จีนปกป้องหยวนเหมือน การชก‘อาลีvsโฟร์แมน’

จีนปกป้องหยวนเหมือน การชก‘อาลีvsโฟร์แมน’

ขอไว้อาลัยการเสียชีวิตของนักชกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก มูฮัมหมัด อาลี ที่เสียชีวิตในวันที่ 3 มิถุนายนที่ผ่านมา

 ด้วยการเปรียบเทียบการชกของ อาลีกับจอร์จ โฟร์แมนในปี 1974 กับสงครามการเงินระหว่างเงินหยวนของจีนและดอลลาร์สหรัฐที่ยังดำเนินอยู่

อาลีล้าเวทีมานานจากที่ต้องติดคุกโทษฐานหนีทหาร เพราะว่าเขาไม่ต้องการไปรบในสงครามเวียดนาม เนื่องจากมันขัดกับหลักศาสนามุสลิมที่เขามีศรัทธา

ส่วนโฟร์แมนหนุ่มกว่าและฟิตกว่ามาก หมัดหนักมาก ประเภทออกหมัดทีโป้งเดียวจอด

อาลีรู้ว่าตัวเองเป็นรอง กำลังก็ด้อยกว่าจึงวางยุทธวิธีการต่อยมวยที่ไม่เคยมีใครใช้มาก่อนคือ ตั้งรับ หลังพิงเชือก ให้คู่ต่อสู้ออกรัวหมัดเพื่อตัดกำลัง แล้วคอยเผด็จศึกในยกท้ายๆ หมายความว่าอาลีต้องมั่นใจความฟิตของตัวเองพอสมควร ว่าจะสามารถทนต่อพายุหมัดของโฟร์แมนได้อย่างน้อย 6-7 ยกขึ้นไป ซึ่งก็

เป็นไปตามคาดโฟร์แมนเปิดฉากเดินเข้าหาอาลี ลุยดะคลุกทั้งวงในวงนอกโดยหวังน็อคลูกเดียว อาลีค่อยๆ ตีกรรเชียงถอย พอถอยได้ทีก็ปักหลัก แอ่นหลังเข้าพิงเชือกเพื่อพัก ตั้งการ์ดอย่างดีเพื่อรับหมัดที่เข้ามาเป็นพายุของโฟร์แมน

มาถึงยกที่ 6-7 โฟร์แมนเริ่มอ่อนล้าลงไป แต่หมัดยังหนักอยู่ ในขณะที่อาลีตั้งรับสะบักสะบอมเพราะว่าโดนหมัดจนน่วม แต่ยังฝืนยืนหยัด เพราะว่าใจเกินร้อย

มายกที่ 8 ซึ่งเป็นยกสุดท้าย สิ่งที่ไม่มีใครคาดฝันได้เกิดขึ้น โฟร์แมนเดินเข้าหาอาลีเพื่อบดขยี้เหมือนเดิม แต่เขามีอาการแกว่งอย่างเห็นได้ชัด ปล่อยหมัดเหมือนคนว่ายน้ำแบบกำลังจะจมน้ำตาย แต่ไม่ปล่อยโอกาสให้ผ่านไปอาลีฉวยจังหวะที่โฟร์แมนเผลอและอ่อนแรง ทิ่มสองสามหมัดใส่หน้าและที่ศีรษะของโฟร์แมน พร้อมกับรัวหมัดชุด จนโฟร์แมนล้มลงไป กรรมการนับ 10 แพ้น็อคไปอย่างเหลือเชื่อ

เปรียบสงครามการเงินระหว่างจีนและสหรัฐกำลังดำเนินไปเหมือนคู่ชกระหว่างอาลีและโฟร์แมน สหรัฐได้เปรียบที่แข็งแรงกว่าเพราะว่ามีดอลลาร์เป็นเงินสกุลหลักของโลก กะถล่มจีนให้ย่อยยับผ่านตลาดหุ้น ส่วนจีนอ่อนแอกว่า ค่าเงินหยวนไม่ได้ลอยตัว เศรษฐกิจมีขนาดเล็กกว่าสหรัฐ แต่จีนได้เปรียบที่เป็นเจ้าหนี้สหรัฐ และเป็นผู้ลงทุนระดับต้นๆ ในสหรัฐ

ที่สำคัญสหรัฐกำลังชกกับจีนในบ้านของจีน ในกฎกติกาของจีน เพราะว่าบริษัทใหญ่ของสหรัฐอยู่ในจีนและอยู่ในตลาดหุ้นจีนทั้งนั้น ตอนนี้กำลังขับเคี่ยวกันอยู่ ดูว่าใครดีใครอยู่ สหรัฐใช้กระสุนไปจนเกือบหมดแล้ว ดังเห็นได้จากการทำ QE ไปแล้ว 3 รอบ กดดอกเบี้ย 0% และมีหนี้ 18 ล้านล้านดอลลาร์ รวมทั้งหนี้นอกงบอีก 80 ล้านล้านดอลลาร์

จีนล็อคเม็ดเงินไม่ให้กองทุนฝรั่งขายหุ้นได้เสรี เหมือนอาลีใช้แทคติกล็อคและกดคอโฟร์แมนทุกครั้งที่คลุกวงใน ให้โฟร์แมนเหนื่อยและทำอะไรไม่ถนัด จีนยอมให้หุ้นตกเทียบเท่ากับยอมให้โฟร์แมนถลุงลำตัวจนน่วมไปหมด แต่จีนน่วมคือหุ้นตกจากดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตที่ 5,100 กว่าจุดทรุดลงจนต่ำกว่า 3,000 ไปแล้วภายในระยะเวลา 2 เดือนเครึ่งที่ผ่านมา แต่สหรัฐก็น่วมเพราะว่าเศรษฐกิจจีนขับเคลื่อนโดยบริษัทต่างชาติไม่ว่าจะเป็น Apple GM ทั้งนั้น ถ้าจีนเจ็บ บริษัทสหรัฐทั้งอยู่ในตลาดและนอกตลาดก็เจ็บตัวด้วยกัน

ท้ายที่สุดเกมจะตัดสินว่าใครจะน่วมกว่ากัน และถือโอกาสน็อค เกมนี้ต้องดูยาวๆ เทียบกับมวยคู่เอกระหว่างอาลีและโฟร์แมน สงครามการเงินระหว่างจีนและสหรัฐตอนนี้อยู่ในยกที่ 6-7 แล้ว อีกยกเดียวจะตัดสินว่าใครจะเป็นจ้าวโลกทางการเงิน เพราะเมื่อหุ้นตกมากๆ หรือสหรัฐอ่อนแอลงไปมาก จีนจะพิมพ์เงินหยวนมากว้านซื้อกิจการของสหรัฐที่กลายเป็นของถูก

ภาพที่คนทั่วไปเข้าใจจากนักวิเคราะห์หรือสื่อของฝรั่งคือ จีนกำลังย่ำแย่ทางเศรษฐกิจและการเงิน ไหนจะตลาดหุ้นตกต่ำลง ไหนจะส่งออกทรุด ไหนจะอสังหาริมทรัพย์ย่ำแย่ ไหนจะจีดีพีร่วง จึงจำเป็นต้องลดค่าเงินหยวนอย่างรุนแรงเพื่อที่จะหวังพึ่งพาการส่งออกและกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งความจริงต้องเข้าใจว่าจีนและสหรัฐกำลังซัดกันอยู่ในสงครามการเงิน เป็นการต่อสู้ระหว่างเจ้าหนี้จีนและลูกหนี้สหรัฐ โดยที่จีนมีเงินทุกสำรองระหว่างประเทศมากที่สุดในโลกถึงเกือบ 4 ล้านล้านดอลลาร์ และสหรัฐแทบจะไม่มีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศเพราะว่ามีแต่หนี้ เงินหยวนมีทองคำมหาศาลหนุน ในขณะที่ดอลลาร์มีแต่การลงทุนหรือตลาดตราสารการเงินที่เป็นกระดาษหนุน จีนมีภาคการผลิต ในขณะที่สหรัฐอยู่ได้ด้วยการก่อหนี้เพื่อที่จะบริโภค

ปัจจัยพื้นฐานต่างกันโดยสิ้นเชิง ที่สหรัฐได้เปรียบอยู่เรื่องเดียวคือมีดอลลาร์เป็นเงินสกุลหลักของโลก และสามารถก่อหนี้ได้โดยไม่มีความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน โดยที่สหรัฐก่อสงครามการเงินก่อน โดยใช้ลูกไม้เดิมๆ คืออัดดอลลาร์เข้าไปในเศรษฐกิจจีน เพื่อสร้างฟองสบู่การเงิน โดยมีนักลงทุนจีนเล่นตามน้ำ ทำให้หุ้นจีนพุ่ง 150% ในช่วงหนึ่งปีกว่าๆ ที่ผ่านมาก่อนที่จะถอนการลงทุนดอลลาร์กลับอย่างฉับพลัน เพื่อส่งผลให้หุ้นจีนทรุดในกลางเดือนมิถุนายน โดยตกต่ำไปแล้วประมาณ 30%