ความคิดสร้างสรรค์ ‘พรสวรรค์หรือพรแสวง’

ความคิดสร้างสรรค์ ‘พรสวรรค์หรือพรแสวง’

ในยุคดิจิทัลเทคโนโลยีเราปฏิเสธไม่ได้เลยว่า Innovation มีความสำคัญมากต่อความอยู่รอดขององค์กรธุรกิจ

ในสนามการแข่งขันอันดุเดือดในปัจจุบัน SCB มองเห็นความสำคัญของเรื่องนี้เราจึงกำหนดให้ Innovation เป็นหนึ่งใน Core Value ขององค์กร

Innovation ทั้งหลายมักเกิดจาก “ความคิดสร้างสรรค์” ของคนในองค์กรนั้นๆ เมื่อพูดถึงความคิดสร้างสรรค์หลายคนอาจจะนึกถึง Creative ที่เก่งๆ ในวงการโฆษณา หรือ Product Designer ที่เกิดมาพร้อมพรสวรรค์เรื่องการออกแบบ ไม่แปลกที่คนธรรมดาๆ อย่างเราจะเชื่อว่าความคิดสร้างสรรค์เป็นเรื่องของคนที่มีพรสวรรค์เท่านั้น เราคงทำแบบเขาไม่ได้หรอก

เพื่อให้เราได้เรียนรู้เรื่องนี้ SCB จึงเชิญวิทยากรผู้มีความคิดสร้างสรรค์เป็นเลิศในวงการต่างๆ เช่น คุณยุทธนา บุญอ้อม (ป๋าเต็ด) กรรมการผู้จัดการ (ธุรกิจโชว์บิซ) บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน), คุณสาธิต กาลวันตวานิช ผู้ก่อตั้ง และ Creative Director ของ Propaganda, คุณศุ บุญเลี้ยง ศิลปิน โปรดิวเซอร์ นักเขียน นักแต่งเพลง, และคุณสราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ ครีเอทีฟโฆษณา นักเขียนนามปากกา “นิ้วกลม” มาแชร์ประสบการณ์การทำงานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ซึ่งท่านเหล่านี้ได้ทำให้ความเชื่อเดิมๆเกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์ของพวกเราเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงและได้ให้มุมมองที่น่าสนใจไว้ดังนี้

ความคิดสร้างสรรค์มีอยู่ในตัวเราทุกคน ความคิดสร้างสรรค์ไม่ใช่พรสวรรค์และมันฝึกฝนกันได้ ปัญหาไม่ได้อยู่ที่เราไม่มีความคิดสร้างสรรค์แต่อยู่ที่เรา กลัวกลัวผิด กลัวถูกวิพากษ์วิจารณ์ กลัวดูไม่ดี เราจึงไม่กล้าที่จะเสนอความคิดออกมาและที่ร้ายที่สุดคือไม่กล้าแม้แต่จะคิดเลยด้วยซ้ำ

ความเคยชิน” เป็นศัตรูตัวร้ายของความคิดสร้างสรรค์ คำถามทรงพลังที่วิทยากรแนะนำให้เราใช้ถามตัวเองบ่อยๆ คือคำว่า "เหรอ” เช่นที่เราทำอยู่ทุกวันนี้มันดีที่สุดแล้วเหรอ? วิธีนี้เป็นวิธีที่ดีที่สุดแล้วเหรอ? ฟังดูเหมือนเป็นคำถามง่ายๆ แต่เมื่อได้ลองถามตัวเองบ่อยๆเราจะพบว่าคำถามนี้ช่วยกระตุ้นให้เราหลุดออกจากความเคยชินได้ดีมาก

ความคิดสร้างสรรค์ต้องใช้ “จินตนาการ” และจินตนาการสำคัญกว่า “ความรู้” ยิ่งเรามีความรู้ในเรื่องอะไรมากๆ ยิ่งต้องระวังเพราะเราจะยึดติดในความรู้นั้น จะมองเห็นแต่ข้อจำกัด ไม่เห็นโอกาสหรือทางเลือกใหม่ๆ จึงต้องหัด unlearn ความรู้เดิมเพื่อเปิดรับจินตนาการบ้าง วิทยากรยกตัวอย่างเรื่องการออกแบบ “เก้าอี้” ภาพในหัวที่เกิดจากความรู้เดิมของคนทั่วไปคือเก้าอี้ต้องมีสี่ขาทำให้เราติดอยู่ในกรอบนี้ แต่พอคิดถอยออกมาว่าเรากำลังออกแบบ “สิ่งที่ใช้รองนั่ง” แล้วใช้จินตนาการช่วยสร้างสรรค์มันออกมา จึงเกิดเป็นสิ่งที่ใช้รองนั่งรูปทรงแปลกใหม่ที่ไม่ได้มีสี่ขามาให้เราได้เลือกใช้มากมาย

ความคิดสร้างสรรค์เกิดจากแรงบันดาลใจ ซึ่งแรงบันดาลใจจะเกิดได้ถ้าเราได้พบปะผู้คนหลากหลายวงการ ได้รับรู้เรื่องราว ได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง ได้เห็นวิธีคิด ได้เห็นความสำเร็จของท่านเหล่านั้นจนเกิดเป็นแรงกระตุ้นให้เราอยากสรรค์สร้างสิ่งใหม่ๆ ให้กับงานหรือชีวิตส่วนตัวของเราได้

ความคิดสร้างสรรค์ไม่จำเป็นต้องเป็นอะไรที่ใหญ่โต เราสามารถใช้มันในการแก้ปัญหาที่เราพบในชีวิตประจำวันของเราได้ ในเรื่องนี้ผมขอเล่าตัวอย่างจริงใน SCB สักหนึ่งเรื่องนะครับ ที่ SCB เราจัดสวัสดิการรถบัสและรถตู้รับส่งพนักงานจากสำนักงานใหญ่ไปยังสถานี BTS จตุจักร, เซ็นทรัลลาดพร้าว และบิ๊กซีวงศ์สว่าง แต่การจราจรที่ติดขัดในช่วงเย็นทำให้รถวนกลับมารับพนักงานล่าช้าแม้ว่าเราจะเพิ่มจำนวนรถตู้แล้วก็ตาม ทำให้พนักงานต้องเสียเวลารอรถนานและต่อคิวเป็นแถวยาวเหยียด

เราจึงเปิดโอกาสให้พนักงานส่งไอเดียในการแก้ปัญหานี้เข้ามาและในที่สุดเราได้คัดเลือกไอเดีย “SCB Car Pool” มาทำเป็นโครงการต้นแบบให้พนักงานของเราได้ลองผิดลองถูกกัน วิธีการคือเราเปิดรับอาสาสมัครที่มีรถยนต์ส่วนตัวและสามารถรับพนักงานที่ยืนต่อแถวรอรถไปส่งยังจุดรับส่งที่ SCB กำหนดไว้ได้ อาสาสมัครต้องลงทะเบียนในระบบ ติดสติ๊กเกอร์ SCB Car Pool และดาวน์โหลด Application ลงบนมือถือเพื่อบันทึกจำนวนเที่ยวที่รับส่ง เมื่อลงทะเบียนเรียบร้อย ช่วงเวลาหลังเลิกงานอาสาสมัครจะขับรถไปยังจุดรอรถซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่คอยตรวจสอบข้อมูลรถ เส้นทางที่ผ่าน และจัดพนักงานขึ้นรถเพื่อให้อาสาสมัครขับไปส่งตามจุดที่ได้แจ้งไว้

โครงการนี้เริ่มทดลองใช้เมื่อวันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมานี่เอง แม้ว่าจะอยู่ในช่วงเริ่มต้นโครงการนี้ได้รับเสียงตอบรับที่ดีเกินคาด พนักงานหลายคนชื่นชมว่าเป็นโครงการที่ดีและน่ารักมากที่พนักงานของเรามีน้ำใจแวะรับส่งเพื่อนพนักงานด้วยกัน ผู้ใช้บริการก็รู้สึกตื่นเต้นกับประสบการณ์ใหม่ ได้พูดคุยทำความรู้จักกับคนที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อนเลย บางคนได้นั่งรถผู้บริหารที่มาเป็นอาสาสมัครด้วยก็ตื่นเต้นกันใหญ่ที่ได้มีโอกาสพูดคุยกับท่านแบบเป็นกันเอง จึงมีการบอกต่อกันไปในวงกว้าง ผลลัพธ์ที่ได้นอกจากพนักงานไม่ต้องรอรถนานแล้วยังก่อให้เกิดความผูกพันระหว่างพนักงานในองค์กร เกิดเป็นกระแสแห่งความเมตตา ความรู้สึกดีๆ ที่เพื่อนพนักงานมีให้แก่กัน

เรื่องที่ผมนำมาเล่านี้เป็นเครื่องยืนยันว่าความคิดสร้างสรรค์ไม่ได้เกิดจากพรสวรรค์ เราทุกคนสามารถสร้างมันได้ถ้าเราได้เรียนรู้ หมั่นฝึกฝน ไม่กลัวที่จะลองผิดลองถูก และได้รับแรงบันดาลใจที่มากพอ สวัสดีครับ