“โรคกลัวเฟดขึ้นดอกเบี้ย”กำลังระบาดไปทั่วโลก

“โรคกลัวเฟดขึ้นดอกเบี้ย”กำลังระบาดไปทั่วโลก

หากเปรียบเทียบกับ “ไวรัสซิกา” ที่กำลังเริ่มระบาดไปทั่วโลก และทำให้ผู้คนในหลายประเทศหวาดกลัวกันอยู่ในขณะนี้

การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (เฟด) ก็ทำให้เกิดความหวาดกลัวแพร่กระจายไปในหมู่นักลงทุนทั่วโลกเช่นเดียวกัน โดยมีสาเหตุหลักๆ ดังนี้ครับ

หนึ่ง เงินดอลลาร์สหรัฐ มีการใช้และเทรดกันเป็นจำนวนมาก

คาดกันว่า เงินดอลลาร์สหรัฐมีการใช้และเทรดกันทั่วโลกมากกว่า 80% ของเงินทุกสกุลรวมกันทั่วโลก ดังนั้นในอดีต คุณผู้อ่านอาจจะเห็นฤทธิ์เดชของมาตรการ QE1, QE2, QE3 ของสหรัฐ ที่ลากเอาราคาทองคำไปทะลุ 1,900 ดอลลาร์ต่อทรอยออนซ์ และทำให้ราคาทองคำในบ้านเราทะลุเกิน 27,000 บาทต่อบาททองคำ ยังไม่นับรวมดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลกที่ทำลายสถิติสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ในหลายๆประเทศ (ประเทศไทย..ยังไม่ทำลายสถิติสูงสุดนะครับ)

ทุกวันนี้ ทั้งกลุ่มประเทศยูโรโซน ญี่ปุ่น รวมทั้งไทยด้วยก็พยายามอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบเช่นเดียวกัน..แต่ไม่ได้ทำให้ตลาดทุนโลกคึกคักแต่ประการใด นั่นเป็นเพราะระบบการค้าขายของโลกกว่า 80% ใช้เงินดอลลาร์ พอเงินยูโรหรือเงินเยนอ่อนค่า เพราะมีมาตรการอัดเม็ดเงินเข้าระบบ ในทางตรงกันข้ามก็จะไปทำให้เงินดอลลาร์แข็งค่า ประเทศส่วนใหญ่ส่งสินค้าออกเป็นดอลลาร์ ก็จะขายสินค้าได้น้อยลงเนื่องจากค่าเงินดอลลาร์แข็งขึ้น

สอง ตลาดทุนทั่วโลกหวั่น เงินทุนไหลออก

ในปลายปี 2558 ที่ผ่านมา รัฐบาลจีนที่เคยมีเงินสำรองระหว่างประเทศสูงที่สุดในโลกคือกว่า 4 ล้านล้านดอลลาร์ ประสบกับปัญหาเงินทุนไหลออกครั้งใหญ่ ในเดือนธันวาคม 2558 พบว่า เงินทุนสำรองระหว่างประเทศลดลงกว่าหนึ่งแสนล้านดอลลาร์ ในเดือนมกราคม 2559 การลดลงก็ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากคิดแบบง่ายๆว่าปัญหาเงินทุนไหลออกเรื้อรัง และยังเป็นอย่างนี้ต่อไปทุกเดือน เพียง 40 เดือนหรือ 3 ปีกว่าเท่านั้น เงินสำรองระหว่างประเทศของจีนก็จะหมดลง แต่ก่อนถึงจุดนั้น ถ้ายังไม่ได้รับการแก้ไข...เศรษฐกิจจีน...สาหัสแน่

สาเหตุหลักของเหตุการณ์ข้างต้นก็มาจาก โรคความกลัวเฟดขึ้นดอกเบี้ย” ซึ่งถ้าเฟดขึ้นดอกเบี้ยจริงๆ ก็จะทำให้มีเงินทุนไหลออกจากทุกประเทศ กลับเข้าไปยังสหรัฐเพื่อหาผลตอบแทนที่สูงกว่า และน่าจะเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ดัชนีตลาดหุ้นผันผวนกันไปทั่วโลก

สาม แล้ว เฟด...จะขึ้นดอกเบี้ยปีนี้ไหม?

การประชุมเฟดในครั้งต่อไปคือ วันที่ 14-15 มิถุนายนนี้ ซึ่งในทุกครั้งจะมีการพิจารณาอัตราดอกเบี้ยที่ใช้อ้างอิงของธนาคากลางสหรัฐอเมริกา (Fed Fund Rate) ซึ่งในการประชุมทุกครั้งก็จะมีการรีวิวตัวเลขจำนวนมหาศาล ซึ่งมักจะมีดัชนีต่างๆ ที่เป็นตัวชี้วัดเศรษฐกิจในมิติต่างๆ มาประกอบในการพิจารณาอาทิเช่น

Sticky Price CPI ซึ่งเป็นหนึ่งในดัชนีที่ใช้วัดราคาสินค้าผู้บริโภค โดยปกติแล้วเฟดจะประมาณการไว้ว่า ถ้าขึ้นไม่ถึง 2% ก็ยังอยู่ในอัตราที่ควบคุมได้ แต่ถ้าสูงกว่านี้..ก็อาจส่งผลให้ต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ย เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคมที่ผ่านมา ปรากฏว่าตัวเลขออกมาที่ 3.1% ดังนั้นตัวเลขนี้จึงไปสนับสนุนการขึ้นอัตราดอกเบี้ย

National Financial Conditions Index ดัชนีตัวนี้จะรวมเอาตัวเลขต่างๆ ในตลาดการเงิน สภาพการปล่อยสินเชื่อต่างๆ ถ้าดัชนีตัวนี้ออกมาสูงกว่า 1 ก็จะแสดงว่าสภาพตลาดการเงินอยู่ในสภาวะที่..ตึงตัว ดัชนีล่าสุดที่ออกมาอยู่ที่ -0.64 นั่นแสดงให้เห็นว่า ตลาดการเงินของอเมริกายังอยู่ในสภาวะที่ผ่อนคลาย ยังมีผู้คนกู้เงินไปลงทุนไม่มากนัก สภาพคล่องสูง ดังนั้นดัชนีตัวนี้จึงไปสนับสนุนให้...ไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ย

Employment Cost Index ดัชนีตัวนี้มาจากกระทรวงแรงงานของอเมริกา และในไตรมาสหนึ่งของปีนี้ ตัวเลขที่ออกมาคือ 1.9% ซึ่งส่งผลบวกต่อการตัดสินใจชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ย

Productivity ซึ่งเป็นดัชนีที่แสดงภาพความแข็งแรงของภาคการผลิตของสหรัฐ ตัวเลขของไตรมาสหนึ่งที่ออกมาพบว่า -1% ดัชนีจึงแสดงภาพภาคการผลิตที่ยังไม่เข้มแข็งนัก ตัวเลขล่าสุดจึงไปสนับสนุนการชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ย

The Atlanta Fed’s wage growth tracker ดัชนีตัวนี้เป็นตัวแสดงสภาพการจ้างงานในรัฐแอตแลนต้า ตัวเลขล่าสุดในเดือนเมษายนพบว่าออกมาที่ 3.4% ซึ่งเป็นตัวเลขสูงที่สุดนับจากเดือนกุมภาพันธ์ 2552 หรืออาจจะพูดง่ายๆ ได้ว่า สภาพการจ้างงานในรัฐแอตแลนต้า..ดีที่สุด นับจากวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2551

สี่ เรื่องของเฟด...เรื่องของเหยี่ยวกับพิราบ

พูดกันตรงๆ คณะกรรมการที่จะตัดสินการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงของธนาคารกลางสหรัฐก็คือ คณะกรรมการที่เรียกว่า Federal Open Market Committee (FOMC) ที่มีคณะกรรมการประกอบไปด้วยกรรมการจำนวนทั้งสิ้น 12 คน

คณะกรรมการในชุดนี้น่าจะแบ่งเป็น สายพิราบ (กลุ่มที่ชอบใช้ความประนีประนอมกับตลาด ให้โอกาสกับตลาด) จำนวน 5 คน โดยมีนางเจเน็ต เยลเลน (Janet Yellen) ประธาน FOMC เป็นตัวแม่ของสายพิราบ สายเหยี่ยว (กลุ่มที่ชอบใช้มาตรการที่เด็ดขาด ไม่ชอบผ่อนปรนกับตลาด) จำนวน 4 คน โดยมีนายแสตนลีย์ ฟิชเชอร์ (Stanley Fischer) อดีตรองผู้อำนวยการใหญ่ไอเอ็มเอฟ...เป็นตัวพ่อของสายเหยี่ยว และสายกลางอีก 3 คน รวมเป็น 12 คน ในเวลานี้ตัวเลขหลายๆ ตัวที่ออกมายังคงให้น้ำหนักไปทาง “สายเหยี่ยว” อยู่ ดังนั้นโอกาสการขึ้นดอกเบี้ยในการประชุม FOMC ในวันที่ 14-15 มิถุนายนนี้ จึงเป็นไปได้ที่จะมีโอกาสขึ้นอัตราดอกเบี้ยค่อนข้างสูง

หากเป็นเช่นนั้นจริง ตลาดหุ้นทั่วโลก...ผันผวนแรงเป็นแน่ครับ คุณผู้อ่านที่เป็น นักลงทุนจึงควรระวังไว้หน่อยนะครับ  โชคดีในการลงทุนนะครับ)

------------------

ดร.วีรพงษ์ ชุติภัทร์

วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต