การเปลี่ยนแปลงภายใน และปัจจัยที่ต้องตาม (ตอน 2)

การเปลี่ยนแปลงภายใน และปัจจัยที่ต้องตาม (ตอน 2)

สวัสดีครับ ครั้งที่แล้วเราคุยกับถึงเรื่องปัจจัยที่ต้องติดตาม ซึ่งในการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั้น

มีการทำธุรกรรมทางการเงินและความพยายามในการปิดช่องว่างของการทำธุรกรรมทางการเงิน ซึ่ง Financial Transaction + Technology เป็นที่มาของความสะดวก ลดภาระและค่าใช้จ่ายของการดำเนินการของ Fintech ต่าง ๆ 

ปัจจัยที่ต้องติดตามนอกจากนี้ยังมีปัจจัยมีหลาย ๆ ปัจจัย ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากพัฒนาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นด้านเทคโนโลยีทำให้หลายอย่างที่ไม่สามารถดำเนินการได้ในอดีต ดำเนินการได้ในปัจจุบัน โดยเมื่อวานนี้ 15 มิ.ย. ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท) และสมาคมธนาคารไทย ได้มีการแถลงข่าวรูปแบบการโอนเงินแบบใหม่ที่จะเริ่มดำเนินการในประเทศช่วงไตรมาสสี่ของปีนี้ ชื่อว่า พร้อมเพย์ (PromptPay) หรือก่อนหน้านี้มีชื่อเล่นว่า AnyID

การเริ่มต้นการดำเนินการรับ-โอนเงินแบบใหม่นี้เป็นหนึ่งในโครงการที่ทางกระทรวงการคลังมีการดำเนินการภายใต้โครงการ National E-Payment ซึ่งประกอบด้วยการโอนเงินโดยใช้หมายเลขอ้างอิง (หมายเลขประจำตัวประชาชน และ หรือ หมายเลขโทรศัพท์มือถือ) แทนการใช้หมายเลขบัญชีธนาคารในการรับหรือโอนเงิน การเพิ่มการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ การเพิ่มร้านค้ารับบัตร และออกเอกสารใบเสร็จใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์นั้น โดยผลประโยชน์รวมของประเทศที่ตั้งใจไว้คือเพื่อลดการใช้เงินสด (การใช้เงินสดจะทำให้เป็นการลดต้นทุนที่มีกิจกรรมหลาย ๆ กิจกรรมที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่การพิมพ์ธนบัตร การขนส่งธนบัตร การเติมใส่ตู้ ATM การรับฝาก การคัดนับ และอื่นๆ) ซึ่งกิจกรรมที่เกี่ยวข้องนี้ล้วนมีต้นทุนในการดำเนินการทั้งสิ้น

นอกจากนี้ การเก็บหรือการมีเงินสดเป็นจำนวนมากนั้น ความปลอดภัยกับผู้ดำรงหรือรักษาเงินสดไว้นั้นก็มีความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากผู้ที่ต้องการลักทรัพย์นั้น ๆ อีกด้วย ดังที่เห็นในข่าว อาทิ การยกตู้ ATM การจี้ร้านค้า หรือการปลอมแปลงธนบัตรอีกด้วย

ด้วยความตั้งใจในการปฏิรูปการส่งผ่านเงินจากระบบที่มีธนบัตรเป็นสื่อกลางเป็นระบบที่เป็นอิเล็กทรอนิกส์ และด้วยความพร้อมของเทคโนโลยีในปัจจุบัน การรับ-โอนเงินในรูปแบบใหม่จึงสามารถเกิดขึ้นได้ และทำให้เกิดการเข้าถึงของประชาชนเพิ่มเติมขึ้นกว่าในอดีต

ในการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ นั้น เป็นปัจจัยที่เราต้องเตรียมตัว ซึ่งการเตรียมตัวนั้น เราคงคิดว่าเราจะต้องทำอย่างไร หรือปรับตัวอย่างไรในการดำเนินการดังกล่าว

ในช่วงแรกการดำเนินการของพร้อมเพย์นั้นจะให้ประชาชนลงทะเบียน ซึ่งการลงทะเบียนจะมีการลงทะเบียนเริ่มวันที่ 15 กรกฎาคม 2559 ซึ่งอาจมีบางธนาคารให้บริการรับลงทะเบียนล่วงหน้าก็สามารถทำได้ โดยการลงทะเบียนล่วงหน้านั้นจะเริ่มได้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมเป็นต้นไป หลังจากลงทะเบียนเรียบร้อยแล้ว การใช้บริการนั้นคาดว่าสามารถใช้บริการได้ประมาณสิ้นเดือนตุลาคมเป็นต้นไป

การโอนเงินโดยพร้อมเพย์ต่างจากการโอนเงินแบบอื่น ๆ อย่างไร

ปกติในการโอนเงินให้กับบุคคลอื่น ๆ นั้น เราเรียกกันว่าเป็นการดำเนินการแบบ P2P ซึ่งมีการโอนได้ทั้งแบบภายในธนาคารเดียวกัน และหรือ การโอนต่างธนาคารกัน ซึ่งในปัจจุบันการโอนภายในธนาคารนั้นสามารถทำได้ผ่านช่องทางต่าง ๆ อาทิ สาขา เอทีเอ็ม Internet Banking Mobile Banking ซึ่งเป็นการโอนแบบที่เงินได้รับทันทีเป็นหลัก นอกจากนี้หากเราต้องการโอนเงินต่างธนาคาร ไปบัญชีของเราเองในธนาคารอื่น ๆ หรือบัญชีคนอื่นในธนาคารอื่น ๆ ทางเลือกในการโอนเงินก็จะมีหลายแบบ อาทิ โอนทันที (ค่าธรรมเนียมน่าจะแพงสุด และมีการกำหนดธุรกรรมว่าโอนไม่เกิดทีละเท่าไหร่) โอนแบบพรุ่งนี้ถึง โอนแบบมะรืนนี้ถึง

ซึ่งการโอนนั้นโดยรวมลักษณะของการโอนที่ต่างกันคือ ระยะเวลา จำนวนเงิน และค่าธรรมเนียมที่แตกต่างกัน ทั้งนี้การรับ-โอนเงินแบบพร้อมเพย์นั้นจะมีการกำหนดค่าธรรมเนียมที่ลดลงจากเดิม (ดูประกาศที่สมาคมธนาคารเผยแพร่ในด้านเพดานค่าธรรมเนียมที่จะเกิดขึ้น) ซึ่งค่าธรรมเนียมที่ลดลงนั้นประโยชน์ที่เราจะได้รับในฐานะผู้ใช้บริการทันที คือ ค่าใช้จ่ายในการโอนเงินต่ำลง (ทั้งในธุรกรรมที่มีจำนวนเงินน้อย และธุรกรรมที่มีจำนวนเงินมาก) ซึ่งทำให้เรามีความจำเป็นในการถือเงินสดน้อยลงด้วย

การลงทะเบียนนั้นสามารถใช้หมายเลขอะไรบ้าง

หมายเลขที่ใช้ในการลงทะเบียนมี 2 ชนิด คือ

     1. หมายเลขประจำตัวประชาชน

     2. เบอร์โทรศัพท์มือถือ (สามารถใช้เบอร์มือถือได้ถึง 3 เบอร์)

หนึ่งบัญชีหนึ่งหมายเลข

การผูกบัญชีธนาคาร (บัญชีออมทรัพย์ บัญชีอีมันนี่ หรือบัญชีต่าง ๆ) จะต้องเลือกว่าเราจะเอาบัญชีไหน ผูกกับหมายเลขอะไร ถ้าเรามีบัญชีธนาคารอยู่ 1 บัญชี เราจะผูกบัญชีนี้กับหมายเลขประจำตัวประชาชน และผูกไว้กับเบอร์มือถือได้ ถ้าเรามีบัญชีมากกว่าจำนวนหมายเลขที่จะผูกได้ (หมายเลขที่จะผูกได้ คือ หมายเลขประจำตัวประชาชน + จำนวนเบอร์โทรศัพท์มือถือที่มี (ถ้ามีมือถือ 2 เครื่อง -> หมายเลขที่จะผูกได้ = 1+2 = 3) เราจะต้องเลือกบัญชีธนาคารไม่เกิน 3 บัญชีเพื่อผูก

ผูกแล้วเปลี่ยนได้มั้ย

เราต้องแจ้งยกเลิกผู้ใช้บัญชีกับธนาคารที่เราดำเนินการผูกบัญชีไว้เพื่อป้องกันการปลอมตัวตนในการใช้บัญชีของเรา ซึ่งเมื่อเราแจ้งให้ธนาคารทราบและดำเนินการแล้ว เราสามารถไปแจ้งกับธนาคารที่เราต้องการผูกบัญชีด้วยต่อไปได้

การเปลี่ยนแปลงด้านการทำธุรกรรมทางการเงินนั้น เป็นการปฏิรูปการทำธุรกรรมทางการเงิน ซึ่งเป็นประโยชน์ในองค์รวม โดยเฉพาะประเทศที่จะมีต้นทุนในการบริหารจัดการที่ลดลง การลดโอกาสความเสียหายต่าง ๆ รวมถึงการปลอดแปลงธนบัตรที่เกิดขึ้นในแต่ละประเทศ ทางด้านของผู้บริโภค หรือผู้ใช้บริการจะมีต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ลดลง ทั้งนี้เราต้องทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงนี้เพื่อนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ และเป็นการลดต้นทุนให้กับตัวเอง และกิจการที่ดำเนินการ เราก็จะสามารถแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ได้ดีขึ้นเมื่อต้นทุนของเราลดลงนะครับ