ในวันที่โลกไม่เหมือนเดิม กับ 'อลิซ' ในโพรงกระต่าย

ในวันที่โลกไม่เหมือนเดิม  กับ 'อลิซ' ในโพรงกระต่าย

บิล เกตส์ ผู้ก่อตั้งไมโครซอฟต์ ยกย่อง เรย์มอนด์ เคิร์ซวีล ว่า คือผู้ทำนายอนาคตคนสำคัญที่สุดของโลก

เพราะก่อนหน้านี้ได้เคยทำนายเหตุการณ์ล่วงหน้าอย่างแม่นยำหลายเรื่อง เช่น อินเทอร์เน็ตจะกลายเป็นปัจจัยสำคัญในชีวิตประจำวัน สหภาพโซเวียตจะล่มสลายเนื่องจากการขยายตัวของเทคโนโลยีสื่อสาร เช่นโทรศัพท์เคลื่อนที่และโทรสารไปลดทอนการควบคุมจากส่วนกลาง สมองกลจะเล่นหมากรุกชนะมนุษย์ได้ก่อนปี ค.ศ. 2000 เป็นต้น

สำหรับโลกอนาคต เคิร์ซวีลได้ทำนายไว้ว่า ภายใน ค.ศ. 2045 มนุษย์จะสามารถอัพโหลดข้อมูลจากสมองไปเก็บไว้ในคอมพิวเตอร์ และหลังจากนั้นจะเชื่อมต่อสมองกลเข้ากับร่างกายคนได้จริงๆ

สำหรับผู้ที่ทำงานด้าน HR คงอยากทราบว่า อนาคตตามการคาดการณ์ของ เคิร์ซวีล ซึ่งปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) จะเข้ามาแทนที่มนุษย์ หรือมนุษย์จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของปัญญาประดิษฐ์ งานบริหารทรัพยากรบุคคล จะยังคงมีอยู่อีกหรือไม่... หรือจะเปลี่ยนไปอย่างไร... ในเมื่อยังไม่มีนักอนาคตศึกษาท่านใดให้คำตอบในเรื่องนี้ไว้

เราลองมาคิดกันเล่นๆ ว่า มีผู้บริหาร HR สักคนสามารถเดินทางล่วงหน้าไปในอนาคต เช่นหลุดเข้าไปในโลกจินตนาการใต้โพรงกระต่ายในวรรณกรรมอมตะของ เลวิส คาร์รอล (Lewis Carroll) และร่วมผจญภัยไปกับ หนูน้อยอลิซในดินแดนมหัศจรรย์ (Alice's Adventures in Wonderland) และสามารถปีนกลับขึ้นมาจากโพรงกระต่าย เพื่อเล่าเรื่องต่างๆ ที่พบเจอ ให้คนทำงาน HR ได้เตรียมพร้อมรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นล่วงหน้า

โลกใต้โพรงกระต่ายที่อลิซตกลงไป มีสิ่งอัศจรรย์อาศัยอยู่มากมาย เช่น กระต่ายขาวสวมเสื้อกั้กที่เร่งรีบ ชอบดูนาฬิกาอยู่ตลอดเวลา แมวเซสเชียร์ที่หายตัวได้ ช่างทำหมวก กระต่ายมาช และหนูดอร์เมาส์ กับการจัดงานเลี้ยงน้ำชาที่สับสนอลหม่าน หนอนสีฟ้าแอ๊บโซเล็มบนเห็ดวิเศษ พระราชาขี้ตกใจ และราชินีโพธิ์แดงเจ้าอารมณ์ รวมทั้งน้ำยาวิเศษที่ดื่มแล้วตัวสูงหรือเตี้ยได้ เค้กวิเศษกินแล้วร่างกายใหญ่โตหรือหดเล็กลง และเรื่องจบลงตรงขณะที่อลิซกำลังหนีการตามล่าของทหารไพ่ ได้ตื่นขึ้นมาจากความฝันเสียก่อน

HR ที่กลับขึ้นมาจากโลกใต้โพรงกระต่าย พร้อมกับการตื่นจากความฝันของอลิซ คงพบว่าเรื่องที่ประสบในดินแดนจินตนาการ มีหลายเรื่อง อาจจะกลายเป็นจริงได้ในโลกแห่งอนาคต เราลองมาไล่ดูกันทีละเรื่อง

มหัศจรรย์เรื่องแรก คือ แมวเซสเชียร์ที่หายตัวได้ และปรับเปลี่ยนร่างได้ตลอดเวลา เซสเชียร์พูดกับอลิซ ว่า “ฉันไม่ได้บ้า แค่ความจริงของฉัน ต่างจากของเธอเท่านั้น (I’am not crazy. My reality is just different from you)”

ในอีกราว 30 ปีข้างหน้า เคิร์ซวีล เชื่อว่า การมีชิ้นส่วนของร่างกายที่ปะปนกันระหว่างชิ้นส่วนที่เป็นเครื่องจักร และชิ้นส่วนชีวภาพ จะเป็นเรื่องปรกติ ความคิดและสติปัญญาของมนุษย์ สามารถอัพโหลดเข้าไปไว้ในชิปที่ปลูกถ่ายไว้ในสมอง เราจะมีร่างกายเสมือนอยู่ในสังคมเสมือนจริง ที่แยกไม่ออกจากความเป็นจริง นั่นคืออาจมีความจริงมากกว่าหนึ่งเดียว หรือไม่มีความจริงเลย ซึ่งก็เป็นไปตามที่ แมวเซสเชียร์บอก

ตัวอย่างที่เริ่มจะเกิดขึ้นแล้ว คือ บริษัท BMW ในอังกฤษ ทดลองใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ เข้ามาทำหน้าที่แทนมนุษย์ ในการตอบคำถามของลูกค้า ที่โทรเข้ามาสอบถามเกี่ยวกับรถไฟฟ้ารุ่นใหม่ คำตอบที่ลูกค้าได้รับราวกับกำลังคุยกับผู้เชี่ยวชาญคนหนึ่ง แต่จริงๆ แล้วเป็นระบบปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถทำงานต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง และตอบโต้กับลูกค้าได้ในเวลาเดียวกันเป็นพันๆ คน

ดมิตทรี แอ็กเซนอฟ (Dmitry Aksenov) ผู้พัฒนาปัญญาประดิษฐ์ "เดอะ เบรน" เชื่อว่า ภายใน 5 ปีนับจากนี้ สมองกลที่คิดเป็น ตอบสนองได้ สามารถตีความบริบทของคำถาม อารมณ์ความรู้สึก และรวมไปถึงแสดงอารมณ์ขันได้ด้วย แทบจะแยกไม่ออกว่าเป็นมนุษย์หรือปัญญาประดิษฐ์ จะเข้ามาทำงานอันน่าเบื่อมากมายหลายอย่างที่มนุษย์ทำอยู่ทุกวันนี้ ปัญญาประดิษฐ์กำลังจะเริ่มแย่งงานไปจากคนจริงๆ ในโลกที่ไม่เหมือนเดิม
มหัศจรรย์เรื่องที่สอง คือ กระต่ายขาวสวมเสื้อกั้กที่เร่งรีบ เมื่ออลิซถามกระต่ายขาวว่า “ตลอดไปนะนานเท่าไหร่ (How long is forever?)” กระต่ายขาวตอบว่า “บางครั้ง ก็แค่วินาทีเดียว (Sometimes, just one second)” สื่อดิจิตอลได้สร้างโลกที่ไม่เหมือนเดิม สถานที่ทางกายภาพ จะหมดความสำคัญลง ข้อจำกัดด้านระยะทางจะหายไปอย่างสิ้นเชิง เกิดสิ่งที่เรียกว่า ความตายของระยะทาง (The Death of Distance) ในอนาคตเทคโนโลยีอย่างโฮโลแกรม (Hologram) จะถูกนำมาใช้ในการสื่อสาร เสมือนกับว่ากำลังทำงานอยู่ด้วยกัน ไม่มีความต่างระหว่างเวลา บนระยะทางที่ห่างกันอีกต่อไป

ตัวอย่างเช่น เมื่อ ค.ศ. 2008 CNN ได้ทดลองใช้เทคโนโลยีโฮโลแกรม รายงานข่าวการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ จนกลายเป็นที่ฮือฮาไปทั่วโลก หรือในงานคอนเสิร์ตหลายงานที่ใช้เทคโนโลยีโฮโลแกรมจำลองบุคคลชื่อดังที่ล่วงลับไปตลอดการณ์ (Forever) ให้มาปรากฏตัวบนเวทีอีกครั้ง
มหัศจรรย์เรื่องที่สาม คือน้ำยาวิเศษที่ดื่มแล้วตัวสูงหรือเตี้ยได้ เค้กวิเศษกินแล้วร่างกายใหญ่โตหรือหดเล็กลง ในทุกวันนี้ดูเหมือนเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน จะกลายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นบ่อยและมากขึ้น “นัชชิม ตาลีบ” (Nassim Taleb) จับประเด็นดังกล่าว เขียนเป็นหนังสือขายดีชื่อ The Black Swan ที่อธิบายถึงสิ่งที่ไม่เคยเห็น เช่น หงส์สีดำ หรือสิ่งที่อยู่นอกเหนือการคาดคะเนทั้งปวง ไม่ได้แปลว่าจะไม่มีโอกาสเกิดขึ้น แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวง เช่น การเกิดสึนามิระดับ 9 ในทะเลอันดามัน เหตุการณ์ 9/11 เศรษฐกิจการเงินของโลกผันผวนครั้งใหญ่ เพื่อลดผลกระทบจากเหตุการณ์ Black Swan

องค์กรต้องออกแบบโครงสร้างให้มีความยืดหยุ่น ไม่ต้องมีลำดับชั้นในการทำงาน สามารถปรับตัวได้รวดเร็ว ธุรกิจ Start Up หลายแห่งเริ่มนำน้ำยาวิเศษมาทำให้โครงสร้างองค์กรมีความยืดหยุ่นสูง สิ่งนั้นคือ Applications หรือ Website สำหรับประสานร่วมมือการทำงานในองค์กรในลักษณะ Social Workflow ซึ่งสามารถเชื่อมต่อใช้งานได้กับทุกอุปกรณ์ (Any Device) เกิดเป็นการทำงานแบบไร้ลำดับชั้น
บริษัท Zappos ที่ขายรองเท้าทางออนไลน์มีพนักงาน 1,500 คน ได้จัดโครงสร้างองค์กรแบบไร้ลำดับชั้น (Holacracy Organization) ไม่มีการแบ่งฝ่ายความรับผิดชอบ พนักงานทุกคนมีลำดับชั้นเท่ากัน ทำให้สามารถจ้าง “พนักงานมืออาชีพแบบไร้สังกัด (Freelancer)” ที่เชื่อมั่นในทักษะเฉพาะด้านที่ตนเองถนัด ต้องการแสดงความคิดและสร้างผลงานเต็มที่ ไม่ชอบระเบียบกฎเกณฑ์ เข้ามาทำงานแบบไม่ต้องการตำแหน่ง และไม่ยึดตัวเองเข้ากับโครงสร้างองค์กร และสามารถได้รับผลตอบแทนมากกว่าการเป็นพนักงานประจำ ในองค์กรที่มีโครงสร้างแบบลำดับชั้น อนาคตในโลกที่ไม่เหมือนเดิม จะมีองค์กรไร้ลำดับชั้นมากขึ้น

มหัศจรรย์เรื่องที่สี่ คือ หนอนสีฟ้าแอ๊บโซเล็มบนเห็ดวิเศษ เจ้าหนอนถามอลิซว่าเธอรู้จักตัวเองไหม อลิซ ตอบว่า “เมื่อเช้า ฉันคิดว่ารู้นะว่าตัวเองเป็นใคร แต่หลังจากนั้น ฉันก็เปลี่ยนแปลงไปหลายครั้ง (I Knew who I was this morniung but I’ve changed a few time since then”
โลกที่ไม่เหมือนเดิมในอนาคต กำลังสร้างคนรุ่นใหม่ซึ่ง Google และ Nielsen เรียกว่า Gen C (Connected-Computerized-Community-oriented) ตามพฤติกรรมที่เด่นชัด จากการใช้โทรศัพท์มือถือ อินเทอร์เน็ต และโซเชียลเน็ตเวิร์ก เชื่อมต่อทุกอุปกรณ์ (Internet of Things) ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคข่าวสารอยู่ตลอดเวลา ความสนใจไม่อยู่นิ่ง

แต่คน Gen C กลับขาดการให้เวลากับเรื่องที่สร้างความหมายให้ชีวิต แม้พฤติกรรมจะปรับเปลี่ยนเร็วตามทักษะการใช้เทคโนโลยี แต่อัตลักษณ์มีความคล้ายกันมากขึ้นจนเป็นสากล และสูญเสียวัฒนธรรมดั้งเดิม ไม่รู้ว่าตนเองเป็นใคร แตกต่างจากคนอื่นอย่างไร เมื่อชีวิตส่วนใหญ่เชื่อมต่ออยู่ในโลกไซเบอร์

การผจญภัยของอลิซในดินแดนมหัศจรรย์ เป็นวรรณกรรมคลาสสิกที่แฝงปรัชญาชวนคิด แม้จะเขียนมานานถึง 150 ปี แต่เนื้อเรื่องดูจะก้าวล้ำสมัยไปมาก สามารถนำมาใช้อธิบายปรากฏการณ์ในอนาคตได้ดี
HR จะอยู่รอด อยู่ต่อไป และอยู่ต่อเนื่องได้ ต้องปรับตัวเช่นเดียวกับเจ้าหนอนสีฟ้าแอ๊บโซเล็ม ที่ท้ายสุดในภาคต่อ ได้กลายร่างเป็นผีเสื้อ โบยบินไปผจญภัยในโลกนอกโพรงกระต่ายกับอลิซ