ดอก 'ศูนย์เปอร์เซ็นต์'

ดอก 'ศูนย์เปอร์เซ็นต์'

ประวัติศาสตร์วันหนึ่งของระบบการเงินไทย เพราะเป็นวันที่คนไทยจำนวนมาก ตกใจกับคำว่า 'ดอกเบี้ย 0%'

ผมคิดว่า วันที่ 3 มิถุนายน 2559 เป็นวันประวัติศาสตร์วันหนึ่งของระบบการเงินไทย เพราะเป็นวันที่คนไทยจำนวนมาก ตกใจกับคำว่า 'ดอกเบี้ย 0%' 

ผมฟังข่าวนี้ ขณะอยู่ที่สภากาชาดไทย เวลาประมาณตอนเที่ยงนักข่าวหลายช่องรายงานข่าวเศรษฐกิจตัวนี้ แบบสุดยอดอีโมชั่นขอสารภาพว่าชอบมาก ประมาณว่า

ท่านผู้ชมครับ ! … นี่คือ ครั้งแรก!!! ของประเทศไทย … นี่คือ ครั้งแรก!!! ของวงการธนาคารไทย … และนี่คือ ครั้งแรก!!! ของคนไทย ที่จะเจอกับการฝากเงินไร้ดอกเบี้ยเราเดินทางมาถึงจุดที่ มีดอกฝาก 0% แล้วครับ!

ขอบอกว่า มีคนร้อง 'เฮ้ยย' ออกมาด้วย เพราะข่าวนี้ฟังดูน่าตกใจ คนไทยไม่เคย แม้ว่าพอช่วงบ่ายของวันเดียวกัน ทางธนาคารจะรีบกลับลำ ยกเลิกดอกเบี้ยเงินฝาก 0% ให้กลับมาเป็น 0.125% เหมือนเดิม แต่เรื่องนี้ยังคงเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ ของคนไทยในวงกว้าง

ทุกท่านครับขอเชิญชวนให้ลองคิดตามดีๆนะครับ

ดอกเบี้ย 0.125% กับ 0% … สำหรับผมแล้ว มันคือๆกัน เพราะ 

1.อย่าลืมว่า ดอกเบี้ย 0.125% ยังต้องโดนภาษีบนดอกเบี้ยเงินฝากอีกนะครับ นั่นทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ที่แท้จริง ดูต่ำเตี้ยเรี่ยพื้นเข้าไปอีก

2.ต่อให้ท่านฝากเงินสด 1 ล้านบาท ... ดอกเบี้ย 0.125% ให้ดอกผลแก่ท่าน 1,250 บาทต่อปี ... คิดเป็น 104 บาทต่อเดือน!!!อนิจจา ยังไม่พอซื้อกาแฟหรูแก้วนึงเลยครับ

ดอกนิดเดียวแค่นี้ ไม่สามารถสร้างความแตกต่างให้ความมั่งคั่งของเราได้เลย คนยุคนี้ไม่สามารถพึ่งพาดอกเบี้ยเงินฝากเป็นดอกผลเพื่อการดำรงชีวิตใดๆได้คำว่านอนกินดอก ... 'มันจบจริงๆแล้วครับนาย'

ณ จุดๆนี้ มีคนจำนวนมากเริ่มตาสว่าง เพราะตั้งคำถามว่า...แล้วจะให้ทำยังไง? เอาละขอวิเคราะห์ว่า ตอนนี้สถานการณ์เป็นอย่างไร และ อนาคตจะเกิดอะไรขึ้นผมมีความเห็นดังนี้

ตอนนี้
1.ไทยเรา การลงทุนภาคเอกชนยังไม่ดี ... ส่งออกยังไม่ดี... นำเข้าก็ไม่ดี (เพราะการนำเข้าส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าสินค้าทุน)... แบบนี้ เงินจะล้นระบบ

2.ผู้คนไม่กล้าใช้เงิน ไม่กล้าซื้อของก้อนใหญ่ เพราะกลัวเศรษฐกิจไม่ดี ปีนี้เราเจอภัยแล้งเข้าไปอีกหลายเดือน การขับเคลื่อนหรือกระตุ้นการบริโภคในประเทศจึงค่อนข้างยาก...แบบนี้เงินจะล้นระบบ

3.ธนาคาารยังไม่กล้าปล่อยกู้ เพราะกลัว NPL ลองดู Loan Growth ของแบงค์แต่ละแห่งแทบไม่มีมาตั้งแต่ 2014 แล้ว ... แบบนี้เงินจะล้นระบบ
อนาคต

1.สุดท้ายแบงค์ไทยมีความเป็นไปได้ที่จะลดดอกเบี้ยฝากเหลือ 0% จริงๆ...เพื่อลดต้นทุนเงินที่ล้นระบบอยู่

2.คนไทยจะถึงจุดที่ถูก(กึ่ง)บังคับ ให้ต้องลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือกอื่น เพื่อผลตอบแทนที่ดีกว่า เช่น ตราสารหนี้เอกชน กองทุนอสังหาฯ กองทุนอินฟราฯ หุ้นพื้นฐานดี ... ซึ่งที่สุดแล้ว เงินจำนวนมากควรจะไหลไปที่ 'กองทุน' มากขึ้น และสุดท้ายจะไหลไปที่หุ้นพื้นฐาน SET50 มากขึ้น (กองทุนนำเงินมาซื้อ)การลงทุนในหุ้น จะเป็นทักษะที่จำเป็นของมนุษย์เศรษฐกิจยุคใหม่ ที่ไม่ได้มีแต่กลุ่ม "หวังรวย" อย่างเดียว...แต่มีกลุ่ม 'หวังรอด' เข้ามาสมทบอีกมาก

3.คนไทยจะมีมุมมองเป็นบวกกับประกันชีวิตมากขึ้น มองเป็นความจำเป็นมากขึ้น โดยเฉพาะในแง่การออมระยะยาวพร้อมความคุ้มครอง ยิ่งเข้าสู่สังคมสูงวัย คนไทยจะยิ่งมองการออมผ่านประกันชีวิตแบบบำนาญมากขึ้น ซึ่งไม่แปลกครับ ญี่ปุ่นเขาแก่ก่อนเรา ... คนญี่ปุ่นถึงมีอัตราการถือกรมธรรม์ที่สูงมาก

4.ถ้าเหตุการณ์ดอกเบี้ยต่ำ โดนซ้ำด้วยค่าธรรมเนียมฝาก/ถอนที่สาขาแบบในยุโรปและญี่ปุ่น... ตู้เซฟจะขายดีครับ

สุดท้าย ขอฝากหลักสูตรการเงิน ที่เพื่อนต่างชาติผมเล่าว่า ลูกเขาได้เรียน และผมคิดว่า คนไทยก็ต้องเดินตาม 4 หลักสูตรนี้ เพื่อเอาตัวรอดในยุคดอกเบี้ยต่ำ คือ ออมเงิน..ให้ได้ ใช้เงิน..ให้เป็น หาเงิน..ให้เก่ง ต่อเงิน..ให้งอกเงย

ทำได้ครบ 4 อย่าง ไม่ใช่แค่รอด...แต่รวยได้เลยครับ