บันทึกประวัติศาสตร์ : อียูเรเฟอเรนดั้ม (4)

บันทึกประวัติศาสตร์ : อียูเรเฟอเรนดั้ม (4)

อาการช็อคจากผล Brexit ของฉันดีขึ้นมาก พวกเราดูข่าวแล้วเอามือตบหน้าผากกันน้อยลง อาจจะเป็นเพราะ

ทุกอย่างมันเริ่มซึมเข้าไปในหัว เครียดต่อไปก็ทำอะไรไม่ได้ มีคนบอกว่าปรากฏการณ์ Brexit เปรียบเสมือนมีการจากไปอย่างกะทันหันของคนในครอบครัว ฉันเห็นด้วยอย่างมากเพราะบรรยากาศมันเป็นแบบนั้นจริงๆ แต่ก็นะ ชีวิตต้องดำเนินต่อไป อนาคตคือสิ่งที่ไม่มีใครคาดเดาได้ ส่วนความกลัวเรื่องจะถูกเกรียนชาตินิยมตะโกนไล่นั้นลดลงไปมากแล้ว เมื่อวานอ่านข่าวที่มีคนส่งดอกไม้ไปให้กำลังใจศูนย์วัฒนธรรมโปแลนด์ในลอนดอน ที่ถูกมือดีพ่นสีใส่กระจกไล่ให้กลับประเทศ มันทำให้ฉันอุ่นใจขึ้นมามาก อย่างน้อยคนอังกฤษที่น่ารักๆ ก็มีอยู่ไม่น้อย

วันนี้มีเรื่องให้ช็อคเล็กๆ อีกแล้ว เมื่อวานฉันยังนั่งคิดอยู่ว่าถ้าบอริส จอห์นสัน ได้เป็นนายกฯ อังกฤษคนต่อไป ฉันคงจะอับอายแทนชาวผู้ดี มาวันนี้บอริสประกาศไม่ลงสมัครรับคัดเลือกเป็นนายกฯ ซะแล้ว ท่ามกลางความมึนงงของทุกคน แม้แต่คนในพรรคด้วยกันเอง

บอริสถูกเพื่อนรักที่เคยเป็นคนหนุนหลังบอริสช่วงแคมเปญน์ Leave หักเหลี่ยมแบบโหดๆ เพื่อนรักคนนี้คือไมเคิล โกฟ โกฟเป็นรัฐมนตรียุติธรรม ตอนช่วงก่อนเรเฟอเรนดั้มโกฟทำตัวเป็นพระรอง คอยให้คำปรึกษาบอริส หลังจากเดวิดลาออก มีคนถามโกฟว่าจะลงสมัครเป็นหัวหน้าพรรคและนายกฯ คนถัดไปกับเขามั้ย โกฟบอกว่าไม่ ตัวเองจะขอเป็นเพียงฝ่ายสนับสนุนให้เพื่อนบอริส ไม่กี่ชั่วโมงก่อนพรรคคอนเซอร์เวทีฟปิดรับสมัครคนที่จะเสนอตัวเข้าแข่งขันชิงตำแหน่งครั้งนี้ โกฟโทรบอกบอริสว่าตัวเองจะลงแข่งด้วย

ทีนี้บอริสรู้ตัวดีว่าถ้าขาดแรงสนับสนุนจากโกฟ ตัวเองก็จะลำบาก บอริสเลยประกาศกลางวงแถลงข่าวว่าขอถอนตัว คนอื่นๆ ที่เตรียมตัวสนับสนุนบอริสเลยงงไปตามๆ กัน เพราะคิดว่าบอริสจะแถลงอย่างเป็นทางการว่าตัวเองได้ยื่นใบสมัครแข่งขันชิงตำแหน่งแล้ว ฝ่ายสนับสนุนบอริสเลยวงแตก บางคนหันไปหาเทเรซ่า เมย์ แทน แม้ว่าเมย์จะเป็นฝ่าย Remain แต่เพราะไม่ชอบใจที่โกฟหักหลังเพื่อนเอาดื้อๆ บางคนก็หันไปหาโกฟ เพราะอย่างไรเสีย จุดยืนโกฟก็ยังคล้ายๆ บอริส สนุกล่ะทีนี้

ก่อนหน้านี้ฉันไม่ค่อยให้ความสนใจกับโกฟเท่าไหร่ เพราะโกฟออกจะเงียบๆ ไม่เด่น ไม่หวือหวาเท่าบอริส แต่ตอนนี้ใครๆ ก็จับตามองโกฟจากการที่โกฟหักหลังบอริสเอาดื้อๆ และเพราะโกฟเป็นคนโปรดของรูเพิร์ต เมอร์ด็อค เจ้าพ่อสื่อฝ่ายขวาอย่างเดอะซัน แถมภรรยาโกฟเป็นคอลัมนิสต์ของหนังสือพิมพ์เดลี่เมลล์ อีกหนึ่งหนังสือพิมพ์หัวสีฝ่ายขวาเช่นกัน โกฟเลยได้เปรียบกว่าผู้สมัครคนอื่นอีกสี่คนตรงที่มีสื่อใหญ่ๆ ฝ่ายขวาหนุนหลังถึงสองสื่อ

สรุปตอนนี้คนเสนอตัวเข้ารับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคและนายกฯ คนถัดไปมีทั้งหมดห้าคน ตัวเต็งก็คือ เทเรซ่า เมย์ (ถ้าป้าเมย์ได้ ป้าเมย์จะกลายเป็นนายกหญิงคนที่สอง ถัดจากมาร์กาเร็ต แท็ตเชอร์),ไมเคิล โกฟ, ส่วนอีกคนที่อาจจะเป็นม้ามืดคือ สตีเฟ่น แครบ รมต.แรงงานและสวัสดิการ สตีเฟ่น แครบ เป็นผู้สมัครคนเดียวที่มีพื้นฐานมาจากครอบครัวยากจน ที่บอกว่าน่าสนใจ เพราะอาจจะสามารถช่วยพรรคดึงฐานเสียงพรรคเลเบอร์มาได้ในการเลือกตั้งครั้งหน้า

ขั้นตอนต่อไปในการเลือกหัวหน้าพรรคและนายกฯ คนถัดไปนี้ก็คือ ส.ส. พรรคคอนเซอร์เวทีฟจะโหวตให้เหลือเพียงผู้สมัครสองคนสุดท้าย จากนั้นสมาชิกพรรคทั่วไปจะลงคะแนนเลือก หนึ่งในสองคนที่ได้คะแนนโหวตสูงสุดก็จะได้ครองตำแหน่งไป อารมณ์คล้ายๆ เดอะว้อยซ์ ที่โค้ชเป็นคนคัดผู้เข้ารอบชิง ก่อนที่จะเปิดให้คนทั่วไปโหวตตัดสินให้ใครเป็นผู้ชนะ แต่ความสนุกมันอยู่ที่ การเมืองอังกฤษคาดเดายากมากๆ ก็ดูอย่างผลเรเฟอเรนดั้มสิ สุดท้ายคนที่ได้เป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่อาจจะเป็นใครก็ได้ในห้าคนที่ลงสมัครนี้

ส่วนคุณลุงเจอเรอมี่ของฉันก็ยังไม่ยอมลงจากเรือเลย ทั้งๆ ที่มีอดีตหัวหน้าพรรคสองสามคนออกมาขอร้องให้สละเรือได้แล้ว ได้ข่าวว่าจริงๆ ลุงอยากออกจะแย่ แต่ที่ปรึกษาและคนใกล้ชิดของลุงไม่ยอมให้ลุงถอย เพราะเดี๋ยวตัวเองก็หมดสนุกกันพอดี แต่ดูๆ แล้วลุงไม่น่าจะรอด

จะว่าไปไอ้ผลโหวตที่ออกมาช็อคโลกนี้ก็มีข้อดีอยู่นะ มันทำให้ทุกคน “ตื่น” โดยเฉพาะนักการเมือง ทั้งฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน ฝ่าย Leave ฝ่าย Remain ว่ากันว่าชาวรากหญ้าเหลืออดอย่างสุดๆ แล้ว เพราะรู้สึกว่าผู้มีอำนาจไม่สนใจความเป็นอยู่ของพวกเขาเลย มัวแต่ห่วงผู้อพยพ ห่วงชาวต่างชาติ เรื่องนี้เป็นเรื่องซับซ้อนและละเอียดอ่อนกว่าที่คิดเยอะมากแต่ที่แน่ๆ

ฉันว่ารัฐสภาคงไม่กล้าฉีกผลประชามติหรอก อังกฤษได้บอกลาอียูแน่ แล้วใครก็ตามที่จะเข้ามาบริหารประเทศต่อไป ไม่ว่าจะทำอะไรก็ต้องเริ่มนึกถึงผลประโยชน์ของคนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียมกันให้มากขึ้น ถ้าตัดเรื่องเศรษฐกิจพังออกไป ไม่แน่นะ การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้อาจจะนำพาหลายสิ่งที่ดีกว่ามาให้ก็ได้

แต่ฉันก็ทำได้แค่หวังและรอดูกันต่อไป

..........................

หมายเหตุ: กมลชนก สุขใส อดีตผู้สื่อข่าวสายการเมืองและนักศึกษาฝึกงานที่หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ปัจจุบันเป็นพนักงานบัญชีในบริษัทที่ดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมด้านการเงิน อาศัยอยู่เมืองไบรตัน ทางตอนใต้ของประเทศอังกฤษ