ลงทุนสไตล์ Private Banker

ลงทุนสไตล์ Private Banker

สร้างพอร์ตการลงทุนอย่างไร ไต่เป็นลูกค้าระดับ Private

ผ่านมา 2 สัปดาห์แล้วสำหรับปรากฏการณ์ Brexit ที่ชาวอังกฤษลงมติให้อังกฤษ “ออก” จากการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป (EU) แม้เหตุการณ์นี้จะไม่ได้มีผลทันทีในทางปฏิบัติ แต่ในทางจิตวิทยาแล้ว ได้ส่งผลกระทบต่อแวดวงเศรษฐกิจและตลาดเงินตลาดทุนทั่วโลกอย่างฉับพลัน เห็นได้จากการร่วงลงของหลายดัชนีตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลก รวมถึงเงินปอนด์ที่อ่อนค่าลงมากที่สุดในรอบ 31 ปี สะท้อนว่านักลงทุนเข้าสู่ภาวะกลัวความเสี่ยง และกลับไปถือสินทรัพย์ปลอดภัย อย่างทองคำ และพันธบัตรรัฐบาล แต่ผ่านมาเพียงสัปดาห์เดียว นักลงทุนก็กลับมาลงทุนในตลาดหุ้นอีกครั้ง เพราะคาดหวังว่า ธนาคารกลางประเทศต่างๆ จะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม เพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้น

ดิฉันคิดว่า คงไม่มีพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนท่านใด ที่ไม่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของราคาสินทรัพย์หลังเกิด “Brexit” และสิ่งนี้บ่งชี้ให้เห็นว่า การลงทุนย่อมมีความเสี่ยง ขณะเดียวกันยังเป็นโอกาสที่จะได้ตรวจสอบว่าท่านมีพอร์ตการลงทุนที่เหมาะสมแล้วหรือไม่ และมีเกราะป้องกันในภาวะตลาดผันผวนแข็งแกร่งเพียงใด

ดิฉันจึงขอเปิดหัวข้อ การลงทุนสไตล์ Private Banker ด้วยเรื่อง “การจัดสรรเงินลงทุน” หรือ Asset Allocation และจะนำท่านไปรู้จักถึงหลักการเลือกลงทุนในแต่ละ “กลุ่มสินทรัพย์” (Asset Class) ในครั้งต่อไป

ในการจัดสรรเงินลงทุนนั้น ผู้ลงทุนควรจัดสรรเงินลงทุนให้เหมาะสมกับ “ผลตอบแทนที่คาดหวัง” และ “ระดับความเสี่ยงที่รับได้” การกระจายเงินลงทุนออกไปยังสินทรัพย์ที่หลากหลาย จะช่วยเปิดโอกาสสร้างผลตอบแทนที่สูงขึ้น ณ ระดับความเสี่ยงเท่าเดิม หรือ ให้ผลตอบแทนเท่าเดิมแต่ความเสี่ยงลดลง เนื่องจาก การกระจายความเสี่ยงที่ดี จะช่วยลดความเสียหายจากการลงทุนหากผลลัพธ์ไม่เป็นไปตามคาดได้ โดยแบ่งกลุ่มสินทรัพย์ที่ลงทุนออกเป็น 3 กลุ่ม คือ

1. กลุ่มสินทรัพย์เพื่อถือระยะสั้น มีไว้ใช้จ่ายประจำวันและกรณีฉุกเฉิน ได้แก่ เงินฝากออมทรัพย์ หรือสินทรัพย์คล้ายเงินฝาก เช่น กองทุนรวมตลาดเงิน เป็นต้น กลุ่มสินทรัพย์เหล่านี้มีความเสี่ยงอยู่ในระดับต่ำ

2. กลุ่มสินทรัพย์เพื่อกระแสรายได้ ให้ผลตอบแทนค่อนข้างสม่ำเสมอ ได้แก่ เงินฝากประจำ พันธบัตร หุ้นกู้ กองทุนรวมตราสารหนี้ เป็นต้น กลุ่มสินทรัพย์เหล่านี้มีความเสี่ยงปานกลาง

3. กลุ่มสินทรัพย์เพื่อเพิ่มมูลค่าเงินลงทุน เป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง แต่จะช่วยเพิ่มมูลค่าเงินลงทุนในระยะยาว เช่น หุ้น กองทุนรวมหุ้น ETF เป็นต้น กลุ่มสินทรัพย์เหล่านี้มีความเสี่ยงสูงสุดในบรรดากลุ่มสินทรัพย์ทั้ง 3 กลุ่ม

ผู้ลงทุนจะเลือกลงทุนในสินทรัพย์ทั้ง 3 กลุ่มในสัดส่วนมากน้อยแตกต่างกันไปตามระดับความเสี่ยงและผลตอบแทนที่คาดหวังให้สอดคล้องกับเป้าหมายการลงทุนที่ตั้งไว้ โดยคนที่รับความเสี่ยงได้น้อยควรลงทุนใน “กลุ่มสินทรัพย์เพื่อเพิ่มมูลค่าเงินลงทุน” ในสัดส่วนน้อย ส่วนคนที่รับความเสี่ยงได้มากควรลงทุนใน “กลุ่มสินทรัพย์เพื่อเพิ่มมูลค่าเงินลงทุน” ในสัดส่วนที่มาก

การกำหนดสัดส่วนของแต่ละสินทรัพย์ให้เหมาะกับเป้าหมายและความเสี่ยงในระยะยาว หรือ “Strategic Asset Allocation” (SAA) ซึ่งการกระจายความเสี่ยงที่ดี จะช่วยลดความเสียหายจากการลงทุนได้ หมายถึงการจัดพอร์ตลงทุนที่ประกอบไปด้วยสินทรัพย์ที่จะไม่ขึ้นลงพร้อมๆกัน ทำได้โดยกระจายเงินลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความสัมพันธ์ต่อกันน้อยๆ เช่น ในภาวะที่ตลาดหุ้นมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น ก็ควรทยอยลงทุนในตลาดหุ้นที่มีความเสี่ยงสูง และแบ่งเงินบางส่วนลงทุนในทองคำที่เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย เพื่อลดความเสี่ยงในยามที่ตลาดหุ้นผันผวน ซึ่งโดยทั่วไปเมื่อดำเนินการลงทุนตามน้ำหนักสินทรัพย์ที่กำหนดไว้แล้วนั้น ก็จะมีการปรับสมดุลย์พอร์ตการลงทุน (Rebalancing) อยู่เป็นระยะๆ

โดยปกติผู้ลงทุนควรลงทุนตามสัดส่วน SAA ที่สอดคล้องกับระดับความเสี่ยงของตนเอง แต่ในบางช่วง ก็สามารถปรับสัดส่วนให้เบี่ยงเบนออกจากสัดส่วนพื้นฐานเป็นการชั่วคราว ที่เรียกว่า “Tactical Asset Allocation” (TAA) เพื่อผลตอบแทนที่ดีขึ้น หรือหลีกเลี่ยงการขาดทุนจำนวนมากได้ ซึ่งหากผู้ลงทุนไม่มีความเชี่ยวชาญหรือไม่มีเวลา ก็อาจใช้บริการการให้คำปรึกษาจาก นักวางแผนการลงทุน (Investment Planner) เพื่อช่วยกำหนดกลยุทธ์การลงทุนได้ถูกช่วงเวลา เช่น ก่อนเกิด Brexit โพลล์ส่วนใหญ่ระบุว่า “Leave” มากกว่า “Remain” ที่ปรึกษาการลงทุนจึงแนะนำให้ทยอยลดสัดส่วนการลงทุนในตลาดหุ้นยุโรปลง และเพิ่มการลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัย เป็นต้น

แม้ว่าการจัดทำ Asset Allocation จะเป็นหัวใจของการจัดสรรเงินลงทุน แต่ในทางปฏิบัติ ผู้ลงทุนอาจมีข้อจำกัดในการเลือกใช้เครื่องมือดังกล่าว ดังนั้น “กองทุนผสม” ที่มีการจัดสรรเงินลงทุน โดยกระจายไปในสินทรัพย์ต่างๆ ก็ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุน เพราะเป็นกองทุนที่ใช้แนวคิดของการจัดสรรเงินลงทุนช่วยให้นักลงทุนสามารถลงทุนได้ง่ายยิ่งขึ้น

ซึ่งครั้งหน้า ดิฉันจะกล่าวถึงหลักการลงทุนในกองทุนรวม ให้ทุกท่านได้เข้าใจโดยละเอียดต่อไปค่ะ