การสื่อสารเรื่องประชามติ:จาก Brexit ถึงร่างรัฐธรรมนูญ 2559

การสื่อสารเรื่องประชามติ:จาก Brexit ถึงร่างรัฐธรรมนูญ 2559

ผลการลงประชามติที่อังกฤษจบลงแล้วด้วยเสียงโหวต “ออก” ที่เอาชนะเสียงโหวด “คงอยู่”แบบฉิวเฉียดคือร้อยละ

51.9:48.1ส่งผลให้เกิดความระส่ำระสายไปทั่วโลก โดยเฉพาะในทางเศรษฐกิจที่ตลาดทุนต่างๆ ผันผวนอย่างหนัก จากกระแสความไม่แน่ใจในอนาคตแห่งสหภาพยุโรป (EU) ที่อาจไม่มีอังกฤษซึ่งมีฐานเศรษฐกิจใหญ่เป็นที่สองใน EUร่วมอยู่ด้วยอีกต่อไป

เป็นที่น่าสังเกตว่าประชาชนคนอังกฤษออกมาใช้สิทธิในการลงประชามติอย่างมากเป็นประวัติการณ์คือร้อยละ 72.2 ของประชากรที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด โดยผู้สูงอายุมีสัดส่วนสูงกว่าคนรุ่นใหม่ และกลุ่มนี้เองที่ส่งผลให้เสียงโหวตเอียงไปทาง “ออกมากกว่า คงอยู่” และที่น่าสนใจไม่แพ้กันก็คือ การสื่อสารเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวทั้งจากฝั่งที่เห็นด้วยกับการให้อังกฤษออกจากสมาชิกภาพสหภาพยุโรป (Vote leave) และไม่เห็นด้วยคือให้คงอยู่ต่อไป (remain) ซึ่งแพร่สะพัดจากทุกทิศทุกทาง ก่อนจะเกิดการจัดการประชามติจริง

กระบวนการทางการสื่อสารดังกล่าวแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดจาก สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมไทย ที่ซึ่งกำลังจะมีการจัดการลงประชามติเพื่อรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559ในเวลาอีกเพียงหนึ่งเดือนเศษ

ในประสบการณ์ของอังกฤษ คณะกรรมการการเลือกตั้งของอังกฤษได้จัดให้ผู้นำและกลุ่มตัวแทนของทั้งสองฝ่ายจัดตั้งคณะกรรมการรณรงค์เพื่อสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายของพวกเขาได้อย่างเสรี แถมยังจัดสรรงบประมาณให้ทั้งสองฝ่ายอย่างเท่าเทียมกัน และอนุญาตให้รณรงค์หาเงินบริจาคเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนกิจกรรมดังกล่าวที่มีค่าใช้จ่ายสูง เพราะต้องเสียเงินซื้อเวลาในสื่อวิทยุ โทรทัศน์ และหนังสือพิมพ์ ตลอดจน การจัดกิจกรรมสาธารณะต่างๆ และการส่งข้อมูลรายละเอียดที่ไปรษณีย์ไปยังผู้มีสิทธิออกเสียงทั้งมวล

ยิ่งไปกว่านั้น ในช่วงก่อนการจัดประชามติ ยังเปิดกว้างให้ผู้นำทางความคิดในสังคม ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง หรือผู้มีชื่อเสียงอื่นๆ ได้ออกมาแสดงจุดยืนต่อการลงประชามติที่กำลังจะเกิดขึ้นอย่างเปิดเผย ซึ่งเหล่าเซเลบที่ว่าก็รวมคนจากหลากหลายวงการไม่ว่าจะเป็น ดารานักร้องนักแสดง นักเขียน นักกีฬา ไปจนถึง นักวิทยาศาสตร์ ตัวอย่างชื่อเหล่าเซเลบที่น่าจะเป็นที่รู้จักในบ้านเราก็เช่น เซอร์ เอลตัน จอหน์ เจเค โรลลิ่ง เดวิด เบคแฮม และ สตีเฟน ฮอกกิ้ง

ในส่วนของการรณรงค์จากฝั่ง “โหวตออกพยายามสร้างวาทกรรมชาตินิยม โดยเน้นความภาคภูมิใจในความยิ่งใหญ่ของอังกฤษมาแต่อดีตกาล และโอกาสที่ความยิ่งใหญ่นั้นจะมลายหายไปหากยังคงอยู่กับ EU ต่อ อันสืบเนื่องมาจากภาระที่ต้องมาอุ้มประเทศอื่นๆที่ด้อยกว่าทางเศรษฐกิจ และการขาดอิสระในการการดำเนินนโยบายระดับประเทศ ไปจนถึงการที่รัฐบาลอังกฤษจะต้องมารับเลี้ยงดูประชากรที่อพยพย้ายถิ่นฐานมาจากประเทศอื่นๆที่กำลังประสบกับวิกฤติอย่างตุรกี

สำหรับส่วนของการรณรงค์ให้ “อยู่ต่อ” ก็เน้นไปในส่วนของผลเสียอันจะตามมาหากอังกฤษต้องออกจาก EU โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องความมั่นคงทางเศรษฐกิจและความปลอดภัยของประเทศ ตลอดจนประเด็นเรื่องของการร่วมรักษาสิ่งแวดล้อม และการมีคุณภาพชีวิตที่ดีอันสืบเนื่องจากกรอบนโยบายในระดับEU ที่เน้นไปในเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ผู้สังเกตการณ์และนักวิจารณ์หลายคนก็ตั้งข้อสังเกตว่าการรณรงค์ทางข้อมูลข่าวสารก่อนเหตุการณ์ Brexit นั้นค่อนข้างจะเต็มไปด้วยการโฆษณาชวนเชื่อ การแบ่งขั้วทางความคิดแบบสุดโต่ง การให้ข้อมูลแบบผิดๆ ตลอดจน การใช้ประทุษวาจาเพื่อสร้างความเกลียดชังและความกลัวฝ่ายตรงข้าม หรือผู้ที่ถูกสร้างภาพว่าจะเกี่ยวเนื่องกับนโยบายขงอฝ่ายตรงข้าม เช่นผู้ลี้ภัยและผู้อพยพย้ายถิ่นฐานจากยุโรปใต้และตะวันออกกลาง

สำหรับกรณีการสื่อสารระดับสาธารณะว่าการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 ในเมืองไทย ออกจะสะท้อนแนวทางการสื่อสารทางเดียวจากภาครัฐเป็นส่วนใหญ่ สื่อของรัฐทางวิทยุและโทรทัศน์ค่อนข้างจะนำเสนอเนื้อหาในเชิงบวกเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะในประเด็นการสร้างกลไกเพื่อป้องกันและจัดการกับคอร์รัปชัน แม้จะจบด้วยคำพูดปลายเปิดให้ไปออกเสียงรับหรือไม่รับ แต่เนื้อหาที่มีมาก่อนหน้าก็ค่อนข้างจะเป็นไปทางสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญมากกว่า แม้แต่ในสื่อที่เป็นเอกชนจำนวนมากก็เห็นแนวโน้มการนำเสนอในเรื่องนี้ไปในทางเดียวกัน

กลไกสำคัญที่น่าจะส่งผลต่อการสื่อสารสาธารณะในเรื่องดังกล่าว ให้เป็นไปในทิศทางเดียวเห็นจะได้แก่พระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2559 เพื่อรับการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 พ.ร.บ. ประชามติ มี 66 มาตรา ประกอบด้วยเนื้อหาเกี่ยวกับการกำหนดผู้มีอำนาจหน้าที่เผยแพร่และประชาสัมพันธ์เพื่อให้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญให้แก่ประชาชนทราบ คุณสมบัติผู้มีสิทธิ์ออกเสียง การใช้สิทธิ์ออกเสียงนอกพื้นที่ ลักษณะบัตรเสีย การค้านผลประชามติ และการทำผิดกฎหมาย เช่น การฉีกบัตรลงประชามติ การเล่นพนัน การจำหน่ายสุรา การจัดหารถรับส่งผู้ไปลงประชามติโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย

สำหรับประเด็นเกี่ยวกับการสื่อสารสาธารณะ กำหนดไว้ในมาตรา 61 โดยระบุว่า

“ผู้ใดดำเนินการเผยแพร่ ข้อความ ภาพ เสียง ในสื่อหนังสื่อพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือในช่องทางอื่นใดที่ผิดไปจากข้อเท็จจริงหรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียง ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำการก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย” มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท ทั้งนี้ ศาลอาจสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดไม่เกิน 5 ปี

ในกรณีเป็นการกระทําความผิดของคณะบุคคลตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่ 1 ปีถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท ศาลอาจสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนด 10 ปี

นอกจากนี้ยังมีมาตรา 63 ระบุว่า

“ผู้ใดเผยแพร่ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการออกเสียงในระหว่างเวลา 7 วันก่อนวันออกเสียง จนถึงเวลาสิ้นสุดการออกเสียง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับไม่เกินหกพันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ”

หลัง พ.ร.บ.ประชามติ ประกาศใช้ได้ไม่ถึง 1 สัปดาห์ มีผู้ถูกแจ้งความดำเนินคดีทันที โดยนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง เป็นผู้แจ้งความพร้อมส่งมอบหลักฐานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วยตนเองในช่วงเช้าของวันที่ 27 เมษายน 2559 ให้ดำเนินคดีกับผู้โพสต์ข้อความซึ่งตนเห็นว่า มีลักษณะที่ขัดกับมาตรา 61

ต่อมาวันที่ 29 เมษายน ที่ประชุม กกต. มีมติเห็นชอบร่างประกาศ กกต. ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการในการแสดงความคิดเห็นในการออกเสียงประชามติ มีข้อกำหนด สิ่งที่ประชาชนทำได้ 6 ข้อ ทำไม่ได้ 8 ข้อตามตาราง แม้เราจะไม่สามารถคาดหวังให้สังคมในยุค “เว้นวรรคประชาธิปไตย” ในปัจจุบันมีเสรีภาพในการแสดงออกได้เหมือนอังกฤษแต่รัฐธรรมนูญคือกฎหมายสำคัญและเป็นกติกาพื้นฐานที่จะกำหนดโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างทุกภาคส่วนในสังคมไปอีกยาวนาน การจะตัดสินใจรับหรือไม่รับจึงควรต้องมาจากการได้รับข้อมูลอย่างรอบด้าน เพื่อให้การตัดสินใจอยู่บนฐานของความรู้ความเข้าใจมากกว่าความเชื่อหรืออคติที่อาจจะมีอยู่เดิม

แต่ด้วยระบบที่ควบคุมการสื่อสารสาธารณะที่เป็นอยู่ ผู้คนอาจตั้งคำถามเกี่ยวกับความไม่สมดุลของทิศทางข่าวสารที่ปรากฏและอาจตัดสินใจไปตามความคิดความเชื่อมากกว่าเหตุผลบนฐานของข้อมูลก็ได้ เข้าทำนองที่ฝรั่งเรียกว่า backfire ซึ่งแปลว่า ผลที่ตามมาอาจเป็นไปในทางตรงกันข้ามกับที่ตั้งใจและทุ่มแทสรรพกำลังลงไป