สภาพคล่องสูงขึ้นต่อเนื่อง

สภาพคล่องสูงขึ้นต่อเนื่อง

ตั้งแต่ปลายปี 2558 เป็นต้นมา ธนาคารพาณิชย์กำลังเผชิญกับสภาวะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก

ซึ่งส่งผลกระทบต่อทุกอุตสาหกรรมและต่อ Loan growth ในประเทศไทย ทำให้ LDR หรือ Loan-to-Deposit ratio อยู่ในระดับต่ำ ในขณะที่ความพยายามที่จะเร่ง Loan growth หรือ การปล่อยกู้กลับต้องค่อยเป็นค่อยไป เพราะเป็นการ balance ระหว่าง Net Interest Income และ NPL 

เมื่อ LDR ต่ำกว่าประมาณการ สภาพคล่องส่วนเกินในระหว่างที่รอการนำไปปล่อยสินเชื่อ จะถูกนำไปหาดอกผลจากการลงทุนในหลายรูปแบบ เช่น การลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล/หุ้นกู้เอกชน ผ่านพอร์ตการลงทุน 3 แบบ คือ Trading (พอร์ตเพื่อค้า) Available for sale (พอร์ตเผื่อขาย) และ Held-to-maturity (ถือจนครบอายุตราสาร) และนอกจากการลงทุนในตราสารหนี้แล้ว ธุรกรรมตลาดเงิน หรือ Money Markets (MM) ก็เป็นอีกส่วนที่ธนาคารพาณิชย์ (ธพ.) พึ่งพาเพื่อจัดการกับสภาพคล่องส่วนเกิน/ขาดในแต่ละวัน

ตลาด MM ซึ่งรวมถึงธุรกรรม Repurchase หรือ Repo เป็นการทำธุรกรรมกู้/ปล่อยกู้ระยะสั้นโดยมีพันธบัตรเป็นหลักประกัน ช่วยให้คู่ค้าทั้ง 2 ข้างสามารถกำหนดวันที่ครบอายุ และขนาดของธุรกรรมได้ตามต้องการ ตลาดที่ใหญ่ที่สุดคือ Bilateral repo ซึ่งธพ. เป็นผู้ฝากสภาพคล่องส่วนเกินกับธปท.ภายในเวลา 09.30 น ของทุกวันนั่นเอง หากในระหว่างวันมีเงินเข้าออก ธพ.จะใช้ private repo ซึ่งกระทำกับธพ.ด้วยกัน หรือกับลูกค้า หรือ ใช้ Interbank lending/Borrowing ในการปรับสภาพคล่องให้มีเงินหมุนเวียนเพียงพอ .. หาก Loan growth เติบโตตามเป้า สภาพคล่องส่วนเกินของแต่ละธนาคารในรูปของธุรกรรม Interbank และ Repo ก็จะลดลง Net Interest Margin ของธพ.จะเริ่มปรับตัวสูงขึ้น

กราฟแสดงข้อมูลจากธปท.ชี้ให้เห็นว่า สภาพคล่องรวม (Interbank and Repo / Trading / AFS / HTM) ของทั้งระบบธนาคารเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องแตะ 4.94 ล้านล้านบาทในเดือน มี.ค. 2559 ที่ผ่านมา ธุรกรรมตลาดเงิน หรือ Interbank ซึ่งส่วนใหญ่คือ Bilateral repo และ Private repo ได้แตะ 2.5 ล้านล้านบาทในช่วงเวลาเดียวกัน ในขณะที่ขนาดของพอร์ตการลงทุนประเภท AFS นั้นมีการเติบโตอย่างเห็นได้ชัดสอดคล้องกับทิศทาง Yield ของพันธบัตรรัฐบาล เมื่อพิจารณาตั้งแต่ต้นเดือนเม.ย. 2558-เม.ย. 2559 พบว่า Yield 10 ปี ปรับตัวลง 240bps จาก 4% แตะจุดต่ำสุดที่ 1.6% สาเหตุมาจากสภาพคล่องที่ท่วมในระบบนั่นเอง... เชื่อหรือไม่ว่า จากจุดต่ำสุดที่ 1.60% Yield ได้ปรับขึ้นตลอดทางแตะ 2.33% จากความเห็นของ Yellen ว่าเฟดจะพิจารณาขึ้นดอกเบี้ยภายในไม่กี่เดือนข้างหน้า

การไหลเข้าของเม็ดเงินจำนวนมากสู่ทั้งตลาดพันธบัตรและตลาดหุ้นนั้น สาเหตุหลักมาจากตัวเลขเศรษฐกิจที่เกินดุลอย่างมาก ดุลการค้าในไตรมาสแรกของปี 2559 นี้สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ที่ 8.19 พันล้านดอลลาร์ (ระดับปกติคือ -4 ถึง +4 พันล้านดอลลาร์/ไตรมาส) นอกจาก trade account ที่ดูสวยหรูแล้ว Current account และ Balance of payment ล้วนบ่งชี้ไปในทิศทางเดียวกัน ในฝั่งตลาดหุ้นนั้น แม้จะมีสัญญาณความผันผวนจากตลาดดอกเบี้ยทั้งในและนอกประเทศ แต่ไม่ได้ทำให้เม็ดเงินชะลอตัวแต่อย่างใด เพราะ 8 วันแรกของเดือนมิ.ย. มีเงินไหลเข้าถึง 1 หมื่นล้านบาท

ทิศทางของดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ นั้นส่งผลต่อ การเคลื่อนย้ายสินทรัพย์/การลงทุน อย่างชัดเจน เพราะถ้าดอกเบี้ยของประเทศที่มีความแข็งแกร่งทางเครดิตสูงอย่างสหรัฐฯ ปรับสูงขึ้น เราย่อมเห็นการไหลของเงินเข้าสู่ US Treasury อย่างแน่นอน อย่าลืมว่า ถ้าพิจารณาในกลุ่ม G10 แล้ว Yield ของพันธบัตรในกลุ่มนี้อยู่ในแดนลบ คิดเป็นประมาณ 35% ของภาระหนี้ในกลุ่ม G10 ทั้งหมด ไม่น่าแปลกใจเลยที่แม้จะให้ผลตอบแทนเพียง 1.6-1.8% พันธบัตรสหรัฐอายุ 10 ปี ยังคงเป็นที่ต้องการของทุกคน

แม้ดูเหมือนจะมีแรงซื้อต่อเนื่องในทุกตลาด อย่าไว้วางใจนักนะครับ เพราะเมื่อเฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยอีกเมื่อไร Yield ของพันธบัตรบ้านเราจะปรับตัวแรงยิ่งกว่าเมื่อ 1 เดือนที่ผ่านมา NAV ของ Property fund ซึ่งอิงกับผลตอบแทน 10 ปี Yield ก็ไม่น่าจะรอด ...เหลือเพียงตลาดหุ้นที่ไม่กล้าคาดเดาเลยจริงๆ ครับ