ปมปัญหาแรงงานต่างด้าว แก้ไม่จบ หรือแก้ไม่ถูก?

ปมปัญหาแรงงานต่างด้าว แก้ไม่จบ หรือแก้ไม่ถูก?

หลายรัฐบาลที่ผ่านมา พยายามดำเนินการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวที่หลบหนีเข้าเมืองมาทำงานอย่าง

ผิดกฎหมาย แต่ยิ่งแก้ก็ดูเหมือนยิ่งมีแรงงานต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมายเพิ่มขึ้นอยู่อย่างต่อเนื่อง

กรณีนี้หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องพิจารณาถึงประเด็นเรื่อง ‘ค่าจ้าง’ ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลไทยมีนโยบายปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท ใช้ใน 7 จังหวัดนำร่องตั้งแต่ 1 เมษายน 2555 และดำเนินการปรับขึ้นทั่วประเทศตั้งแต่ 1 มกราคม 2556 ทำให้ค่าจ้างเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 39.4 ในขณะที่ผลิตภาพแรงงานกลับเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 7.0 เท่านั้น

สะท้อนว่า ค่าแรงที่เพิ่มขึ้นไม่ได้ก่อให้เกิดผลิตภาพแรงงานในอัตราที่สอดคล้องกัน ส่งผลให้ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำและปรับตัวไม่ทันจำต้องปิดตัวลง สำหรับธุรกิจบางประเภทเลือกย้ายฐานการผลิตไปยังเพื่อนบ้านเพื่อพึ่งพาแรงงานในประเทศเพื่อนบ้านที่มีอัตราค่าจ้างต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำในไทย

นโยบายค่าจ้างขั้นต่ำจึงไม่ได้ถูกมองว่ามีขึ้นเพื่อช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมของไทย แต่เป็นการช่วยเหลือแรงงานทักษะต่ำ ซึ่งส่วนมากเป็นแรงงานต่างด้าวให้ได้รับค่าจ้างที่สูงขึ้น และนำมาซึ่งการหลั่งไหลของแรงงานจากเพื่อนบ้านที่คาดหวังว่าจะได้รับค่าจ้างในอัตรา 300 บาทเพิ่มมากขึ้น

ไม่ว่าใครหรือแม้แต่นางอองซาน ซูจี ก็ไม่อาจชักนำแรงงานกลับเมียนมาได้ ตราบใดที่ค่าแรงในเมียนมายังคงต่ำกว่าค่าจ้างในไทยค่อนข้างมาก

ตามหลักการทางเศรษฐศาสตร์อธิบายได้ว่าแรงงานจะหยุดเคลื่อนย้ายเมื่อค่าจ้างแรงงานระหว่างสองประเทศแตกต่างกันน้อยมากแต่ความจริงกลับไม่ใช่เรื่องเศรษฐกิจแต่เพียงอย่างเดียว ยังมีเหตุผลอื่นอีกมากเช่นเหตุผลทางความมั่นคงของชาติ สังคม ความมั่นคงของมนุษย์ และด้านสาธารณสุข ทำให้มีนโยบาย กฎหมาย และระเบียบข้อบังคับ ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวเข้ามากำกับมากมาย

แม้ว่านโยบายจะเกิดขึ้นจากความตั้งใจดี เช่น ในปี 2545 รัฐบาลได้ลงนามร่วมกับเพื่อนบ้านและให้มีการจ้างแรงงานตามกระบวนการ MOU เพื่อส่งเสริมให้มีการนำเข้าแรงงานอย่างถูกกฎหมาย แต่นโยบายดังกล่าวไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากนายจ้างต้องการเพียงแรงงานทักษะต่ำ แต่ต้องจ่ายค่าดำเนินการสูงเพื่อทำให้ถูกต้องตามระเบียบ และต้องใช้ระยะเวลานาน จนกลายเป็นภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้น

ค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเพียงหนึ่งในหลายปัจจัยที่มีส่วนชวนเชิญให้แรงงานต่างด้าวยังคงหลั่งไหลเข้ามาอย่างผิดกฎหมายต่อเนื่อง

สวัสดิการที่รัฐบาลหยิบยื่นให้แก่แรงงานต่างด้าวด้วยเหตุผลทางสิทธิมนุษยชน สิทธิ์รักษาพยาบาล ศึกษาเล่าเรียนของบุตรหลานและอื่นๆ ล้วนเป็นประโยชน์ที่แรงงานต่างด้าวได้รับโดยที่ไม่ต้องจ่ายต้นทุน ดังนั้น ผลตอบแทนที่แรงงานต่างด้าวได้รับจึงไม่ได้มีเพียงค่าจ้างที่เป็นเม็ดเงิน แต่รวมถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆ

เมื่อไทยมีปัจจัยเหล่านี้ จึงกระตุ้นให้แรงงานบางส่วนยอมเสี่ยงลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย นายจ้างบางรายก็แสวงหาประโยชน์จากการจ้างแรงงานนี้ด้วยการจ่ายค่าจ้างต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ ไม่จัดหาสวัสดิการตามกฎหมายที่ครบถ้วน รวมทั้งอาจมีการใช้แรงงานด่างด้าวผิดกฎหมายเยี่ยงทาส ทารุณกรรม ล่วงละเมิดทางเพศ

โดยแรงงานเหล่านี้ไม่กล้าไปแจ้งความกับเจ้าหน้าที่เพราะตนเองก็กระทำผิดกฎหมาย นอกจากบางรายที่ทนไม่ได้และหลบหนีออกมา ทำให้ไทยได้รับความเสียหายโดยเฉพาะประเทศคู่ค้าในยุโรปและอเมริกาที่นำเอาประเด็นเหล่านี้มาเป็นมาตรการกีดกันทางการค้า และในปี 2557 ไทยถูกลดอันดับลงมาอยู่ในบัญชีกลุ่มที่ 3 (Tier 3) ในรายงานการลักลอบค้ามนุษย์ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีสถานการณ์การค้ามนุษย์ระดับเลวร้ายที่สุด

แม้รัฐบาลตั้งใจดีที่จะแก้ปัญหา แต่ดูแล้วนโยบายบางอย่าง กลับนำปัญหามารุมเร้ารัฐบาลและหน่วยงานที่รับผิดชอบมากขึ้น

ล่าสุด กระทรวงต่างประเทศสหรัฐได้ยกระดับสถานการณ์การค้ามนุษย์ของไทยจากต่ำสุดขึ้นมาอยู่ที่กลุ่ม “เทียร์ 2 ที่ต้องจับตามอง” (Tier 2 Watch List) ซึ่งเป็นข่าวดี แต่ยังไม่เป็นที่แน่นอนว่า ไทยจะต้องมีลำดับขึ้นๆ ลงๆ อยู่ในรายงานการลักลอบค้ามนุษย์อีกสักกี่รอบ

ถ้าเช่นนั้นแล้ว การแก้ปัญหาของรัฐบาลเดินมาถูกทางหรือไม่ เพราะยิ่งแก้กลับยิ่งดูเหมือนปัญหามีเพิ่มขึ้น

ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรทบทวนนโยบายที่เกี่ยวข้อง กับข้อเสนอแนะภายใต้กรอบTier 2 ของสหรัฐ ซึ่งน่าจะช่วยบรรเทาปัญหาลงได้ ถ้าหากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้รับไปดำเนินการจริงจัง แต่ก็ยังมีปัญหาพื้นฐานที่รัฐบาลที่ต้องพิจารณาคือ หนึ่งรัฐบาลควรทบทวนอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในประเด็นที่ว่า แรงงานต่างด้าวได้รับค่าจ้างเท่ากับแรงงานไทยเป็นสิ่งที่ดีจริงหรือไม่ และสองพิจารณาเรื่องผู้ติดตามที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย และอยู่อย่างผิดกฎหมาย ควรจะได้รับการผ่อนผันต่อไปหรือไม่

กุญแจดอกแรกในการแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมาย ควรเริ่มต้นด้วยการแก้ปัญหาค่าจ้างขั้นต่ำที่ไม่สอดคล้องกับผลิตภาพแรงงาน และการผ่อนผันที่เคยหยิบยื่นให้แรงงานผิดกฎหมายที่ไม่จำเป็น