นับหนึ่งสู้กับวิบากกรรม

นับหนึ่งสู้กับวิบากกรรม

นับเป็น “วิบากกรรม” ของ พระเทพญาณมหามุนี

 หรือ “พระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย โดยแท้ ที่ต้องเผชิญกับ ข้อกล่าวหาทั้งทางโลกและทางพระธรรมวินัยอย่างร้ายแรง

หลังจากถูกศาลอาญาออกหมายจับให้มารับทราบข้อกล่าวหา สมคบและร่วมกันฟอกเงินและรับของโจร กรณีรับเช็คจาก ศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธาน สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด ผู้ต้องหายักยอกทรัพย์สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นฯ

แต่ก็ยังดีที่ผู้บังคับบัญชาระดับสูงในรัฐบาล ตั้งแต่ “ลุงตู่”พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า “คสช.”พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายารมว.ยุติธรรม ต่างเห็นพ้องต้องกันว่า สถานการณ์ที่เป็นอยู่ ทั้งกรณีการตั้งป้อมค่าย การสร้างเครื่องกีดขวาง การมีญาติโยมจำนวนมากปฏิบัติธรรมอยู่ในวัด เสี่ยงจะเกิดเหตุรุนแรง จึงเบรกหมายค้นเข้าจับกุมพระธัมมชโย แล้วหันมาใช้วิธีละมุนละม่อมแทน นั่นคือ ประสานกับฝ่ายปกครองสงฆ์ ให้ช่วยเจรจา

จนนำมาสู่การหารือ 4 ฝ่าย คือพระเทพรัตนสุธี เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี เจ้าอาวาสวัดเขียนเขต ผู้อำนวยการสำนักพระพุทธศาสนา (พศ.) พ.ต.ท.สมบูรณ์ สารสิทธิ รองอธิบดีดีเอสไอ และตัวแทนวัดพระธรรมกาย

เบื้องต้น.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดี ดีเอสไอ เผยว่าตัวแทนพระธัมมชโย ยื่นเงื่อนไขให้มีการประกันตัวทันที ส่วนแพทย์ที่จะเข้าตรวจอาการอาพาธนั้น ขอให้ใช้แพทย์ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าการแจ้งข้อกล่าวหา เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี จะต้องเข้าร่วมในการแจ้งข้อกล่าวหาด้วย แต่ก็ยังไม่ใช่ข้อยุติ เพราะต้องนำกลับไปหารือกับพระธัมมชโยอีกครั้ง ทั้งยังจะต้องมีการหารือกันอีกจนกว่าจะได้ข้อยุติ เพื่อนำพระธัมมชโยเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมให้ได้

ถามว่าทำไมต้องมีการเจรจาต่อรอง โดยเฉพาะ ประเด็นต้อง “ให้ประกันตัวทันที

คำตอบ อาจอยู่ที่พระราชบัญญัติ คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 แก้ไขเพิ่มเติมพ.ศ.2535มาตรา 29ระบุว่า พระภิกษุรูปใดถูกจับโดยต้องหาว่ากระทำความผิดอาญา เมื่อพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการไม่เห็นสมควรให้ปล่อยชั่วคราว และเจ้าอาวาสแห่งวัดที่พระภิกษุรูปนั้นสังกัดไม่รับมอบตัวไว้ควบคุม หรือพนักงานสอบสวนไม่เห็นสมควรให้เจ้าอาวาสรับตัวไปควบคุม หรือพระภิกษุรูปนั้นมิได้สังกัดในวัดใดวัดหนึ่ง ให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจจัดดำเนินการให้พระภิกษุรูปนั้นสละสมณเพศเสียได้

มาตรา 30 ระบุว่า เมื่อจะต้องจำคุก กักขังหรือขังพระภิกษุรูปใดตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจหน้าที่ ปฏิบัติการให้เป็นไปตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล มีอำนาจดำเนินการให้พระภิกษุรูปนั้นสละสมณเพศเสียได้ และให้รายงานให้ศาลทราบถึงการสละสมณเพศนั้น

ที่สำคัญ ต้องถามต่อว่า กรณีพระธัมมชโย เข้าข่ายหรือยัง คำตอบจากดีเอสไอ ก็คือ เมื่อพระธัมมชโยไม่ได้รับประกัน และถูกคุมขัง เมื่อนั้นต้องถูกสละสมณเพศตามพ.ร.บ.สงฆ์

อย่างไรก็ตาม หลังการต่อรองรับทราบข้อกล่าวหาเสร็จสิ้น จากนั้นถือว่านับหนึ่งในเกมต่อสู้คดีอาญาร้ายแรง อย่างข้อหา “สมคบและร่วมกันฟอกเงินและรับของโจร” จนกว่าคดีจะถึงที่สุด

แต่วิบากกรรมของพระธัมมชโย ไม่หมดแต่เพียงเท่านั้น เพราะยังมีบทลงโทษตาม‘พระวินัย’อีกด้วย

‘พระวินัย’คือ กฎระเบียบข้อบังคับที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ เพื่อป้องกันการละเมิดและการกระทำผิดของพระภิกษุสงฆ์ เมื่อใดกระทำผิดศีล ศีลขาด หรือ อาบัติ จะมีบทโทษเอาไว้ด้วย

ในที่นี้ ขอยกเอาเฉพาะครุกาบัติคืออาบัติหนัก ขั้น อาบัติปาราชิก เป็นอาบัติขั้นสูงสุดของพระสงฆ์ ทำให้ขาดจากการเป็นพระทันที ไม่ว่ามีผู้รู้เห็นหรือไม่

มี 4 กรณี คือ เสพเมถุนหมายถึง การร่วมสังวาสกับคนหรือสัตว์, ถือเอาทรัพย์ที่เจ้าของไม่ได้ให้มาเป็นของตนเช่น การขโมยทรัพย์สินของผู้อื่น การพรากกายมนุษย์จากชีวิตหมายถึง การฆ่ามนุษย์ให้ตาย การกล่าวอวดอุตริมนุสธรรมหมายถึง การอวดอ้างคุณวิเศษที่ไม่มีในตน

แน่นอน ความศักดิ์สิทธิ์ของโทษพระวินัย ย่อมอยู่ที่พระสงฆ์ผู้ปกครองตามลำดับชั้น ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไปนับจากนี้ แต่เท่าที่ฟังจากกระแสข่าว ดูเหมือนยังต้องรอฟังคำตัดสินของศาลจนถึงที่สุด ว่า พระธัมมชโยผิดจริงตามข้อกล่าวหาหรือไม่

อย่างนี้ใครเป็นพระธัมมชโยต่อรองได้ก็ต้องต่อรอง ว่าจะเข้ามอบตัวอย่างไรดี เพราะต้องต่อสู้กับทั้งคดีทางโลกและทางธรรม ที่ “ร้าย-แรง” พอกัน