ไทยแลนด์ 4.0 ผลกระทบ'แรงงาน'

ไทยแลนด์ 4.0 ผลกระทบ'แรงงาน'

การที่รัฐบาลมีเป้าหมายชัด ที่จะ“พลิกโฉม”ประเทศไทย

 สู่ “Thailand Economy 4.0”  หรือจากเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยฐานแรงงานเข้มข้น ในอุตสาหกรรมหนัก ไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมที่ใช้นวัตกรรม เพื่อสร้างอุตสาหกรรมไฮเทค ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต 

โดยมี 10 อุตสาหกรรม เป็นเครื่องยนต์ตัวใหม่ (New Engine of Growth) แบ่งเป็น 

First S-curve หรือการต่อยอด 5 อุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ ,อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ,อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ,การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ  และอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร และ New S-curve อีก 5 อุตสาหกรรมแห่งอนาคต ประกอบด้วย อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ,อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์,อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ ,อุตสาหกรรมดิจิทัล และอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร

โดยรัฐมองว่า 10 อุตสาหกรรมดังกล่าว จะเป็นแม่เหล็กตัวใหญ่ดึงดูดใจนักลงทุนทั่วโลกให้เข้ามาลงทุนในไทย แทนอุตสาหกรรมเดิมที่ความสามารถในการแข่งขันถอยร่น จากต้นทุนแรงงานในไทยที่ไม่สามารถแข่งขันได้เมื่อเทียบกับอีกหลายประเทศ เช่น จีน และประเทศในกลุ่มซีแอลเอ็มวี (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) รวมถึงประเทศในเอเชียใต้บางประเทศ 

จากนี้ไปจึงน่าจะเห็นการออกมาตรการส่งเสริมการลงทุน เพื่อจูงใจการลงทุนอย่างเป็นรูปธรรมเพิ่มขึ้น 

อย่างไรก็ตาม แม้ไม่อาจปฏิเสธว่า 10 อุตสาหกรรม คือแนวทางการพัฒนาประเทศในอนาคต ไม่เฉพาะในไทย แต่เป็นสเต็ปของประเทศกำลังพัฒนาอีกหลายประเทศ ที่ต้องพัฒนาอุตสาหกรรมพื้นฐาน ไปสู่อุตสาหกรรมขั้นสูง  

ทว่า การจะมุ่งไปสู่เป้าหมายเบื้องหน้า ที่อาจจะเกิดขึ้นในระยะ 10  ปีจากนี้ 

สิ่งที่ควรต้องคำนึงถึงไปพร้อมกัน คือ ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลง 

เพราะทุกการเปลี่ยนแปลง เป็นทั้ง โอกาส ที่มาพร้อมกับ ความเจ็บปวด ของผู้ปรับตัวไม่ทัน

โดยเฉพาะ ผลกระทบด้านแรงงาน จากการนำเครื่องจักรไฮเทคมาทดแทน 

ล่าสุด กับการประกาศ ลดการจ้างงานโดยสมัครใจของบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย แม้บริษัทจะให้เหตุผลว่าเกิดจากภาวะเศรษฐกิจในและต่างประเทศชะลอตัว ส่งผลต่อยอดการผลิต

ทว่า เหตุผลหนึ่งที่อาจเป็นผลพวงนั่นคือ ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการผลิต ทำให้ลดความจำเป็นในการจ้างงานมนุษย์ 

อย่างที่ กอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า  เป็นแนวโน้มของผลิตรถยนต์ในอนาคตที่จะมีการใช้เทคโนโลยี และเครื่องจักรไฮเทคทดแทนคนมากขึ้น ส่วนการผลิตชิ้นส่วนที่ไม่มีความซับซ้อนมูลค่าไม่สูง ซึ่งต้องใช้แรงงานจำนวนมาก บริษัทผู้ผลิตได้เดินทางไปดูพื้นที่ตั้งโรงงานในประเทศเพื่อนบ้านทั้งกัมพูชา และเมียนมาเพื่อผลิตส่งเข้ามาไทยแทนเนื่องจากค่าแรงต่ำกว่า

ดังนั้น การวางแผนรองรับเรื่อง พัฒนาคน เพื่อก้าวให้ทันกับเทคโนโลยี  จึงเป็นเรื่องซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่อาจมองข้าม 

แม้ปัจจุบันไทยยังไม่เผชิญกับปัญหาการว่างงาน แต่ในอนาคตหากไม่เร่งแก้ไขปัญหา 

อาจนำมาสู่ วิกฤติการว่างงาน ในอนาคต 

โดยมีหุ่นยนต์ เป็นตัวเบียดแทรก สำคัญ