‘ทีวีดิจิทัล’กรำศึกฟ้องคดี แข่งลงทุนเข็นเรทติ้ง

‘ทีวีดิจิทัล’กรำศึกฟ้องคดี แข่งลงทุนเข็นเรทติ้ง

อุตสาหกรรมโทรทัศน์ เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง

ตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ ทีวีดิจิทัล ช่องใหม่ เริ่มต้นออกอากาศ

ในแง่ของผู้ชม ตัวเลขล่าสุดเดือน พ.ค. 2559 นีลเส็น ประเทศไทย ระบุสัดส่วนผู้ชมทีวีดิจิทัล ช่องใหม่อยู่ที่ 46% เพิ่มขึ้น “5เท่าตัว จาก 9% ณ จุดเริ่มต้นออกอากาศในเดือน เม.ย. 2557 โดย พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ย้ำว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ถือว่าเร็วมาก ในระยะเวลา 2 ปี

ด้านการดำเนินงานของผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล มีหลายช่องโดดเด่น เห็นได้จากเรทติ้งล่าสุดเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา เวิร์คพอยท์ทีวี ซึ่งครองอันดับ 3 นับจากเริ่มต้นออกอากาศ แซงหน้าฟรีทีวีรายเดิมทั้ง ช่อง5 ช่อง9 มาอยู่ในกลุ่มผู้นำรองจากช่อง7 และช่อง3 พบว่าเรทติ้งเริ่มขยับขึ้นต่อเนื่อง เดือนพ.ค.ที่ผ่านมาโกยเรทติ้งจากการถ่ายทอดสดการแข่งขัน “วอลเลย์บอลหญิงโอลิมปิก 2016 รอบคัดเลือก” มาแตะระดับ 1.4 ในกลุ่มผู้ชมทั่วประเทศ อายุ 15 ปีขึ้นไป ไล่หลัง ช่อง3 ที่มีเรทติ้งเฉลี่ย 1.9

เรียกว่าสมรภูมิทีวีดิจิทัลตลอด 2 ปีนี้ อยู่ในภาวะแข่งขันดุเดือดทั้ง ฟรีทีวีรายเดิม ที่ยึดครองผู้ชมและเม็ดเงินโฆษณามากกว่า 50 ปี ผู้ประกอบการ ช่องใหม่ ทั้งกลุ่มที่ย้ายแพลตฟอร์มมาจาก “ทีวีดาวเทียม” มีความพร้อมด้านคอนเทนท์และการรับรู้ในกลุ่มผู้ชม และกลุ่มผู้เล่นรายใหม่ ที่ต้องเริ่มนับหนึ่งปั้นช่องทีวีดิจิทัล

ขณะที่จังหวะการเกิดขึ้นของทีวีดิจิทัล ช่องใหม่ในช่วง 2 ปีนี้ ที่มี ซัพพลาย เพิ่มขึ้น 4 เท่า จาก 6 ช่องเดิม เป็น 24 ช่องใหม่ ขณะที่ ดีมานด์ อยู่ในภาวะลดลงจากหลายปัจจัย ทั้งภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อถดถอยที่ส่งผลต่อการใช้จ่ายเม็ดเงินโฆษณาผ่านสื่อ รวมทั้งการขยายตัวของผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ที่ส่งผลให้ สื่อออนไลน์ เข้ามามีบทบาทสำคัญในการเป็น“ตัวเลือก” ใช้สื่อของสินค้าและแบรนด์ในยุคนี้

สถานการณ์ในอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัล จึงมีปัจจัยหลายด้านที่ส่งผลต่อผู้ประกอบการแต่ละกลุ่มแตกต่างกัน ในกลุ่มผู้เล่นรายใหม่ ที่ไม่สามารถรับมือการแข่งขันรุนแรง จาก“รายเดิม”ที่แข็งแกร่งทั้งด้านคอนเทนท์และฐานผู้ชม เมื่อต้องเผชิญปัจจัยลบภาวะเศรษฐกิจเม็ดเงินโฆษณาไม่โต จึงออกอาการเร็วตั้งแต่ปีแรก ขณะที่อายุใบอนุญาตอยู่ที่ 15 ปี สะท้อนได้จากการ “ลาจอ” ของ 2 ช่องแรก ไทยทีวีและโลก้า  และยังมีคดีฟ้องร้องที่ศาลปกครองถึงปัจจุบัน

  อีกปัญหาของทีวีดิจิทัลกลุ่มใหญ่ มองว่าการทำหน้าที่ของ กสทช. เปลี่ยนผ่านสู่ทีวีดิจิทัล ยังไม่เป็นไปตามประกาศฯ ที่ กสทช.กำหนดไว้ในการประมูลคลื่นความถี่ฯ และส่งผลให้ผู้รับใบอนุญาตได้รับความเสียหาย โดยกลุ่มนี้มี 8 ช่องที่ฟ้องคดีที่ศาลปกครอง ประกอบด้วย พีพีทีวี ไทยรัฐทีวี ช่องวัน จีเอ็มเอ็ม25 นาว26 เนชั่นทีวี ไบรท์ทีวี และสปริงนิวส์ทีวี

ในจำนวนดังกล่าวมี 5 ช่อง ที่ยังไม่จ่ายเงินค่าประมูลใบอนุญาตงวดที่3 ซึ่งถึงกำหนดเมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2559 คือ พีพีทีวี ไทยรัฐทีวี ช่องวัน จีเอ็มเอ็ม25 และไบรท์ทีวี โดยยื่นคำร้องขอให้ศาลพิจารณาคุ้มครองชั่วคราวการจ่ายเงินงวดที่3 ขณะนี้อยู่ระหว่างการชี้แจงข้อมูลของทั้ง 2 ฝ่าย

แต่หากพิจารณา 5 ช่องที่ยังไม่จ่ายเงินงวดที่3 เห็นได้ว่าแผนธุรกิจของทุกช่องพร้อมที่จะเดินหน้าลงทุนทีวีดิจิทัลต่อ ทั้ง พีพีทีวี ที่เซ็นสัญญากับ “บีอิน สปอร์ต” ผู้ได้รับลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดการแข่งขันพรีเมียร์ลีก อังกฤษในประเทศไทย 3 ฤดูกาล ปี 2559-2562 โดยพีพีทีวี ซื้อลิขสิทธิ์สำหรับถ่ายทอดสดทางฟรีทีวียาว 3 ปีเช่นกัน

ขณะที่ช่องวันและจีเอ็มเอ็ม25 ในเครือจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ต่างประกาศแผนลงทุนคอนเทนท์ระดับ 1,000-2,000 ล้านบาทต่อปี เพื่อช่วงชิงเรทติ้งเกาะกลุ่มผู้นำ ซึ่งขยับขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี

หากพิจารณาแผนลงทุนของกลุ่มที่ยังไม่จ่ายเงินประมูลงวดที่3 เชื่อว่า“ทุกช่อง”อยู่ในฐานะเดินหน้าต่อ แต่ในมุมของการใช้สิทธิฟ้องคดีเพื่อโอกาสชะลอจ่ายเงินงวดที่3 หวังนำเม็ดเงินไปสู้ศึกแข่งขันในสมรภูมิทีวีดิจิทัล ก็ต้องเดินหน้าไปพร้อมกัน