Brexit และนัยต่อไทย

Brexit และนัยต่อไทย

สัปดาห์นี้จะเป็นสัปดาห์แห่งการตัดสินใจของชนชาวอังกฤษ ที่ในเวลาอีกไม่กี่วัน จะต้องเข้าสู่การประชามติ

เพื่อตอบคำถามสำคัญที่สุดในรอบ 40 ปีที่ผ่านมา คือ “จะอยู่ต่อ หรือจะไปจากสหภาพยุโรป” ซึ่งถ้าไป ก็จะเป็นจุดเริ่มต้นของความปั่นป่วนรอบใหม่ของยุโรปที่จะส่งผลกระทบถึงทุกคน

อังกฤษมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ประเทศในยุโรปต่างเริ่มเห็นความอ่อนแอของตนในเวทีโลก ซึ่งขณะนั้นมียักษ์ใหญ่คือสหรัฐยึดครองเวที ทำตัวเป็นพี่เบิ้ม คอยกำหนดทิศทางสำคัญต่างๆ

ด้วยเหตุนี้ จึงไม่น่าแปลกใจ ที่เราได้เห็นประเทศต่างๆ ในยุโรป พยายามร่วมกลุ่มกันเพื่อสร้างอำนาจต่อรองในเวทีโลกในด้านต่างๆ กับสหรัฐ โดยในปี 2500 มี 6 ประเทศในยุโรป คือ เยอรมันตะวันตก ฝรั่งเศส อิตาลี เบลเยี่ยม ลักซ์เซมเบิร์ก และเนเธอร์แลนด์ ได้ลงนามภายใต้สนธิสัญญาโรม เพื่อจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจยุโรปขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นของสหภาพยุโรปที่เรารู้จักกันในทุกวันนี้

สำหรับอังกฤษนั้น ไม่ได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของผู้ก่อตั้งประชาคมเศรษฐกิจยุโรป จนกระทั่งสี่ปีให้หลัง หรือปี 2504 ได้ตัดสินใจสมัครขอเข้าเป็นสมาชิกของกลุ่มดังกล่าว แต่ฝรั่งเศสได้ใช้สิทธิวีโต้ไม่ให้อังกฤษเข้าร่วมด้วย (บนพื้นฐานว่า นโยบายไม่สอดคล้อง ไม่น่าจะไปด้วยกันได้) จนกระทั่งถึงปี 2516 ที่ความพยายามดังกล่าวของรัฐบาลอังกฤษได้ประสบความสำเร็จ ได้รับการตอบรับให้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมเศรษฐกิจหรือตลาดร่วม (Common Market) ยุโรปในที่สุด

แต่ใน 1 ปีให้หลัง ครั้นเมื่อมีการเปลี่ยนขั้วการเมืองของรัฐบาลอังกฤษ จากความกังวลใจว่าการเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมเศรษฐกิจยุโรปนั้น จะนำมาซึ่งปัญหาทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับนโยบายราคาสินค้าเกษตร (ที่ราคาต่างกันมาก) ตลอดจนนำไปสู่การสูญเสียอิสรภาพ ในการกำหนดนโยบายต่างๆ รวมถึงถูกจำกัดกรอบการให้สวัสดิการเพื่อดูแลประชาชน รัฐบาลใหม่จึงได้เปิดโอกาสให้มีการลงประชามติในปี 2518 เพื่อให้ประชาชนตัดสินใจด้วยตนเองว่า “จะอยู่กับตลาดร่วมของยุโรปต่อไปหรือไม่” ซึ่งเป็นการลงประชามติทั่วประเทศครั้งแรกของอังกฤษ ที่สุดท้ายแล้ว 67% ลงคะแนนเลือกที่จะอยู่ร่วมกับยุโรปต่อไป

ที่น่าสนใจที่สุดก็คือ 40 ปีให้หลัง คำถามดังกล่าวได้หวนกลับมา เพื่อให้ประชาชนลงประชามติอีกครั้งหนึ่ง แต่รอบนี้ สถานการณ์ต่างจากอดีตเป็นอย่างมาก เพราะสิ่งที่คนอังกฤษเคยกังวลใจ ทำให้ไม่อยากเข้าเป็นส่วนหนึ่งของยุโรปเมื่อครั้งนั้น ได้เกิดขึ้นเป็นจริง แล้วหลายต่อหลายอย่าง เช่น

การอพยพถิ่นฐานเข้าประเทศ เนื่องจากการเคลื่อนไหวอย่างเสรีของคนเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของสหภาพยุโรป โดยคนในสหภาพมีสิทธิที่อยู่และทำงานที่ไหนก็ได้ ประตูเมืองของอังกฤษจึงต้องเปิดค้างไว้ตลอดเวลา ทำให้มีคนอพยพย้ายเข้าไปทำงานและอาศัยอยู่ในอังกฤษเพิ่มขึ้นสุทธิถึง 3.3 แสนคนในปีล่าสุด ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ นำมาซึ่งปัญหาต่างๆ อาทิ แรงกดดันต่อค่าจ้างแรงงาน ระบบสวัสดิการสังคม ไม่ว่าจะเป็นบ้าน ที่อยู่อาศัย โรงเรียน หรือโรงพยาบาล ตลอดจนเงินสวัสดิการต่างๆ ที่อังกฤษต้องจ่ายให้กับคนที่อพยพเข้ามาเหล่านี้

การสูญเสียอำนาจในการกำหนดกฎหมายและระเบียบต่างๆ ที่อังกฤษต้องดำเนินการผ่านกฎหมายและระเบียบต่างๆ ตามที่สหภาพยุโรปกำหนดมา โดยช่วงที่ผ่านมา กฎหมายและระเบียบของอังกฤษจำนวนมาก ได้ถูกกำหนดมาจากนโยบายส่วนกลางของสหภาพยุโรป ที่คนกลุ่มหนึ่ง (ซึ่งไม่ได้รับการเลือกตั้งมาจากประชาชน) ผลิตกฎหมายและระเบียบออกมาบังคับใช้ ปีหนึ่งมีเป็นพันๆ เรื่อง กับประเทศสมาชิก ครอบคลุมทุกภาคส่วนจากการเกษตร การประมง อุตสาหกรรม การพาณิชย์ และสังคม อีกทั้งอังกฤษยังไม่สามารถเจรจาการค้าในนามของตนเอง

ภาระต่างๆ จากการเป็นสมาชิก ที่ต้องแบกรับร่วมกัน ที่อังกฤษต้องจ่ายให้กับส่วนกลาง ซึ่งความจริงแล้ว ในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลอังกฤษก็ได้ต่อต้านนโยบายสำคัญหลายอย่างของสหภาพยุโรป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการไม่ยอมเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของเงินยูโร หรือวีซ่าเชงเก็น (Visa Schengen) ที่วีซ่าเดียวสามารถใช้เข้าออกประเทศต่างๆ ในยุโรปได้อย่างสะดวกสบาย

แต่ยิ่งสหภาพยุโรปพยายามที่จะหลอมรวมเข้าเป็นหนึ่งเดียวกันทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองมากขึ้นเท่าไร มีนโยบายเดียวกันมากขึ้นเท่าไร แรงกดดันต่ออังกฤษ และกลุ่มคนอังกฤษที่ต้องการจะออกจากสหภาพยุโรปก็ยิ่งมีมากขึ้นไปเป็นเงาตามตัว

ประเด็นเหล่านี้จึงได้กลายเป็นประเด็นที่กลุ่มขับเคลื่อนให้อังกฤษออกจากยุโรป ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม Leave.EU หรือ Better Off Out ได้หยิบยกขึ้นมาในการหาเสียง

แล้วจะเกิดอะไรขึ้น

ขณะนี้ ยังคงคาดการณ์ได้ยากว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร แม้การสำรวจคะแนนเสียงครั้งล่าสุดจะชี้ว่า คะแนนเสียงของฝั่งออกจากสหภาพยุโรปจะเริ่มนำแล้วก็ตาม แต่ทุกอย่างยังสามารถพลิกผันได้เสมอ จึงกล่าวได้ว่า สองสามวันก่อนวันที่ 23 มิ.ย.นี้จะเป็นจุดหักเหที่สำคัญ ที่ต้องกลั้นใจรอ

ถ้าอังกฤษเลือกที่จะลาจากไป ปัญหาความผันผวนต่างๆ ก็จะตามมา

ในระยะสั้น เนื่องจากแนวโน้มของผลการลงประชามติไม่ชัดในช่วงที่ผ่านมา การปรับตัวหลังประชามติของตลาดการเงินโลกจะมีนัยพอสมควร โดยเฉพาะค่าเงินปอนด์ที่อ่อนค่าลงต่อเนื่องจากประมาณ 1.52 ปอนด์/ดอลลาร์ ในช่วงปลายปีที่แล้ว (ก่อนออกกฎหมายประชามติ) มาที่ 1.42 ปอนด์/ดอลลาร์ ในปัจจุบัน อาจอ่อนค่าลงเพิ่มเติม และจะกระทบต่อไปยังเงินยูโร นอกจากนี้ ราคาสินทรัพย์ต่างๆ เช่น ราคาทองคำที่กำลังปรับตัวเพิ่มขึ้น (เนื่องจากเป็น safe haven) ดัชนีหุ้นของอังกฤษ (FTSE 100) ซึ่งลดลงจาก 6,400 จุดเมื่อปลายปีที่แล้ว ลงมาที่ 6,020 จุด ในปัจจุบัน จะได้รับผลกระทบเพิ่มเติม และอาจจะส่งผลมายังตลาดการเงินประเทศอื่นๆ รวมถึงไทยด้วยในช่วง 1-2 สัปดาห์แรก

ในระยะยาว ผลกระทบที่เกิดขึ้นในระยะยาวนั้น จะมีความกว้างไกลไปยิ่งกว่าผลต่อตลาดการเงินในระยะสั้น โดยอังกฤษมีเวลาอีกประมาณ 2 ปี ที่จะดำเนินการออกจากสหภาพยุโรปตามผลของการประชามติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จะกระทบกับ

ภาคการค้าของอังกฤษ ซึ่งค้าขายกับยุโรปเป็นส่วนใหญ่ โดยประมาณ 47% เป็นการส่งออกไปยังสหภาพยุโรป และประมาณ 54% เป็นการนำเข้าจากสหภาพยุโรป อันจะส่งผลต่อไปให้ GDP ของอังกฤษลดลงในระยะยาว ประมาณ 1-2% จากการออกจากข้อตกลงการค้าเสรีกับกลุ่มสหภาพยุโรป

ภาคการเงินของอังกฤษ ที่เคยทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางของการเงินของยุโรปในช่วงที่ผ่านมา ต่อไปจะมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะ deal ต่างๆ จากยุโรปที่มาตกลงกันที่อังกฤษ และใช้อังกฤษเป็นศูนย์กลางในการระดมเงิน จะมีความซับซ้อนมากขึ้น นอกจากนี้ ความหวังที่อังกฤษจะเป็นศูนย์กลางในการชำระเงิน (payment and settlement) ให้กับยุโรปก็จะยากยิ่งขึ้น

ในด้านการลงทุน บริษัทต่างๆ ที่เคยใช้อังกฤษเป็นฐานสำคัญในการดำเนินธุรกิจในภูมิภาคยุโรป และเป็นทางเลือกสำคัญเมื่อจะลงทุน ก็ต้องปรับกลยุทธ์และประเมินใหม่อีกครั้งหนึ่ง

ที่ต้องกังวลใจยิ่งไปกว่าผลกระทบเหล่านี้ ก็คือ สิ่งที่จะตามมา ไม่ว่าจะเป็นกรณีสก๊อตแลนด์ ที่อาจจะใช้โอกาสนี้ ขอทบทวนประชามติเรื่องการออกจากอังกฤษ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าคนสก๊อตแลนด์เลือกที่จะอยู่กับสหภาพยุโรปต่อไปขณะที่อังกฤษเลือกที่จะจากไป และอาจมีประเทศอื่นๆ ที่ต้องการเดินตามรอยอังกฤษ และขอออกจากสหภาพยุโรปเป็นรายต่อๆ ไป เช่น สาธารณรัฐเช็ก และประเทศอื่นๆ ที่มีกลุ่มคนซึ่งไม่แน่ใจกับการเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพยุโรปแต่ต้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของสหภาพยุโรปต่อไป ยิ่งไปกว่านั้น สหภาพยุโรปที่ไม่มีอังกฤษที่เป็นสมาชิกใหญ่อันดับสองอยู่ด้วย ก็จะขาดความสมดุล ถูกชักนำได้ง่ายจากนโยบายของพี่ใหญ่ คือ เยอรมันและฝรั่งเศส

แต่ถ้าอังกฤษเลือกที่จะอยู่ต่อ ความผันผวนต่างๆ ที่รออยู่ข้างต้น ก็คงสงบลงไป เหมือนกับหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการลงประชามติครั้งที่แล้วของสก๊อตแลนด์ (ที่ท้ายสุด ก็ตัดสินใจอยู่กับอังกฤษต่อ) ความกังวลใจว่ารัฐบาลสหรัฐจะผิดนัดชำระหนี้ (ที่ท้ายสุด ก็จ่ายเป็นปกติ)

หากอังกฤษเดินไปตามทางสายนี้จริง ก็ต้องขอฟันธงไว้ก่อนว่า ปัญหาคงไม่จบลงไปตรงนี้ แค่เพียงหลบใน ซ่อนตัวลงไปอีกครั้ง รอวันที่ความไม่พอใจจะปะทุ คุกรุ่นขึ้นรอบใหม่

ที่กล่าวเช่นนี้ ก็เพราะว่า สิ่งที่คนอังกฤษไม่พอใจและหยิบยกขึ้นมานั้นเป็นปัญหาที่มีมูล เป็นปัญหาจริง ที่นับวันจะลุกลามมากขึ้น โดยเฉพาะปัญหาคนอพยพเข้าเมืองที่เข้าไปเบียดบังคนอังกฤษ โดยรัฐบาลไม่สามารถจะทำอะไรได้ เพราะถูกมัดไม้มัดมือไว้จากข้อตกลงกับยุโรป นอกจากนี้ กลไกราชการส่วนกลางของสหภาพยุโรปก็จะเทอะทะมากขึ้น ใหญ่ขึ้น มีอำนาจขึ้น และเข้าแทรกแซงรัฐสมาชิกมากขึ้น ความคับที่คับใจของคนอังกฤษก็คงจะเพิ่มมากขึ้น

ท้ายสุด ถ้าสหภาพยุโรปไม่สามารถปฏิรูปตนเองให้ดีขึ้น อังกฤษก็อาจจะต้องกลับมาคิดเรื่องจากการออกจากสหภาพยุโรปกันอีกครั้ง

ผลกับไทยและสิ่งที่เราต้องเตรียมการ

สำหรับไทยนั้น หากอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป ผลกระทบผ่านตลาดอัตราแลกเปลี่ยนและการเงินโลก มาถึงไทยนั้นคงมีบ้าง โดยเฉพาะช่วง 1-2 สัปดาห์แรก แต่เราก็น่าจะรองรับกับความผันผวนดังกล่าวได้ ส่วนผลกระทบอีกด้าน คือ ด้านการค้าของไทยกับอังกฤษและสหภาพยุโรปทุกประเทศนั้น ปัจจุบันอยู่แค่เพียง 1.8% และ 10.2% ของการส่งออกทั้งหมดของไทยตามลำดับ ผลกระทบจึงคงมีไม่มาก ยิ่งไปกว่านั้น กว่าผลประชามติจะทำให้อังกฤษต้องออกจากสหภาพยุโรปจริง ก็คงใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง ซึ่งก็หมายความว่าต่อไปว่า ผลต่อไทยด้านการค้าคงไม่เกิดขึ้นเร็ววัน ก็ขอเป็นกำลังใจให้กับทุกคนครับ