ทำความรู้จักการระดมทุนแบบ Crowdfunding

ทำความรู้จักการระดมทุนแบบ Crowdfunding

ท่านผู้อ่านอาจจะคุ้นเคยกับเว็บไซต์ที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางระดมทุนให้เจ้าของโครงการต่างๆ ทั่วโลกลงประกาศโครงการ

ของตัวเอง พร้อมระบุจำนวนเงินทุนที่ต้องการเพื่อให้ผู้ลงทุนเข้าไปสนับสนุนทางการเงิน หากโครงการดังกล่าวสามารถระดมเงินทุนได้ถึงจำนวนที่ต้องการภายในระยะเวลาที่กำหนด เจ้าของโครงการจึงจะสามารถเริ่มโครงการได้ และผู้ลงทุนก็จะได้รับสิ่งตอบแทนตามที่กำหนด ในทางกลับกัน หากไม่สามารถระดมเงินทุนได้ภายในระยะเวลา ผู้ลงทุนทุกรายจะได้รับเงินคืนทั้งหมด การระดมทุนในลักษณะนี้ เรียกว่า Crowdfunding ซึ่งเป็นการระดมเงินจากบุคคลจำนวนมาก (Crowd) ผ่านเว็บไซต์ที่เป็นตัวกลาง (Funding portal) อาศัยระบบอินเทอร์เน็ต โดยผู้ลงทุนแต่ละรายจะลงทุนในจำนวนเงินไม่มาก การระดมทุนแบบ Crowdfunding นี้เป็นทางเลือกให้แก่เจ้าของธุรกิจใหม่ (startup) หรือธุรกิจขนาดกลางและเล็ก (SMEs) ในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน

Crowdfunding นี้ ไม่มีรูปแบบการระดมทุนที่แน่นอน แต่โดยหลักจะมีอยู่ 4 รูปแบบ ได้แก่

1) Donation-based Crowdfunding เป็นการระดมทุนที่มีลักษณะคล้ายการบริจาค กล่าวคือ ผู้ลงทุนให้เงินทุนโดยไม่คาดหวังสิ่งตอบแทน โครงการภายใต้การระดมรูปแบบนี้มักเป็นโครงการเพื่อสังคม เช่น โครงการปลูกป่า โครงการทำหมันสัตว์ตามชุมชน นอกจากนี้ ในการลงทุนบางโครงการ ผู้ลงทุนมีสิทธิขอหักลดหย่อนภาษีจากเงินลงทุนดังกล่าวได้ การลงทุนในโครงการรูปแบบนี้จึงมีความเสี่ยงต่ำ

2) Reward-based Crowdfunding เป็นการระดมทุนที่ผู้ลงทุนให้เงินทุนแก่เจ้าของโครงการเพื่อผลิตสินค้าหรือบริการและผู้ลงทุนจะได้รับสินค้าหรือบริการในรูปแบบต่าง ๆ ตามที่กำหนดเป็นการตอบแทน เนื่องจากการระดมรูปแบบนี้เป็นที่นิยมในหมู่ศิลปินในแขนงต่าง ๆ ดังนั้นเจ้าของโครงการผู้ได้รับเงินลงทุนจึงเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในโครงการแต่เพียงผู้เดียว ตัวอย่างเช่น เจ้าของโครงการต้องการได้รับเงินทุนเพื่อออกอัลบั้มเพลง หากผู้ลงทุนสนับสนุนเงินลงทุน 300 บาทจะได้รับแผ่น CD เพลงพร้อมลายเซ็นของเจ้าของโครงการ หากลงทุน 3000 บาทจะได้รับสิทธิในการเข้าชมการแสดงของเจ้าของโครงการจำนวน 2 ครั้ง การลงทุนในโครงการรูปแบบนี้มีความเสี่ยงต่ำ เพราะผลตอบแทนที่ผู้ลงทุนจะได้รับไม่อยู่ในรูปแบบตัวเงิน

3) EquityCrowdfunding เป็นการระดมทุนในกิจการที่มีวัตถุประสงค์เชิงพาณิชย์ ผู้ลงทุนจะได้รับหุ้นและผลตอบแทนที่เป็นส่วนแบ่งจากความเป็นเจ้าของ เช่น เงินปันผล เป็นการตอบแทนการลงทุน การระดมทุนรูปแบบนี้เกี่ยวข้องกับการเสนอขายหลักทรัพย์ (หุ้น) ให้กับประชาชน จึงอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) การลงทุนในโครงการรูปแบบนี้มีความเสี่ยงสูง เพราะมีโอกาสที่กิจการจะไม่ประสบความสำเร็จ และผู้ลงทุนอาจเสียเงินลงทุนทั้งหมด

ประกาศ กลต. กำหนดให้ต้องมีผู้ให้บริการระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ ที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างเจ้าของโครงการและผู้ลงทุน ผู้ให้บริการระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์นี้ จะเป็นผู้คัดเลือกโครงการโครงการที่ผ่านการคัดเลือกจะถูกประกาศลงเว็บไซต์หรือ application เพื่อให้นักลงทุนผู้สนใจเข้ามาศึกษาข้อมูลและลงทุน แม้ว่าประกาศ กลต. มีผลบังคับมากว่า 1 ปี แต่ในปัจจุบันนี้ ยังไม่มีผู้ให้บริการระบบเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้รับความเห็นชอบจาก กลต. เนื่องจากข้อจำกัดหลายประการ ซึ่งรวมถึงผู้ให้บริการระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ยังไม่มีระบบให้บริการที่เป็นไปตามเงื่อนไขในประกาศ กลต.

4) Debt Crowdfunding (Lending / Peer-to-Peer / P2P Crowdfunding) เป็นการระดมทุนในลักษณะการกู้ยืมโดยมีวิธีการที่แตกต่างกัน เช่น ให้กู้ยืมและออกหุ้นกู้ให้แก่ผู้ลงทุน หรือการระดมทุนผ่านคนกลางแบบ Matchmaker กล่าวคือ เจ้าของโครงการกู้ยืมเงินจากผู้ลงทุนผ่านคนกลางที่ทำหน้าที่จับคู่ผู้ลงทุนและเจ้าของโครงการที่เหมาะสม โดยผู้ลงทุนได้รับดอกเบี้ยเป็นผลตอบแทนจากการให้เงินทุนซึ่งมีกำหนดระยะเวลาชำระเงินลงทุนคืนที่แน่นอนการระดมทุนรูปแบบนี้เป็นทางเลือกให้แก่เจ้าของโครงการที่เข้าถึงแหล่งเงินกู้จากธนาคารได้ยาก การระดมทุนรูปแบบนี้มีความเสี่ยงสูง ผู้ลงทุนมีโอกาสที่จะได้รับเงินต้นบางส่วนคืนเท่านั้น

กรณีไทย เลือกใช้วิธี Matchmaker และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย ปัจจุบันอยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณาและคาดว่าจะประกาศใช้บังคับกฎดังกล่าวภายในปีนี้

แล้วพบกันใหม่คราวหน้าค่ะ