บันทึกประวัติศาสตร์: อียูเรเฟอเรนดั้ม

บันทึกประวัติศาสตร์: อียูเรเฟอเรนดั้ม

กลางดึกของคืนวันพฤหัสบดีที่ 23 มิถุนายน 2559 สามีลุกออกจากเตียงทีท่ากระสับกระส่าย ฉันงัวเงียลืมตาขึ้นมา

ถามคำถามที่ตัวเองก็รู้คำตอบดีอยู่แล้ว “จะไปเช็คผลประชามติเหรอ?”

“ใช่” สามีตอบ

ฉันหลับตาลงอีกครั้งด้วยใจที่ปราศจากความกังวลใดๆ ทั้งสิ้น ผลโพลล์ตอนเย็นออกมาว่าเสียงโหวต Remain จะชนะเสียงโหวต Leave อยู่หลายช่วงตัว

ฉันตื่นเช้ามาพบกับประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของประเทศที่ฉันอาศัยอยู่เป็นเวลาเจ็ดกว่าปี สามีกำลังคุยโทรศัพท์กับเพื่อนสนิท สีหน้าท่าทางเป็นกังวลมาก แล้วโดยที่ไม่ต้องบอกก็รู้ว่า คนอยู่ปลายสายเองก็เคร่งเครียดไม่แพ้กัน

บรรยากาศของเช้าวันศุกร์ดูอึมครึมอย่างบอกไม่ถูก ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะสภาพอากาศที่มืดครึ้มอันเป็นเรื่องปกติของประเทศนี้ แต่ที่แน่ๆ คือผลประชามติได้ส่งคลื่นความช็อคปกคลุมไปทั่ว ระหว่างทางเดินไปทำงาน ฉันได้ยินผู้หญิงคนนึงคุยโทรศัพท์ด้วยน้ำเสียงกึ่งตะโกนกึ่งร้องไห้อย่างไม่อายคนที่เดินสวนไปมาว่า “ใช่ ชั้นรู้ว่าชนะกันแค่ไม่กี่เปอร์เซ็นต์ แต่สิ่งที่น่าเศร้าที่สุดก็คือ มีคนเยอะมากคิดว่าการออกมันคือเรื่องดี” ระหว่างขึ้นลิฟต์ไปที่โต๊ะทำงาน ผู้ชายข้างๆ ฉันในลิฟต์พึมพำแกมสบถกับตัวเองว่า “งี่เง่างี่เง่ากันที่สุด”

ชีวิตเหมือนจะดำเนินไปตามปกติ ฉันพยายามเร่งเคลียร์งานให้เสร็จก่อนที่จะหยุดไปฮอลิเดย์หนึ่งอาทิตย์ แต่มันยากเหลือเกินที่จะจดจ่อสมาธิไปที่งาน ทุกคนในแผนกพูดถึงผลประชามติและราคาหุ้นของบริษัทที่ตกลงมาต่ำที่สุดในรอบสามปี ประธานบริษัทส่งอีเมลถึงพนักงานทุกคน บอกว่าทางบอร์ดกำลังประเมินสถานการณ์และผลกระทบของการออกจากอียูที่จะเกิดกับบริษัท ผู้จัดการใหญ่ที่นั่งอยู่บนโต๊ะฝั่งตรงข้ามเอามือกุมขมับพร้อมบ่นกับทุกคนในทีมว่า “ชั้นผิดหวังว่ะ พวกยูผิดหวังกันมั้ย” สักพักเพื่อนคนหนึ่งเดินมาหาแล้วพูดสั้นๆ กับฉันว่า “We’re screwed” (เป็นแสลง ความหมายประมาณว่าพวกเราแย่แน่ๆ)

ไม่มีใครคิดฝันว่าผลประชามติจะออกมาว่าอังกฤษจะแยกตัวออกจากอียู แม้แต่คนที่ออกเสียงโหวตให้ออกอย่างเพื่อนในทีมที่นั่งข้างๆ ฉัน

“ชั้นโหวตออก ก็ไม่คิดว่าเสียงโหวตออกจะชนะนี่นา เฮ้ย คิดในแง่ดีสิ มันจะแย่แค่ช่วงสั้นๆ เท่านั้นแหละ แต่มันจะส่งผลดีต่อประเทศในระยะยาวนะ”โจล์พูดอย่างไม่เต็มเสียง

“โจล์ ไอ้ช่วงสั้นๆ ที่ยูว่าน่ะ ยูคิดบ้างมั้ยว่ามันจะยืดยาวไปนานแค่ไหน แล้วกว่าจะถึงตอนนั้น พวกเราไม่แย่กันไปหมดเหรอ” ผู้จัดการใหญ่สวนกลับอย่างหัวเสีย

แม้แต่นักการเมืองหัวโจกอย่างบอริส จอห์นสัน ที่เป็นตัวตั้งตัวตีแนะนำให้คนโหวตออก ก็ยังให้สัมภาษณ์แบบหน้าเจื่อนๆ แบบไม่มีความกระตือรือร้นอย่างช่วงก่อนหน้านี้ เพราะบอริสเองก็ช็อคและกังวลไม่แพ้กัน

ฉันพยายามทำตัวปกติ และคิดในแง่ดีที่สุด คนต่างด้าวนอกสหภาพยุโรปอย่างฉันไม่น่าจะได้รับผลกระทบอะไรมาก นอกเสียจากว่าจะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ นอกเสียจากว่าบริษัทจะตัดจำนวนพนักงานออก นอกเสียจากว่าแผนกฉันจะถูกยุบแล้วฉันต้องเสี่ยงตกงาน นอกเสียจากว่าราคาค่าครองชีพจะพุ่งตัวสูงขึ้นจากเดิมที่ก็สูงอยู่แล้ว นอกเสียจากว่าฉันและสามีจะไม่มีเงินจ่ายค่าบ้านและกลายเป็นคนไร้บ้านในที่สุด ไม่ว่าฉันจะพยายามคิดในแง่ดีสักเท่าไหร่ แต่ความคิดเหล่านี้ก็วนกลับมาอยู่ในหัวเรื่อยๆ แล้วคำพูดของเพื่อนคนนั้นก็ลอยมาอีก “We’re screwed”

วันทั้งวันเต็มไปด้วยข่าวและบทสนทนาเรื่อง Brexit ตามมาติดๆ ด้วยข่าวนายกฯเดวิดประกาศลาออก เพราะตัวเองรณรงค์ให้ประชาชนโหวต Remain ผลประชามติที่ออกมาตรงกันข้าม ทำให้เดวิดรู้สึกว่า คำพูดของตัวเองในฐานะนายกฯ นั้นไม่มีความหมายในสายตาของประชาชนอีกต่อไป การลาออกจึงเป็นหนทางที่ดีที่สุด เดวิดประกาศลาออกด้วยสีหน้าเศร้าโศก แต่ลึกๆ แล้วเดวิดอาจจะโล่งใจที่ไม่ต้องยุ่งวุ่นวายกับวิกฤตในครั้งนี้ก็เป็นได้

  คอลัมนิสต์คนหนึ่งของหนังสือพิมพ์เดอะการ์เดี้ยนเปรียบเปรยว่า สิ่งที่เกิดขึ้นมันเหมือนกับ เดวิด คาเมรอน เอาอนาคตของทั้งประเทศไปวางเป็นเบี้ยพนัน แล้วสุดท้าย โดยที่เดวิดเองก็คาดไม่ถึง เดวิดเสียพนัน

แน่นอนว่าการแยกออกจากสหภาพยุโรปครั้งนี้อาจจะไม่ใช่เรื่องเลวร้ายเสมอไป หลายเสียงบอกว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะนำมาในสิ่งที่ดีกว่า แต่ก็ไม่มีใครสามารถยืนยันได้ บรรยากาศโดยรวมขณะนี้ จึงตกอยู่ในสภาพแห่งสุญญากาศและความไม่แน่นอน และไอ้ความไม่แน่นอนเนี่ยแหละ ที่จะส่งผลร้ายต่อเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

...............................

หมายเหตุ:

กมลชนก สุขใส อดีตผู้สื่อข่าวสายการเมืองและนักศึกษาฝึกงานหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ปัจจุบันเป็นพนักงานบัญชีในบริษัทที่ดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมด้านการเงิน อาศัยอยู่เมืองไบรตัน ทางตอนใต้ของประเทศอังกฤษ