ประชามติร่างรัฐธรรมนูญและการจัดตั้งรัฐบาล

   ประชามติร่างรัฐธรรมนูญและการจัดตั้งรัฐบาล

ลองวาดภาพอนาคตหลังประชามติ 7 สิงหาคม ถึงความเป็นไปได้ คือ 1. ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน

คำถามพ่วงไม่ผ่าน 2. ร่างผ่าน คำถามพ่วงผ่าน 3. ร่างผ่าน คำถามไม่ผ่าน 4. ร่างไม่ผ่าน คำถามพ่วงผ่าน

กรณี (1) เริ่มต้นร่างใหม่ ผู้ร่างต้องร่างรัฐธรรมนูญที่ต่างจากร่างที่ถูกคว่ำไป จะใส่เนื้อหาคำถามพ่วงลงไปไม่ได้ ยกเว้นจะฝืนประชามติ ซึ่งไม่ควร ร่าง รธน.ฉบับใหม่ควรยึดโยงกับรัฐธรรมนูญที่เคยใช้แล้ว เช่น 2540 หรือ 2550 แล้วให้ตั้งความหวังว่าทุกฝ่ายจะมีบทเรียน และเน้นไปที่เขียนกฎหมายลูกให้ทันเลือกตั้งภายใน 2560

กรณี (2) ร่างผ่าน คำถามพ่วงผ่าน ไม่ต้องว่าอะไรกันมาก ต้องเป็นตามนั้น เขียนกฎหมายลูกต่อและมีเลือกตั้งซึ่งควรทำได้เร็วกว่า (1) และเงื่อนไขการได้รัฐบาลก็คือ หลังเลือกตั้ง ส.ส. (500) ส.ว.แต่งตั้ง (200) เสียงทั้งหมดที่มีสิทธิ์เลือกและรวมทั้งไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีคือ เสียงทั้งรัฐสภาคือ 700 คนที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี จะต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง นั่นคืออย่างน้อย 376

ถ้า ส.ส. 500 ในสภาตกลงกันได้เพื่อทำให้คนที่เป็นนายกรัฐมนตรีเป็นไปตามเสียงสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 376 คน เสียง ส.ว. 200 ก็ไม่มีความหมาย ซึ่งแน่นอนว่าการที่ ส.ส. เทคะแนน 376 เลือกคนจากรายชื่อที่พรรคเสนอให้เป็นนายกฯตอนหาเสียงเลือกตั้ง (เสนอได้ไม่เกิน 3 ชื่อ หรือจะไม่เสนอก็ได้ แต่ถ้าไม่เสนอก็เท่ากับตัดสิทธิ์ตัวพรรคเอง ส่วนชื่อที่ถูกเสนอจะได้หรือไม่ได้เป็น ส.ส.ก็ได้ หรือไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคก็ได้ด้วย) และรายชื่อที่จะมีสิทธิ์ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกฯ จะต้องเป็นพรรคที่ได้ ส.ส. ไม่น้อยกว่าร้อยละห้าของจำนวน ส.ส. และย่อมต้องเป็นพรรคที่รวบรวมเสียงพรรคอื่นได้ถึง 376 เสียง

แต่ถ้า ส.ส. ตกลงกันไม่ได้ แน่นอนว่าเสียง ส.ว.จะมีบทบาทสำคัญมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่ว่า ส.ส.รวมกันได้แค่ไหน แม้ว่าจะไม่ถึง 376 แต่ถ้าใกล้เคียง บทบาท ส.ว. ก็จะไม่มากนัก แต่ถ้าเสียง ส.ส. แตกกันมาก บทบาท ส.ว.ก็จะมากถึงขนาดกำหนดตัวนายกรัฐมนตรี แต่กระนั้น ในเบื้องแรก คนที่จะเป็นนายกฯก็จะต้องอยู่ในรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอไว้ แต่ถ้ายังตกลงกันไม่ได้ทั้งรัฐสภา จนเวลาผ่านพ้นนานเกินควร (ร่าง รธน.ฉบับนี้ไม่ได้กำหนดว่าหลังเลือกตั้งจะต้องมีการจัดตั้งรัฐบาลภายในเวลาเท่าไร) สภาผู้แทนฯจะต้องระดมหาเสียง ส.ส.ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง (250) เท่าที่มีอยู่เสนอต่อประธานรัฐสภาให้รัฐสภาเปิดทางให้คนนอกรายชื่อ โดยต้องมีการประชุมร่วมกันทั้งสภาผู้แทนและวุฒิสภา และเมื่อประชุมร่วมกันแล้วจะต้องได้เสียง 2 ใน 3 (ประมาณ 466) ถึงจะเปิดทางได้

เมื่อเปิดได้แล้ว คนที่จะได้เป็นนายกฯคือคนที่ได้คะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของทั้ง 2 สภา นั่นคือ 376 ดังนั้น จะเห็นได้ว่า หากทั้งสองสภาไม่สามารถมีความเห็นตรงกันเกินครึ่งในการเลือกคนตามรายชื่อ ก็จำเป็นต้องเปิดทางให้คนนอกรายชื่อ ซึ่งพรรคที่รวมตัวกันได้ 250 เพื่อขอให้เปิดทางให้คนนอกรายชื่อนี้ย่อมต้องการเสียงอีกเพียง 126 เพื่อให้ได้กึ่งหนึ่งของทั้งสองสภา ซึ่งตอนที่รวบรวม 250 ไปขอให้วุฒิสภาร่วมแจมเปิดทางนั้น แค่เสียงวุฒิฯทั้ง 200 คนก็ยังไม่พอจะเปิดทาง (250+200=450) เพราะจะเปิดทางได้ต้อง 2 ใน 3 ของสองสภาคือ 466 นี่คิดตามตัวเลขเต็มสภาทั้งสอง จึงไม่ใช่เรื่องง่ายเสียทีเดียว แต่ถ้าเปิดทางได้แล้ว พรรคที่รวมกันได้ 250 ก็ต้องการเสียงจากวุฒิฯอีกเพียง 126 ก็สามารถส่งคนที่ตนวางใจให้เป็นนายกรัฐมนตรีได้

อีกสูตรหนึ่ง หากหลังเลือกตั้ง เสียง ส.ว. 200 เป็นปึกแผ่นดี และมีพรรคใดพรรคหนึ่งหรือมากกว่าหนึ่งพรรครวมกันได้ 176 เสียง และเห็นสอดคล้องกับเสียง ส.ว. 200 ในการที่จะให้ใครตามรายชื่อเป็นนายกฯ ก็สามารถทำได้ โดยไม่ต้องเปิดทางใดๆ

กรณี (3) ร่างผ่าน คำถามพ่วงไม่ผ่าน ก็เดินหน้าเขียนกฎหมายลูกและเตรียมเลือกตั้งภายใต้ร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติ การได้นายกรัฐมนตรีก็จะเป็นเรื่องของสภาผู้แทนเท่านั้น และขอให้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทน คือ 251 เท่านั้น แต่ถ้าตกลงกันไม่ได้ ก็ต้องขอเสียง ส.ว. มาร่วมประชุมปลดล็อกเพื่อเปิดโอกาสให้ ส.ส. เสนอชื่อคนที่ไม่ได้อยู่ในรายชื่อตั้งแต่แรกให้เป็นนายกรัฐมนตรี จะพบว่าเงื่อนไขแบบนี้จะเกิดขึ้นก็เมื่อพรรคที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุดหรือรองลงมาไม่สามารถตกลงเรื่องเก้าอี้รัฐมนตรีกับพรรคขนาดกลางหรือเล็กเพื่อให้ได้เสียงเกิน 250 ได้

จนในที่สุด เวลาผ่านไปจนเกินควร ทำให้จำใจต้องขอประชุมสองสภาปลดล็อก โดยหาเสียง ส.ส. ให้ได้ 250 ตามในกรณี (2) และเมื่อปลดได้แล้ว ก็จะเป็นเรื่องของสภาผู้แทนที่จะเลือกนายกฯนอกรายชื่อ แต่ก็น่าคิดว่า ถ้าจะปลดล็อกต้องมีเสียง ส.ส. 250 ซึ่งถ้าหาได้อีกเสียงเดียวก็ตั้งนายกฯได้แล้ว ถ้าหาได้ขนาด 250 ก็คงไม่น่าจะต้องปลดล็อกแล้ว แค่พยายามหาอีกเสียงเดียวน่าจะง่ายกว่าปลดล็อก ซึ่งออกแบบมาแบบนี้ ก็เท่ากับว่าจะบีบให้ ส.ส. ตกลงกันเองได้ แต่ปัญหาคือ หากไม่มีใครยอมใครในสภาผู้แทนรวมกันได้ถึง 250 เพื่อปลดล็อก อีกทั้งก็ยังตกลงกันไม่ได้ที่จะเลือกคนจากรายชื่อด้วย อย่างนี้ก็จะเข้าข่ายเดทล็อก แล้วจะทำยังไง? ยังหาไม่เจอในร่างรัฐธรรมนูญนี้ ยกเว้นจะหันไปแนวประเพณีการปกครอง!!

กรณีสุดท้าย ร่างไม่ผ่าน คำถามพ่วงผ่าน ร่างใหม่จะเนื้อหาอย่างไรก็ตาม แต่การได้นายกฯ ก็ต้องมาจากสองสภา ถ้าตีความจากการที่ร่างนี้ถูกคว่ำไป ก็อาจตีได้ด้วยว่า ประชาชนไม่เอา ส.ว. จากการแต่งตั้ง มากกว่าจะเป็นอื่น