‘แม็คโคร พรูเด็นเชียล’ เสียงจาก..ไอเอ็มเอฟ!

‘แม็คโคร พรูเด็นเชียล’ เสียงจาก..ไอเอ็มเอฟ!

สัปดาห์ก่อน ธนาคารแห่งประเทศไทย เผยแพร่ “ผลประเมิน”

 ภาวะเศรษฐกิจไทยประจำปี 2559 โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจหลายเรื่อง

ไอเอ็มเอฟ มองว่าเศรษฐกิจไทยสามารถ เผชิญความท้าทาย จากทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศได้ มีสถาบันดูแลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง ฐานะต่างประเทศอยู่ในเกณฑ์ดี จากเงินสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ระดับสูง หนี้ต่างประเทศต่ำ

ไอเอ็มเอฟ ระบุด้วยว่า นโยบายการเงินที่ผ่อนปรนในปัจจุบันมีความเหมาะสม ระยะต่อไปแม้จะผ่อนคลายเพิ่มเติมได้ แต่ควรคำนึงถึงการ รักษาสมดุลระหว่าง การเติบโตของเศรษฐกิจกับ การดูแลเสถียรภาพการเงิน พร้อมชมเชยว่า นโยบายการเงินของไทยมีมาตรฐานความโปร่งใสสูง

ประเด็นที่ ไอเอ็มเอฟ เสนอเพิ่มเติม คือ สนับสนุนให้ใช้มาตรการ แม็คโคร พรูเด็นเชียล (Macroprudential) หรือ การกำกับดูแลผ่านระบบสถาบันการเงิน ที่เข้มงวดขึ้น พร้อมทั้งสนับสนุนความพยายามของภาครัฐที่เพิ่มความเข้มงวดการกำกับดูแลสถาบันการเงินเฉพาะกิจ(เอสเอฟไอ) รวมทั้งประสานงานอย่างใกล้ชิดระหว่างหน่วยงานกำกับต่างๆ ในการพัฒนากรอบการดำเนินมาตรการ แมคโครพรูเดนเชียล รวมถึงปรับปรุงกลไกป้องกันและแก้ไขวิกฤต

นอกจากนี้ ไอเอ็มเอฟ ยังย้ำให้ทางการ เฝ้าดูแล ความเสี่ยงเชิงระบบที่อาจเกิดขึ้นจากความเชื่อมโยงของกลุ่มธุรกิจการเงิน และหนี้ครัวเรือนที่อยู่ระดับสูง

เท่าที่อ่านรายงานของ ไอเอ็มเอฟ ครั้งนี้ ดูเหมือนจะ พุ่งเป้า ไปที่เรื่อง แม็คโครพรูเด็นเชียล เป็นพิเศษ ..อาจเพราะไอเอ็มเอฟมองว่า เศรษฐกิจไทยมีความจำเป็นที่ต้องใช้ดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำไปอีกระยะ หรืออาจจะ “ต่ำกว่านี้” ได้อีก

เพียงแต่ไอเอ็มเอฟคงห่วงว่า ดอกเบี้ยที่ต่ำ จะยิ่งสร้างความเสี่ยงด้านเสถียรภาพการเงิน ..การนำแม็คโครพรูเด็นเชียลมาใช้ร่วม จะยิ่งทำให้นโยบายการเงินมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ความจริงแล้ว “แบงก์ชาติ” เคยประกาศไว้นานแล้วว่า จะนำมาตรการ “แม็คโครพรูเดนเชียล” มาใช้ในการทำนโยบายที่มากขึ้น ในอดีตก็เคยใช้ไปบ้าง แต่ไม่บ่อยนัก ที่เห็นชัดๆ คือ มาตรการ แอลทีวี (Loan to Value) หรือ การกำหนดอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน สำหรับผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์

มาตรการนี้ออกมาในช่วงที่ แบงก์ชาติ ห่วงว่าจะเกิด ฟองสบู่ ในภาคอสังหาริมทรัพย์ 

..แต่หลังมาตรการนี้ออกมา ผมยังไม่เห็นมาตรการไหนที่เป็นลักษณะแมคโครพรูเดนเชียลเลย

ส่วนหนึ่งอาจเพราะกลไกการกำกับดูแลของ “แบงก์ชาติ” คุมได้เฉพาะ “แบงก์พาณิชย์” ขณะที่ “แบงก์รัฐ” แม้ล่าสุดจะรับโอนมาอยู่ภายใต้การดูแล แต่การ “สั่งการ” เชิงนโยบายยังไม่สามารถทำได้เต็มที่

อีกทั้งเวลานี้ นอนแบงก์ บางประเภทเริ่มมีบทบาทกับภาคการเงินมากขึ้น ที่เห็นชัดๆ คือ สหกรณ์ออมทรัพย์ ซึ่งทำได้ทั้งการ รับฝากเงิน และ ปล่อยกู้ ขณะที่แบงก์ชาติไม่มี อำนาจ เข้าไปกำกับดูแล

ดังนั้นถ้าแบงก์ชาตินำเครื่องมือ แม็คโครพรูเด็นเชียลมาใช้ ก็คุมได้เฉพาะกับ แบงก์พาณิชย์ ขณะที่ แบงก์รัฐ ยังพอจะขอความร่วมมือได้บ้าง แต่สหกรณ์ออมทรัพย์นี่ เรียกว่า เอื้อมไม่ถึงเลย

อาจเพราะเหตุนี้ ทำให้ “แบงก์ชาติ” ลังเลที่จะนำเครื่องมือ “แม็คโครพรูเด็นเชียล” มาใช้ เพราะนอกจากประสิทธิผลไม่เต็มที่ 100% แล้ว ยังอาจเกิดการ “ลักลั่น” ในระบบการเงินด้วย

ทว่า.. ข่าวล่าสุดที่ กระทรวงการคลัง เตรียมดึงสหกรณ์ออมทรัพย์มาอยู่ภายใต้การดูแล พร้อมทั้งตั้งหน่วยงานกลางขึ้นมาใหม่ เพื่อทำหน้าที่ กำกับโดยเฉพาะ หากทำได้จริง เชื่อว่าในอนาคตเราคงเห็นบทบาทที่สำคัญของมาตรการ แม็คโครพรูเด็นเชียลที่มากขึ้น ..แต่จะออกมาในรูปใดเป็นเรื่องที่ต้องติดตามครับ!