เค้าลางเศรษฐกิจ'ฟื้น'

เค้าลางเศรษฐกิจ'ฟื้น'

2 ปีของการปฏิรูปประเทศ ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

 นายกรัฐมนตรี เริ่มจะเห็นเค้าลางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจชัดขึ้นในปีนี้ สะท้อนจากตัวเลขเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไตรมาสแรก (ม.ค.-มี.ค.) ที่พบว่า ขยายตัว 3.2% ขยับขึ้นจาก 2.8% ในไตรมาสก่อนหน้าที่สำคัญยังเป็นการเติบโตสูงสุดในรอบ 12 ไตรมาส

ไส้ในของจีดีพี ยังพบว่า ตัวเลขเศรษฐกิจหลายตัวอยู่ใน แดนบวก ไม่ว่าจะเป็นการใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่ขยายตัว 2.3% การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาล ขยายตัว 8 % การเบิกจ่ายงบประมาณ ขยายตัว 8.3% การลงทุนรวม ขยายตัว 4.7% การลงทุนภาครัฐ ขยายตัว 12.4% การลงทุนของรัฐวิสาหกิจ ขยายตัว 10% ขณะที่การลงทุนภาคเอกชน ขยายตัว 2.1% เป็นต้น

จะมีเพียงรายได้จากการส่งออก ที่ยังอยู่ในแดนลบ 1.4% มูลค่า 52,257 ล้านดอลลาร์ สวนทางกับรายได้จากการท่องเที่ยว ที่มีจํานวนนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ 9 ล้านคน ขยายตัว 15.5%  โดยเป็นการขยายตัวของนักท่องเที่ยวภูมิภาคเอเชียตะวันออก ยุโรป อเมริกา เอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และแอฟริกา จํานวนนักท่องเที่ยวสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ จีน มาเลเซีย เกาหลีญี่ปุ่น และรัสเซีย

เช่นเดียวกับ อันดับขีดความสามาถในการแข่งขันของไทย ในปี 2559 ที่จัดอันดับโดย World Competitiveness Center ของ International Institute for Management Development (IMD) สวิตเซอร์แลนด์ พบว่า อันดับของไทยดีขึ้น มาอยู่อันดับที่ 28 จากอันดับที่ 30 ในปี 2558 จากการจัดอับดับของ 61 ประเทศทั่วโลก

เหล่านี้ล้วนเป็น ดัชนีชี้วัดตัวเลขเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ซึ่งนอกจากจะเกิดจากปัจจัยพื้นฐานในและนอกประเทศเป็นตัวกำหนดแล้ว ส่วนหนึ่งคงต้องยกเครดิตให้กับ “รัฐ” ในการใส่นโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ อาทิ การใส่เงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ผ่านกองทุนหมู่บ้าน การให้สถาบันการเงินของรัฐเป็นแกนในการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) ช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) และผู้ประกอบการโอท็อป มาตรการทางภาษีเพื่อดึงดูดการลงทุนธุรกิจขนาดใหญ่ รวมไปถึงผู้ประกอบการที่ใช้เทคโนโลยีในการขับเคลื่อนธรกิจ (สตาร์ทอัพ)

ล่าสุด การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน (เมกะโปรเจค) ของรัฐ ยังมีความชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนรถไฟฟ้า ที่จะเร่งผลักดันการประกวดราคาหลายเส้นทาง โดยรถไฟฟ้าสายสีชมพู สายสีเหลือง และสายสีส้ม ตามแผนจะเปิดประกวดราคาในเดือนมิ.ย.นี้ ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของการเดินหน้าโครงการลงทุนภาครัฐใน 20 โครงการ วงเงินรวม 1.7 ล้านล้านบาท ทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ จากธุรกิจต่อเนื่องที่จะได้รับประโยชน์  เช่น ราคาที่ดินที่ปรับตัวสูงขึ้น  ศักยภาพในการพัฒนาที่ดินตามแนวรถไฟฟ้า และแนวการก่อสร้างเมกะโปรเจคของรัฐ  ธุรกิจรับเหมา ฯลฯ 

ขณะที่ภาคเอกชน อาทิ บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานเครือสหพัฒน์ ออกมาประเมินว่า “กำลังซื้อ” เริ่มกลับมา โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าอุปโภค-บริโภค ประเมินจากยอดขายสินค้าในเครือที่เพิ่มขึ้น

ดูเหมือน การผลักดันเศรษฐกิจทั้งระยะสั้น กลาง และยาว กำลังจะไปได้สวย ต้องดูกันต่อไปว่าจีดีพีใน “ไตรมาสสอง” รวมถึง “ครึ่งหลัง”ของปีนี้ จะได้รับแรงส่ง จากการลงทุนเมกะโปรเจค มากน้อยเพียงใด

จีดีพี ปีนี้ จะถึงเป้าที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ประเมินไว้ 3.3% หรือไม่ 

หนังเรื่องนี้ จะจบแบบ พอรับได้หรือไม่ ย้งต้องลุ้น...!!