สตรีเหล็ก"  และเป็น "กัปตัน" นำพาเรือ UK ฝ่าวิกฤติ Brexit ไปสู่เป้าหมายได้ตลอดรอดฝั่งและได้ดีกว่าผู้นำชาย(?) ทั้งนี้ทั้งนั้น ก้าวแรกที่สำคัญที่สุดก็คือ เธเรซ่า เมย์จะกล้าหาญสร้างประวัติศาสตร์แต่งตั้งผู้หญิงเป็นรัฐมนตรีในอัตราครึ่งต่อหนึ่งเหมือนผู้นำสกอตแลนด์หรือไม่ เพราะนี่คือประวัติศาสตร์ที่แม้แต่มาร์กาแรต แธตเชอร์ยังไม่หาญกล้า     

นอีกสี่เดือนข้างหน้า หากคนอเมริกันโหวตเลือกฮิลลารี คลินตัน เป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา  ก็จะทำให้มหาอำนาจแห่งโลกแองโกล-แซกซันทั้งสองประเทศได้ผู้นำหญิงคู่ในฝันเป็นครั้งแรกเป็นอะไรที่ไม่มีใครคาดฝันมาก่อนแต่จะมีสีสันมากกว่าเดิมอย่างแน่นอน

ไม่น่าเชื่อว่า ทั้งมาร์กาแรต แธตเชอร์, เธเรซ่า เมย์และฮิลลารี คลินตัน บังเอิญเกิดในเดือนตุลาคมเหมือนกัน และล้วนแต่มีบุคลิกลักษณะความเป็น "สตรีเหล็ก" ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

ในโอกาสความเป็นไปได้นั้น หากว่าสหรัฐฯมีประธานาธิบดีคนใหม่ชื่อฮิลลารี คลินตัน เท่ากับว่า ความเป็นไปของโลกการเมืองและเศรษฐกิจระหว่างประเทศจะถูกตัดสินด้วยบรรดาผู้นำหญิง ซึ่งรวมทั้งแองเจล่า แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนีและคริสติน ลาการ์ด ผู้อำนวยการใหญ่ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF)

บางทีในระยะเวลา 4 ปีข้างหน้าที่เธเรซ่า เมย์และฮิลลารี่ คลินตันดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศอังกฤษและสหรัฐฯนี้ เราอาจจะมีโอกาสเห็นผู้หญิงดำรงตำแหน่งสำคัญๆของโลกอย่างเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ  ผู้อำนวยการใหญ่ธนาคารโลก และ ประธานคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป ก็เป็นไป