Start up จะได้ประโยชน์อะไรจาก Venture Capital

Start up จะได้ประโยชน์อะไรจาก Venture Capital

ระยะนี้เราคงได้ยินสื่อต่างๆ พูดถึง Start up กันจนหนาหู ความหมายของ Start up แปลความให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ

ธุรกิจเกิดใหม่ ที่มีการเติบโตแบบก้าวกระโดด สร้างรายได้อย่างมากในช่วงเวลาสั้นๆ สามารถทำซ้ำ ขยายธุรกิจได้ง่าย และต้นทุนไม่สูง แบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ได้ 3 กลุ่มที่ประกอบด้วย กลุ่มที่ 1 Real Startup ส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจที่เกิดขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาในชีวิตประจำวัน (Internet of Things : IoT) เช่น แอพเคลมประกันด้วยตัวเองบนมือถือเมื่อเกิดอุบัติเหตุ (CLAIMDI) หรือการเรียกรถแท็กซี่ผ่านระบบโทรศัพท์สมาร์ทโฟน (GRAB TAXI)

กลุ่มที่ 2 Technology-Startup หมายถึง ผู้ประกอบการที่เริ่มต้นทำธุรกิจ หรือทำธุรกิจอยู่แล้ว และได้นำเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมมาพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ สร้างช่องทางการขาย หรือพัฒนารูปแบบการทำธุรกิจแบบใหม่ ให้ธุรกิจเติบโต โดยมีระยะเวลาในการพัฒนา 2-3 ปี เช่น ปิงซู (Bingsu) น้ำแข็งไส เกล็ดหิมะสไตล์เกาหลีเทรนด์ใหม่ที่กำลังมาแรงสุดๆ หรือ FIT หัวฉีดแก๊สประหยัดพลังงานของนวัตกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ของบริษัท บางกอกบิลเลี่ยน จำกัด

และ กลุ่มที่ 3 Tradition-Startup หมายถึง ผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจในประเภทหรืออุตสาหกรรมเดิม และมีระยะเวลาที่ทำธุรกิจไม่เกิน 3 ปี ซึ่งอาจอยู่ในรูปบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล พัฒนาเข้าสู่ระบบมาตรฐาน หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์ และช่องทางการขายในรูปแบบใหม่ๆ เช่น ลูกชิ้นแช่กะทิสด ที่มีสาขาเฟรนไชส์ทั่วกรุงเทพฯ

Start up เป็นเป้าหมายหลักที่ภาครัฐและเอกชนให้ความสำคัญ และถือว่าเป็นอีกหนึ่งของ “วาระแห่งชาติ” ที่จะต้องช่วยกันสร้างความเข็งแกร่งให้กับผู้ประกอบการกลุ่มนี้ ที่เปรียบเสมือนเป็น “นักรบพันธุ์ใหม่” ที่จะสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจของประเทศทั้งในปัจจุบันและอนาคต

หน่วยงานต่างๆ ทุกภาคส่วนต่างขานรับ จับมือให้ความช่วยเหลือ ทั้งในด้านความรู้และแหล่งเงินทุน โดยเฉพาะเงินทุน ถือเป็นปัญหาหลักของ Start up เพราะในความเห็นของสถาบันการเงินจะมองว่า Start up เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง ขาดประสบการณ์ในการทำธุรกิจ และไม่มีหลักประกันที่จะป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

แต่ข้อดีมากๆ ของ Start up ก็คือมีแนวความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ในการทำธุรกิจ เนื่องจากเป็นหนุ่มสาวคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งก้าวพ้นจากรั้วสถาบันการศึกษา แต่ด้วยปัญหาแหล่งทุน ทำให้แนวคิดทางธุรกิจเหล่านี้ ต้องเป็นเพียงความฝันหรือโครงการบนกระดาษ ที่ต้องขึ้นหิ้งไว้ ไม่สามารถนำมาสานต่อให้เป็นธุรกิจสร้างรายได้ให้กับตัวเองและประเทศชาติได้

ด้วยเหตุดังกล่าวข้างต้น SME Development Bank ในฐานะสถาบันการเงินของรัฐจึงได้รับมอบหมายภารกิจสำคัญจากรัฐบาล ในการช่วยสนับสนุนกลุ่ม Start up สามารถเข้าถึงแหล่งทุน โดยจัดตั้งเป็น กองทุนร่วมลงทุนในกิจการ SMEs” (SME Private Equity Trust Fund) หรือเรียกกันง่ายๆ เป็นที่เข้าใจกันคือ Venture Capital หรือ VC ซึ่งจะทำให้บรรดา นักรบพันธุ์ใหม่สานฝันให้เป็นจริงได้

ขยายความอีกนิดเพื่อความชัดเจน Venture Capital คือ “การสนับสนุนเงินทุนในรูปแบบหนึ่งโดยมีกำหนดระยะเวลา และสัดส่วนการเข้าร่วมลงทุนตามนโยบายของแต่ละผู้ลงทุน และเมื่อถึงระยะเวลาที่กำหนดไว้ ผู้เข้าร่วมลงทุนดังกล่าวก็จะถอนตัวออกจากกิจการ” เปรียบเหมือนกับการที่ Start up อยากจะเปิดบริษัท หรือต้องการเงินทุนเพิ่มเติมในการดำเนินธุรกิจ แต่เงินตัวเองมีไม่พอ ก็เลยต้องไปชวนเพื่อนๆ ญาติๆ หรือนักลงทุนเอาเงินมาลงทุนในกิจการ คนเหล่านี้ก็จะได้เป็นหุ้นส่วนของบริษัท เมื่อถึงเวลามีกำไร ก็แบ่งกันตามสัดส่วนการถือหุ้น

แล้วประโยชน์อย่างอื่นของ Venture Capital ที่ Start up จะได้รับจากการร่วมลงทุน ก็คือ 1. เพิ่มความแข็งแกร่งทางการเงิน 2. ลดอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนลง 3. ลดค่าใช้จ่ายด้านดอกเบี้ย (ระยะเริ่มต้นไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยให้แบงก์) 4. เพิ่มความน่าเชื่อถือและเครดิต (เพราะมีแบงก์รัฐลงทุนด้วย) 5. มีความโปร่งใสและมีธรรมาภิบาลในการบริหาร 6. มีระบบบัญชีที่น่าเชื่อถือ (บัญชีเดียว) 7. สร้างเครือข่ายผ่าน VC เพื่อประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจ

บรรดา Start up ทั้งหลายคงเห็นแล้วว่า อย่างน้อยก็ยังมี SME Development Bank “เป็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์” สามารถช่วยเหลือติดอาวุธทางการเงินให้กับ “นักรบพันธุ์ใหม่” สามารถลงสู่สนามการต่อสู้ทางธุรกิจ สานฝันให้เป็นจริงได้ ไม่ว่าจะเป็น SMEs ที่ทำธุรกิจในรูปแบบเดิมที่คุ้นเคยกันดี เช่น ขายก๋วยเตี๋ยว ข้าวมันไก่ กาแฟ หากสามารถพัฒนาเข้าสู่ระบบมาตรฐาน หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์ และช่องทางการขายในรูปแบบใหม่ๆ ให้น่าสนใจ สามารถแข่งขันได้ ก็สามารถเป็น Start up ได้เช่นกัน ถ้าสนใจก็ติดต่อขอทราบรายละเอียดเพิ่มเติมในเรื่องหลักเกณฑ์ เงื่อนไข คุณสมบัติ การเข้าร่วมลงทุน ได้ที่ SME Bank Call Center 1357