แรงงานเมียนมากับเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน

แรงงานเมียนมากับเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน

ขนาดของแรงงานเมียนมาในประเทศไทย

แรงงานชาวเมียนมา หรือที่คนไทยมักเรียกกันติดปากว่า “แรงงานพม่า” มาเป็นเวลานานนั้น หากพิจารณาในมุมของเศรษฐกิจของไทยแล้ว จัดว่าเป็นกลุ่มแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีความสำคัญไม่น้อยในการผลิตสินค้าและบริการต่างๆ ให้กับคนไทยในปัจจุบัน หากนับเฉพาะจำนวนแรงงานที่อยู่ในสถานะเข้าเมืองถูกกฎหมาย แรงงานกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ผู้ประกอบการของไทยเรารับเข้ามาและในขณะเดียวกันเขาเองก็ย้ายมาเพื่อหางานทำ จัดว่าเป็นกลุ่มที่มีจำนวนมากที่สุดเมื่อเทียบกับแรงงานจากกัมพูชาและลาว (ในส่วนของแรงงานเมียนมาที่เข้าเมืองผิดกฎหมายนั้นผู้เขียนขอละไว้ เนื่องจากไม่มีข้อมูลที่เพียงพอ)

โดยแรงงานเมียนมาที่มีสถานะถูกกฎหมายนั้นมีอยู่ 2 กลุ่มใหญ่ๆ ซึ่งตัวเลขการสำรวจจากข้อมูลของกระทรวงแรงงาน ณ เดือนเมษายน 2559 ข้อมูลล่าสุดที่ไม่รวมยอดจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว One Stop Service (เมียนมา ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) ทั่วประเทศ พบว่าแรงงานเมียนมา ตามมาตรา 9 ประเภทพิสูจน์สัญชาติ มีจำนวนอยู่ที่ 890,609 คน และตามมาตรา 9 ประเภทนำเข้าตาม MOU มีจำนวนอยู่ที่ 152,308 คน นับรวมแรงงานชาวเมียนมาได้ราว 1 ล้านคน จากแรงงานต่างด้าวทั้งหมดในมาตรา 9 (รวมทั้งเมียนมา ลาว และกัมพูชา) ทั้งหมดจำนวน 1,377,329 คน

และจากข้อมูล ณ เดือนเดียวกันในแต่ละปีพบว่า ตั้งแต่ 2556 ตัวเลขเหล่านี้มีจำนวนยอดคงเหลือในไทยที่ใกล้เคียงกันมาตลอด โดยแรงงานชาวเมียนมาที่เข้าเมืองถูกกฎหมายเหล่านี้ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล และบางจังหวัดในภาคใต้ ทำมาหากินในกิจการประเภทบริการต่างๆ กิจการที่เกี่ยวกับการก่อสร้าง และการผลิตในภาคเกษตร ในจำนวนนี้ทางกระทรวงแรงงานได้ทำการบันทึกไว้ว่ามีเพียง 1,872 คนเท่านั้น ที่มีตำแหน่งงานที่สามารถนับเป็นการทำงานกึ่งฝีมือและมีฝีมือ ที่เหลือนั้นเป็นประเภทงานไร้ฝีมือที่อนุญาตให้ทำงานตำแหน่งกรรมกร และคนรับใช้ในบ้าน

โอกาสของแรงงานเมียนมาในเศรษฐกิจไทย

คำถามสำคัญที่น่าจะเป็นกระแสในปัจจุบัน คือ เป็นไปได้หรือไม่ที่แรงงานเมียนมาจะย้ายกลับไปยังประเทศตนเองมากขึ้น โดยเพื่อที่จะคาดเดาคำตอบของคำถามดังกล่าว ผู้เขียนจะพยายามอธิบายว่าเศรษฐกิจของไทยมีความสำคัญมากน้อยแค่ไหนในมุมของแรงงานเมียนมาในปัจจุบัน ซึ่งแน่นอนว่าการเข้ามาของแรงงานเมียนมานั้นมีส่วนช่วยอย่างมากในการเข้ามาเติมเต็มความขาดแคลนของแรงงานในระดับงานประเภทไร้ฝีมือ หรืองานที่อันตรายและมีความเสี่ยงสูงที่คนไทยไม่อยากจะทำสักเท่าไหร่

แต่ปัจจัยสำคัญที่ทำให้แรงงานเมียนมาเหล่านี้ย้ายเข้ามาทำงานในไทยนั้นมีหลายปัจจัย อาทิ ค่าแรง อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงกว่าโดยเปรียบเทียบกับความใกล้ทั้งทางภูมิศาสตร์และวัฒนธรรม การที่ไทยเรามีชุมชนหรือเน็ตเวิร์คแรงงานเมียนมาที่ใหญ่ทำให้การเข้าถึงข้อมูลของแรงงานในกลุ่มนี้รวดเร็ว ในส่วนนี้ผู้เขียนจะขอหยิบยกบางประเด็นที่น่าจะสะท้อนโอกาสของแรงงานเมียนมามากที่สุด

ค่าจ้าง และเงินส่งกลับ ในเดือนกันยายน 2558 แม้ว่าเมียนมาจะประสบความสำเร็จในการประกาศใช้กฎหมายค่าจ้างขั้นต่ำ เพื่อสร้างความได้เปรียบในการผลิตและกระตุ้นการลงทุนของต่างชาติในอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม หลังจากการต่อสู้ยืดเยื้อมานานระหว่างลูกจ้างและนายจ้างเจ้าของโรงงาน (จีนและเกาหลีใต้) ตั้งแต่ปี 2556 แต่อัตราค่าจ้างนั้นอยู่ที่ 3,600 kyat (2.80 ดอลลาร์) ต่อการทำงาน 8 ชั่วโมงต่อวัน คิดเป็นเงินไทยราว 100 บาทต่อวัน ซึ่งถือว่ายังน้อยกว่าค่าจ้างขั้นต่ำที่ไทยให้อยู่มากในส่วนของเงินส่งกลับ จากข้อมูลประมาณการของธนาคารโลกปี 2558 แรงงานเมียนมาที่มาทำงานในไทยนั้นมีการส่งเงินกลับไปยังประเทศของตนคิดเป็นร้อยละ 3-4 ของ GDP ของประเทศเมียนมา หรือราว 1,800 ล้านดอลลาร์

สังคมสูงอายุ ปัจจุบันจากประมาณการขององค์การสหประชาชาติ พบว่าสัดส่วนของแรงงานที่มีอายุอยู่ในช่วง 25-54 ปี ของไทยมีสัดส่วนน้อยลงมาก อันเนื่องมาจากอัตราการเกิดที่น้อยลง ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการจ้างงานและการผลิตของประเทศในระยะยาว ในขณะที่เมียนมานั้นเป็นหนึ่งในประเทศที่ยังคงมีสัดส่วนของกำลังแรงงานในช่วงวัยดังกล่าวที่สูงอยู่ ดังนั้น การทดแทนภาวะขาดแคลนแรงงานบางส่วน โดยการนำเข้าแรงงานชาวเมียนมาน่าจะยังคงมีอยู่ในระยะยาว

การพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาวของเมียนมา ปัจจุบันทั้งไทยและเมียนมามีการกำหนดโครงการที่สำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจในระยะยาวทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นโครงการพัฒนาระบบขนส่งในรูปแบบต่างๆ ของไทย หรือโครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกทวายของเมียนมา ที่หลายๆ คนจับตามอง โดยโครงการทวายนั้นอาจจะมีผลอย่างมากต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจของเมียนมา ซึ่งหากสำเร็จลุล่วงไปได้คาดว่าจะส่งผลให้การลงทุนจากต่างชาติไหลเข้าเมียนมากอปรกับปัจจัยหนุนเพิ่มจากกำลังแรงงานราคาถูกที่ยังอยู่ในวัยหนุ่มสาว และตลาดการบริโภคในประเทศที่ยังมีโอกาสโตอีกมาก โดยผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับไทย คือ บางอุตสาหกรรมในมาบตาพุดอาจมีการย้ายออก ส่งผลให้แรงงานไทยบางส่วนโดยเฉพาะแรงงานไร้ฝีมือตกงาน ในขณะที่แรงงานเมียนมาเองก็อาจจะย้ายกลับไปยังประเทศด้วยเช่นกัน

แต่ทั้งนี้เหตุการณ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ต้องขึ้นอยู่กับเงื่อนไขหลายอย่าง อาทิ ความแน่นอนของนโยบายของรัฐบาลเมียนมาและไทยที่มีต่อการพัฒนาทวาย การพัฒนาระบบการขนส่งและสร้างสาธารณูปโภคที่สำคัญในพื้นที่ ซึ่งจะส่งผลต่อการจัดการด้านต้นทุนค่าขนส่งหากจะทำให้ทวายเป็นศูนย์กลางท่าเรือในภูมิภาค เงื่อนไขเหล่านี้เป็นเรื่องที่ท้าทายและต้องใช้เวลาในการแก้ค่อนข้างนาน

กล่าวโดยสรุป ในมุมมองทางเศรษฐกิจ โอกาสของแรงงานชาวเมียนมาที่เข้ามาทำงานในไทยนั้นยังถือว่ามีอยู่มากในแง่ของมูลค่าที่แรงงานทำได้ ประกอบกับเงื่อนไขและความท้าทายในการพัฒนาเศรษฐกิจของเมียนมานั้นยังมีความซับซ้อนอยู่มาก ดังนั้นในระยะสั้นไทยเราอาจไม่เจอปัญหาการย้ายกลับประเทศของแรงงานเมียนมาที่รุนแรงมากนัก

กลับกันน่าจะเป็นปัญหาการไหลเข้าแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านซะมากกว่า ซึ่งปัญหาที่ทางผู้ดำเนินนโยบายควรจะคำนึงในอนาคตอันใกล้น่าจะเป็นในมุมของ 1) การพัฒนาระบบสวัสดิการเพื่อรองรับแรงงานต่างประเทศที่อาจจะไหลเข้ามาในไทย รวมถึงการวางแผนการจัดการภาระทางการคลังโดยเฉพาะเรื่องนี้ในอนาคต และ 2) การจัดการวางแผนการนำเข้าแรงงานในระยะยาวเพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาอุตสาหกรรม

เพื่อลดปัญหาแรงงานต่างด้าวที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย และปัญหาอื่นๆ จากการใช้แรงงานต่างด้าว อาทิ การเอารัดเอาเปรียบในเรื่องค่าจ้าง ชั่วโมงการทำงานที่มากเกินที่กฎหมายกำหนด การละเมิดสิทธิมนุษยชน และผลกระทบที่อาจจะเกิดกับแรงงานไทยและสังคมไทย

 ---------------------------

อาจารย์ถิรภาพ ฟักทอง

คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์