ประเทศไทยแพ้แน่ๆ

ประเทศไทยแพ้แน่ๆ

ผมเองได้ยินประโยคนี้จากคนไทยหลายๆคนที่มองว่าหลังจากที่เราประสบปัญหาทางการเมืองมาตลอด 10 ปีที่ผ่านมา

เป็นสาเหตุให้ประเทศไทยมีพัฒนาการล่าช้ากว่าประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มอาเซียนด้วยกัน โดยมองว่าประเทศไทยไม่ได้มี Mega project ที่จะผลักดันให้ประเทศไทยเจริญเติบโตก้าวหน้าและสามารถสร้างความสามารถในการแข่งขันได้ดีกว่าประเทศเพื่อนบ้าน 

ผมเองมีโอกาสเดินทางไปในประเทศเพื่อนบ้านรอบๆข้างเราทุกเดือนเพราะมีธุรกิจอยู่ในประเทศกลุ่ม CLMV เรียกว่า อัพเดทข้อมูลทางธุรกิจและการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง มองว่าสิ่งที่น่ากลับสำหรับคนไทยคือ เราไม่ค่อยอัพเดทข้อมูลหรือรับรู้การพัฒนาของประเทศเพื่อนบ้านเราเท่าไหร่

ข้อมูลต่างๆก็เป็นข้อมูลที่ค่อนข้างเก่าและที่สำคัญ เรามักจะคิดไปเองว่าเพราะเรามีปัญหาการเมือง ทำให้เศรษฐกิจของเราเติบโตต่ำ ก็ต้องยอมรับว่า เป็นปัญหาจริงๆแต่มันก็ไม่ได้ถึงขนาดที่ทำให้เราจะต้องแพ้แน่ๆแต่อย่างใด 

เรามาดูพื้นฐานของประเทศไทยโดยเฉพาะในมุมของ Infrastructure กันดีกว่า 

ต้องบอกว่า บ้านมีพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาตลอด 40 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ระบบถนนของเราที่ขยายออกไปทั่วทุกภูมิภาคและลงไปในระดับหมู่บ้านขนาดของถนนทางหลวงแผ่นดินที่มาตรฐานค่อนข้างดี มีขนาดตั้งแต่ 4-8 เลน ระบบทางด่วนในกรุงเทพฯ ที่ขยายออกไปจนกลายเป็น Network เชื่อมโยงการเดินทางจากทุกทิศ รวมถึงระบบทางด่วนระหว่างภูมิภาคกรุงเทพฯ-ชลบุรี กรุงเทพฯ-อยุธยา กรุงเทพฯ-สระบุรี กรุงเทพฯ-พระราม 2 เพื่อลงสู่ภาคใต้ 

ด้านระบบรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ มาถึงวันนี้ก็ใช้มามากกว่า 15 ปีแล้วและรวมระยะทุกระบบก็ร่วม 70 กิโลเมตรและกำลังจะเกือบ 100 กิโลเมตรภายในปีนี้ และภายใน 5 ปีจะกลายเป็น 250 กิโลเมตร ระบบโทรศัพท์พื้นฐาน หรืออินเตอร์เน็ต 3G และ 4G ก็มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว 

แต่สิ่งที่น่าจะเป็นปัญหาใหญ่จริงๆคือระบบการขนส่งระบบรางที่มีการพัฒนาที่ช้ามากหรือเรียกว่าหยุดนิ่งเลยก็ว่าได้ รางรถไฟบ้านเราก็เป็นรางกว้าง 1 เมตรซึ่งเป็นระบบเก่าสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นรางเดี่ยวใช้หัวรถจักรดีเซล ส่วนท่าเรือน้ำลึกบ้านเราก็มี 2 แห่ง สามารถเชื่อมโยงนิคมอุตสาหกรรมทางภาคตะวันออกทั้งที่แหลมฉบังและระยอง 

ขณะที่กลับมามองเพื่อนบ้านรอบๆตัว ยกเว้น สิงคโปร์ และมาเลเซีย ต้องบอกว่า บ้านเราดีกว่าหมดเลยเรียกว่าทิ้งห่างกันหลายช่วงตัว เวียดนามที่มีประชากร 90 ล้านคน เมืองใหญ่อย่างฮานอย โฮจิมินห์ก็เพิ่งเริ่มโครงการรถไฟฟ้าใต้ดินสายแรกซึ่งอีก 5 ปีจึงจะเสร็จ ส่วนเมียนมา ลาว และกัมพูชา ไม่มีแน่นอน 

สำหรับสนามบินที่ฮานอย เพิ่งทำ Terminal ใหม่เสร็จมาได้ปีกว่าๆพร้อมกับตัดถนนใหม่ไปสนามบิน ทำให้นึกว่าอยู่เกาหลีอย่างไรอย่างนั้น ส่วนสนามบินที่โฮจิมินห์ก็เป็นสนามบินเก่าแต่ปรับปรุงใหม่ซึ่งกำลังวางแผนว่าจะสร้างสนามบินใหม่อยู่ ที่เวียดนามมีความโดดเด่นที่ผังเมืองครับ คือ เขาจะจัดเป็นโซนต่างๆ อย่างชัดเจนเรียกว่าในอนาคต จะง่ายกับการพัฒนา

เมื่อต้นปีผมเดินทางไปมะนิลาเมืองหลวงของฟิลิปปินส์ต้องบอกว่า น่าตกใจ เพราะระบบทางด่วนในกรุงมะนิลาอยู่ระหว่างก่อสร้าง สนามบินแห่งชาติก็เก่ามากเรียกว่าดอนเมืองบ้านเราใหญ่และดีกว่าเยอะ ความที่ประเทศเป็นหมู่เกาะ ทำให้ระบบถนนระบบรางแทบจะเป็นไปได้ยากที่จะเชื่อมเกาะเข้าหากันได้ แต่ที่น่าสนใจคือประชากรครับ จำนวน 100 ล้านคนและใช้ภาษาอังกฤษกันได้ทุกคน ผนวกกับความขยันขันแข็ง จะเห็นได้ว่าการที่เรามีระบบสาธารณูปโภคที่เรียกได้ว่าล้ำหน้ากว่าเพื่อนบ้านเราคือความได้เปรียบอย่างมากและเป็นแต้มต่อกว่า 

ดังนั้นการจะพัฒนาให้ทันกัน ต้องใช้เวลาและเงินทุนมหาศาลครับ จึงเป็นความได้เปรียบของเราแบบที่คนไทยไม่ค่อยได้รับรู้เท่าไหร่เพราะถ้าจะทำให้ได้เท่ากับเมืองไทยในจุดที่เราเป็นอยู่คงต้องใช้เวลาอย่างน้อย 10 ปีครับและเงินทุนหลายล้านๆบาทครับซึ่งไม่มีทางเป็นไปได้ที่จะทำกันเพราะทุกประเทศต้องใช้งบประมาณแผ่นดินไปใช้ในเรื่องอื่นๆด้วยแต่ก็ไม่ได้บอกว่าเราจะได้เปรียบไปเสียหมดนะครับ 

เพราะปัญหาของเราตอนนี้น่าจะเป็นเรื่องน้ำ กับ ไฟฟ้า บ้านเราใช้ไฟฟ้าแต่ไม่ให้สร้างโรงไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นจากการสร้างเขื่อน จากถ่านหิน หรือจากก๊าซ หรือนิวเคลียร์ เพราะกลัวมลภาวะและสิ่งแวดล้อม ผมเองไปประเทศอย่างเดนมาร์กเขาสร้างโรงงานไฟฟ้ากันใจกลางเมืองหลวงเป็นโรงงานที่เกิดจากการนำขยะมาผลิตเป็นไฟฟ้าเลย 

ถามว่ามันจะเกิดมลภาวะบ้างไหม มันคงต้องมีบ้างแต่เทคโนโลยีวันนี้มันอยู่ในระดับที่ยอมรับกันได้ ถ้าเรามัวแต่เชื่อว่ามันจะทำลายสิ่งแวดล้อมอีกหน่อยเราคงต้องประสบปัญหากับเรื่องไฟฟ้าดับกันวันละหลายๆรอบแน่นอน 

แล้วจะรู้ว่ามันจะมีผลกระทบมากกว่าแค่ไม่มีไฟฟ้าใช้แต่จะ ไม่มีงานทำด้วยครับ