ความสำเร็จของผู้ประกอบการ"อีคอมเมิร์ซ"

ความสำเร็จของผู้ประกอบการ"อีคอมเมิร์ซ"

สัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีโอกาสร่วมงานและรับฟังสัมมนาในหัวข้อ “อีคอมเมิร์ซ” ที่จัดขึ้นในงาน e-Biz Expo 2016

โดยกูรูและผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จในอีคอมเมิร์ซทั้งธุรกิจขนาดเล็กที่ไม่มีแม้กระทั่งเว็บไซต์ของตัวเอง จนไปถึงธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีทั้งเว็บไซต์และเครือข่ายออนไลน์เป็นของตนเอง 

ถ้าพิจารณาปัจจัยความสำเร็จของผู้ประกอบการเหล่านี้ พบว่าปัจจัยหลักๆ ที่นำพาสู่ความสำเร็จไม่ได้แตกต่างกันมากที่สำคัญผู้ประกอบการในวันนี้สามารถดำเนินธุรกิจอีคอมเมิร์ซได้ทันทีในระยะเวลาเพียงไม่กี่นาทีก็สามารถมีร้านค้าออนไลน์พร้อมขายแล้ว 

แต่ผู้ประกอบการที่จะประสบสำเร็จอย่างยั่งยืนนั้นควรจะต้องมีปัจจัยอะไรบ้าง

            เริ่มต้นที่ “สินค้าหรือบริการ” ลองสังเกตดูว่าธุรกิจอีคอมเมิร์ซส่วนใหญ่ที่ยั่งยืนได้จนถึงปัจจุบันล้วนแต่มีสินค้าและบริการที่เป็นที่ต้องการของลูกค้าจริงๆ จึงต้องมี Insight ของลูกค้าว่าต้องการอะไรแล้วอินเทอร์เน็ตจะมาช่วยให้พวกเขาได้รับประโยชน์อะไรบ้าง หลายคนกระโดดเข้าสู่ธุรกิจออนไลน์เพราะมีความปรารถนาอย่างแรงกล้า (Passion) ว่าสิ่งที่ตัวเองคิดน่าจะเป็นสิ่งที่ลูกค้าต้องการ แต่หลายคนก็ต้องล้มเหลวไปเพราะความปรารถนาอย่างแรงกล้านี้เป็นแค่เพียงความต้องการของตัวเอง ดำเนินธุรกิจเพื่อตอบสนองความต้องการของตัวเองแต่ลืมคิดไปว่าลูกค้าต้องการมันจริงๆหรือไม่

            อีกอย่างสินค้าและบริการควรจะต้องมีความแตกต่างไม่สามารถหาได้ง่ายๆ แต่เป็นที่ต้องการก็จะมีโอกาสประสบความสำเร็จได้ง่าย เช่น ธุรกิจขายบัตรแข่งขันกีฬาที่ทุกคนอยากเข้าร่วมแข่งขัน เป็นต้น แต่ถ้าเป็นสินค้าหรือบริการทั่วไป จะต้องนำเทคโนโลยีมาช่วยสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งขันหรือการดำเนินธุรกิจเดิม เช่น ธุรกิจอาหารลดน้ำหนักที่บริการส่งถึงบ้านด้วยโมบายแอพพลิเคชั่น

สินค้าและบริการที่อยู่ในเทรนด์ เช่น ธุรกิจอาหารธุรกิจเพื่อสุขภาพ เป็นต้น ก็มีโอกาสประสบความสำเร็จได้ง่ายเช่นกัน แต่ก็ต้องระวังด้วยว่าสินค้าและบริการพวกนี้อาจมาเร็วและไปเร็ว สินค้าและบริการที่เป็น Mixed trend อาจช่วยลดความเสี่ยงได้ เช่น อาหารเพื่อสุขภาพ

  “ต้องใช้เอง”เป็นอีกปัจจัยที่สำคัญต่อความสำเร็จ ถึงแม้จะคิดค้นสินค้าหรือบริการเองก็ตาม แต่หากเราไม่อยากใช้งานหรือไม่มีแรงบันดาลใจกับมัน ก็ไม่สามารถต่อยอดหรือพัฒนาสินค้าและบริการต่อไปได้จริง  ซึ่งไม่ได้หมายถึงแค่สินค้าและบริการเพียงอย่างเดียว อาจรวมไปถึงช่องทางจัดจำหน่ายหรือช่องทางการตลาดด้วย ตัวอย่าง ผู้ประกอบการรายหนึ่งที่ซื้อสินค้าผ่าน Amazon เป็นประจำจนมองเห็นช่องทางการใช้เว็บไซต์ Amazon ขายสินค้าของตัวเองบ้าง ในที่สุดก็ประสบความสำเร็จด้วยเช่นกัน หัวใจสำคัญคือ “จะต้องลงมือเองและเข้าใจมันจนพัฒนาต่อยอดได้”

            “การตลาดที่ดี” เราไม่สามารถขายสินค้าและบริการให้ประสบความสำเร็จได้หากไม่มีการตลาดที่ดี ต่อให้มีสินค้าและบริการที่ดีเยี่ยม มีบริการหลังการขายเป็นเลิศหรือมีลูกค้าที่ภักดียาวนานก็ตาม ก็สามารถล้มเหลวได้หากพลาดในการตลาด ดังนั้นจะต้องรู้จักลูกค้าอย่างลึกซึ้งและหากลยุทธ์เข้าถึงลูกค้าเหล่านั้น ต้องพยายามใช้หลากหลายช่องทางการตลาดที่เข้าถึงลูกค้าได้มากที่สุด

            โชคดีของผู้ประกอบการวันนี้ คือมีช่องทางการตลาดหลากหลาย รวมไปถึงการพัฒนาเว็บไซต์ร้านค้าออนไลน์ที่ทรงคุณภาพในราคาเพียงหลักร้อย เช่น Amazon, Alibaba, Facebook เป็นต้น เครื่องมือเหล่านี้จะช่วยทำการตลาดได้อย่างดีเยี่ยม เพียงแค่ศึกษาและนำมาใช้ให้ถูกต้องเท่านั้น

            สุดท้ายจะต้องมี “ความมุ่งมั่น” ไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรค ความสำเร็จบนโลกออนไลน์อาจดูเหมือนง่ายและลงทุนไม่สูง แต่ที่จริงแล้วลูกค้ามีความฉลาดมากขึ้น  มีตัวเลือกมากขึ้น และเปลี่ยนใจได้ตลอดเวลา  จึงอาจล้มเหลวหรือไม่สามารถสร้างยอดขายได้เลย แต่สิ่งสำคัญคือ “จะต้องล้มและลุกได้รวดเร็วปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ตลอดด้วยความมุ่งมั่น”

            หากสอบผ่านตามปัจจัยข้างต้น โอกาสที่จะประสบความสำเร็จในอีคอมเมิร์ซก็ไม่น่าเป็นเรื่องยาก