บันทึกประวัติศาสตร์ : อียูเรเฟอเรนดั้ม

บันทึกประวัติศาสตร์ : อียูเรเฟอเรนดั้ม

วันที่สอง วันนี้ฉันตื่นแต่เช้าเพื่อเตรียมตัวเดินทางไปฮอลิเดย์ที่เวลส์หนึ่งอาทิตย์ เป็นฮอลิเดย์ของครอบครัว

พร้อมหน้ากับพ่อแม่สามี สามีตื่นก่อนแล้วและกำลังจดจ่ออยู่กับหน้าจอมือถือสีหน้าเคร่งเครียด จากการถกเถียงกับเพื่อนบนเฟซบุ๊คถึงเหตุการณ์ช็อคโลกที่เพิ่งเกิดขึ้น

เสียงโทรศัพท์ของสามีดังขึ้น เพื่อนสนิทคนเดิมโทรมา สามีเล่าให้ฟังถึงบทสนทนากับเพื่อน “เบนบอกว่าพี่ชายของเบนโหวตออก เบนกับพี่เลยทะเลาะกัน แล้วเบนคงไม่ไปหาพี่ชายสักพักใหญ่ ส่วนน้องสาวเบนที่วางแผนจะไปอยู่ฝรั่งเศสโทรมาร้องไห้ เพราะเสียใจมากกับผลประชามติ”

“ส่วนกลุ่มเพื่อนชั้นก็ทะเลาะกันเรื่องนี้ สตีฟกับเกรแฮมโหวตออก ชั้นไม่อยากจะเชื่อเลย”

ฉันนึกไปถึงเหตุการณ์เสื้อเหลืองเสื้อแดงที่เกิดขึ้นที่บ้านเรา ไม่คิดว่าสถานการณ์ความแตกแยกจะตามมาหลอกหลอนไกลถึงที่นี่

เราขับรถออกจากไบรตันก่อนเจ็ดโมงเช้า วิทยุในรถยังคงมีแต่ข่าวประชามติ แต่ไม่มีข่าวไหนที่จะส่งสัญญาณไปในทางบวกเลย ค่าเงินปอนด์ตก หุ้นตก ประเทศสูญเงินไปหลายพันล้านภายในวันเดียว อัตราการตกของหุ้นและค่าเงินแย่กว่าในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจปี 2008 และมีแนวโน้มว่ายังจะตกต่ำลงไปเรื่อยๆ ไหนเมื่อวานใครบอกว่าตลาดจะปรับตัวภายในไม่กี่วัน

เราตัดสินใจหยุดพักที่จุดพักรถแถวเบอร์มิ่งแฮม แล้วบางอย่างก็เข้ามาสะกิดความรู้สึกของฉันในระหว่างที่เดินเข้าไปในตัวอาคารจุดพักรถ

ฉันรู้สึกไม่สะดวกใจ มันเป็นความรู้สึกเหมือนฉันกลายเป็นคนแปลกหน้า ในที่ๆ ไม่มีใครต้อนรับ แม้ว่าหลายคนที่โหวตออกไม่ได้เป็นคนเหยียดเชื้อชาติ และหลายคนไม่ได้โหวตออกเพื่อต้องการกำจัดคนต่างชาติอย่างฉัน แต่ก็เป็นที่รู้กันดีว่า หลายต่อหลายคนไม่ต้องการให้ต่างด้าวอย่างฉันมีที่ยืนในประเทศนี้อีกต่อไป

ฉันรู้สึกว่าสายตาหลายคู่จ้องมองมาที่ฉัน ปกติเวลาไปตามเมืองเล็กๆ ฉันจะชินกับการเป็นจุดเด่นอยู่แล้ว เพราะฉันรู้ตัวดีว่าผู้หญิงไทยอย่างฉันมี “แบรนด์” ติดตัว--นักขุดทองบ้างล่ะ โสเภณีบ้างล่ะ เมียเช่าบ้างล่ะ --ปกติฉันจะไม่แคร์ แคร์ไปก็เท่านั้น เราไปเปลี่ยนความคิดคนทุกคนไม่ได้ แต่ครั้งนี้มันต่างกัน ความรู้สึกที่ก่อตัวข้างในมันแปลกมาก ฉันรู้สึกเหมือนสายตาเหล่านี้ไม่ได้มองเพราะว่าแบรนด์เหล่านั้นอีกต่อไป แต่มองเพราะอยากจะบอกกับฉันว่า กลับไปซะ ที่นี่ไม่ต้อนรับพวกเธอ

พวกเราเดินทางมาถึงเวลส์ตอนบ่ายสอง พ่อกับแม่ของปีเตอร์นั่งรถไฟจากลิเวอร์พูลมาถึงก่อนแล้ว ฉันนั่งพักก่อนจะเช็คเฟซบุ๊ค ฉันเลื่อนหน้าฟีดไปเจอกับโพสต์ที่เพื่อนคนหนึ่งแชร์ เป็นโพสต์ที่รวบรวมเหตุการณ์ที่คนต่างชาติถูกคนอังกฤษฝ่ายขวาหัวรุนแรงตะโกนไล่ให้กลับประเทศ “กลับไปซะ พวกเราโหวตให้พวกแกออกไป” เพื่อนบ้านเขียนโน้ตขับไล่ให้คนโปแลนด์กลับประเทศ มีคนเขียนบนผนังห้องน้ำในโรงเรียนประถมบอกให้เด็กผู้หญิงคนหนึ่งกลับโรมาเนีย คนอังกฤษผิวดำโดนคนคุกคามบนทวิตเตอร์ ไล่ให้แพ็คกระเป๋ากลับประเทศ

สิ่งที่ฉันกลัวเกิดขึ้นจริงๆ โชคยังดีอยู่บ้างที่มันยังไม่เกิดกับตัวฉันเอง แต่ใครจะไปรู้

แม้ว่าบรรดานักชาตินิยมหัวรุนแรงเหล่านี้จะมีเพียงน้อยนิดเมื่อเทียบกับประชากรอังกฤษ และเหตุการณ์แบบนี้อาจจะเกิดขึ้นอยู่แล้วบ้างก่อนหน้า referendum แต่ผลโหวตออกจากอียู กลายมาเป็นเสมือนใบอนุญาตให้คนพวกนี้แสดงพฤติกรรมเหยียดเชื้อชาติได้อย่างง่ายดายและเปิดเผยขึ้น เพราะพวกเขาคิดว่า การโหวตออกแปลว่า “คนส่วนมาก” ในประเทศจะต้องเห็นด้วยกับการไล่ต่างชาติออกไป

อนิจจา คนเหล่านี้มัวแต่จมปลักอยู่กับความเกลียดชัง จนยังไม่รู้ตัวว่าชะตากรรมของตัวเองกำลังแขวนอยู่บนเส้นด้าย จากสถานการณ์อันสุดแสนระส่ำระสายของประเทศ

ข่าวในทีวียังเต็มไปด้วยเรื่องอียู โชคดีที่พ่อกับแม่ของสามีเห็นตรงกันว่าอังกฤษไม่ควรออกจากอียู ไม่อย่างนั้นฉันคงต้องกลายเป็นกรรมการห้ามมวย พวกเรานั่งดูข่าวพร้อมกับส่ายหัว กุมขมับและถอนหายใจเป็นระยะ นักการเมืองที่รณรงค์ให้โหวตออกเริ่มกลับคำที่เคยโฆษณาชวนเชื่อเอาไว้ หนึ่งในนั้นคือคำโฆษณาว่าจะนำเงินสามร้อยกว่าล้านที่อังกฤษจ่ายให้อียูทุกอาทิตย์มาพัฒนาหน่วยงานสุขภาพแห่งชาติ (NHS) วันนี้กลับมาบอกว่า จริงๆ แล้วไม่ได้หมายความว่าอย่างนั้น ส่วนคนที่โฆษณาชวนเชื่อว่าจะกำจัดชาวต่างชาติออกจากประเทศ ก็หันมาบอกว่าจริงๆ แล้วไม่ได้สัญญาอะไรนี่นะ เป็นประโยคบอกเล่าเฉยๆ

นักการเมืองที่รณรงค์ให้โหวตออกเหล่านี้ ไม่มีสักคนที่ออกมาชี้แจงกับประชาชนว่า แผนการขั้นต่อไปคืออะไร โดยเฉพาะบอริส จอห์นสัน ตัวตั้งตัวตีและคนที่ลงสมัครเป็นนายกและหัวหน้าพรรคคอนเซอร์เวทีฟแทนที่เดวิด ตอนรณรงค์บอริสบอกกับประชาชนว่า สิ่งที่ประชาชนจะได้จากการโหวตออก ก็คือจำนวนต่างด้าวที่ลดลง เงินที่จ่ายให้อียูกลับมาใช้ภายในประเทศ ความเป็นอิสระจากกฎหมายอียู และอื่นๆ อีกมากมาย โดยที่ไม่ต้องเสียอะไรเลย ไม่ต้องเสียความสัมพันธ์ทางการค้ากับประเทศในอียู ไม่ต้องเสียผลประโยชน์ที่ได้จากการสามารถค้าขายกับประเทศในอียูได้อย่างเสรี ไม่ต้องกลัวว่าโรงงานและธุรกิจประเทศอียูที่อยู่ในอังกฤษอาจจะต้องปิดลง ไม่ต้องกลัวว่าจะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ว่าจะมีคนตกงาน

ผลเรเฟอเรนดั้มออกมา บอริส จอห์นสัน ดูเหมือนจะจำอะไรไม่ค่อยได้

บรรยากาศความไม่แน่นอนยังคงดำเนินต่อไป ใครจะเป็นนายกฯคนต่อไป จะเกิดอะไรขึ้นกับความสัมพันธ์ระหว่างอังกฤษกับอียู จะเกิดอะไรกับธุรกิจและชาวอียูที่อาศัยในอังกฤษ ในทางกลับกัน จะเกิดอะไรขึ้นกับธุรกิจและชาวอังกฤษที่อาศัยในอียู วิกฤตเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นหรือไม่ จะรุนแรงแค่ไหน จะกระทบถึงกันทั่วโลกมั้ย สก็อตแลนด์จะวีโต้ผลโหวตหรือขอแยกตัวจากอังกฤษอีกครั้งไหม คนสามล้านกว่าคนที่ลงชื่อขอให้มีประชามติรอบที่สองจะสมหวังหรือไม่ ค่าเงินปอนด์จะกลับมาเหมือนเดิมเมื่อไหร่

คำถามมากมายที่ไม่มีใครตอบได้ นอกจากเวลา

..............................

ผู้เขียน : กมลชนก สุขใส อดีตผู้สื่อข่าวสายการเมืองและนักศึกษาฝึกงานที่หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ปัจจุบันเป็นพนักงานบัญชีในบริษัทที่ดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมด้านการเงิน อาศัยอยู่เมืองไบรตัน ทางตอนใต้ของประเทศอังกฤษ