ประเทศไทยกับร่างกฎหมายแข่งขันทางการค้าฉบับใหม่

ประเทศไทยกับร่างกฎหมายแข่งขันทางการค้าฉบับใหม่

แม้ว่าประเทศไทยมีกฎหมายแข่งขันทางการค้ามาตั้งแต่ปี 2542 แต่เนื่องจากปัญหาหลายประการทำให้กฎหมาย

ฉบับดังกล่าวไม่สามารถใช้บังคับได้อย่างแท้จริง ยกตัวอย่างเช่น ไม่มีหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง หรือออกหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องล่าช้า เช่น กฎหมายกำหนดเรื่องควบรวมธุรกิจไว้ แต่ในปัจจุบันยังไม่มีการออกประกาศหลักเกณฑ์การควบรวมธุรกิจที่ต้องขออนุญาตแต่อย่างใด ทำให้ไม่มีธุรกิจใดต้องขออนุญาตจากคณะกรรมการก่อนทำการควบรวม

ดังนั้น หลายฝ่ายจึงได้พยายามผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมายฉบับดังกล่าว จนกระทั่งในช่วงปลายปีที่แล้วกรมการค้าภายในได้นำร่างกฎหมายแข่งขันทางการค้าฉบับใหม่เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีซึ่งมีมติเห็นชอบร่างกฎหมายดังกล่าวในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยมีสาระสำคัญดังนี้

1) ปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมคำนิยามต่าง ๆ ให้ทันสมัย ครอบคลุมและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เช่น คำนิยาม “ผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอำนาจเหนือตลาด” จากในปัจจุบันพิจารณาจากจำนวนส่วนแบ่งตลาดและยอดขายตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ร่างกฎหมายฉบับใหม่เสนอแก้ไขให้พิจารณาเฉพาะส่วนแบ่งตลาดเพียงอย่างเดียว โดยต้องคำนึงปัจจัยสภาพการแข่งขันที่เกี่ยวข้องด้วย เสนอแก้ไขให้ผู้ประกอบธุรกิจรวมถึงบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในเครือเดียวกันด้วย เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพการประกอบธุรกิจในปัจจุบัน และได้เสนอเพิ่มเติมคำนิยาม ”บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในเครือเดียวกัน” รวมถึงเสนอให้เพิ่มคำนิยามคำว่า “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” และ “พนักงานสอบสวน”

2) ปรับปรุงให้รัฐวิสาหกิจทุกประเภทต้องอยู่ภายใต้บังคับกฎหมายแข่งขันทางการค้าจากปัจจุบันที่ได้รับยกเว้น ซึ่งทำให้การแข่งขันในตลาดมีความเท่าเทียมกันมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม หากการกระทำใดของรัฐวิสาหกิจเป็นการกระทำตามกฎหมายหรือนโยบายของรัฐ หรือเพื่อประโยชน์ส่วนรวมแล้ว การกระทำนั้นจะได้รับยกเว้นไม่ต้องอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายแข่งขันทางการค้า เช่น กรณีที่ทีโอทีและ กสท โทรคมนาคม เปิดให้ประชาชนใช้บริการอินเทอร์เน็ตในส่วนภูมิภาคโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายตามนโยบายของรัฐเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต แม้จะถือเป็นการร่วมกระทำการดังกล่าวมีลักษณะเป็นการลดการแข่งขันในตลาดอินเทอร์เน็ตก็ตาม

3) เสนอให้ผู้ประกอบธุรกิจที่กระทำความผิดตามกฎหมายแข่งขันทางการค้า ไม่ว่าส่วนหนึ่งส่วนใดนอกราชอาณาจักร และผลแห่งการกระทำเกิดขึ้นในราชอาณาจักรต้องรับโทษในราชอาณาจักร

4) เปลี่ยนแปลงจำนวนและที่มาของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าจากปัจจุบันมีจำนวนไม่เกิน 12 คน ประกอบด้วยกรรมการโดยตำแหน่งจากฝ่ายการเมืองและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ร่างกฎหมายฉบับใหม่เสนอให้ลดจำนวนคณะกรรมการเหลือเพียง 7 คน ที่ผ่านการคัดสรรจากคณะกรรมการคัดสรร และได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี

5) เสนอให้มีคณะกรรมการคัดสรรจำนวน 7 คน ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อความโปร่งใสในการคัดสรรคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า

6) เสนอแก้ไขให้สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าเป็นหน่วยงานอิสระ และได้รับการจัดสรรเงินมาใช้ในการดำเนินการของสำนักงานฯ ซึ่งมาจากค่าธรรมเนียมจดทะเบียนการค้าในอัตราร้อยละ 10

7) แก้ไขกฎเกี่ยวกับการรวมธุรกิจ จากปัจจุบันที่กำหนดให้การรวมธุรกิจที่อาจเกิดการผูกขาดต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการ เสนอเป็นให้การรวมธุรกิจที่อาจเกิดการลดการแข่งขันอย่างมีนัยสำคัญในตลาดสินค้าใดสินค้าหนึ่ง ต้องแจ้งคณะกรรมการอย่างน้อย 60 วันก่อนดำเนินการรวมธุรกิจ หากไม่แจ้งจะมีโทษปรับในอัตราไม่เกินร้อยละ 20 ของรายได้ตั้งแต่ปีที่มีการรวมธุรกิจ

ในประเด็นเรื่องค่าปรับนี้ผู้เขียนเห็นว่า ข้อความในร่างกฎหมายฉบับนี้ยังไม่ชัดเจนและอาจเกิดปัญหาในการตีความ “รายได้” ที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณค่าปรับว่าคำนวณจากรายได้ที่เกิดจากธุรกิจที่ถูกรวมทุกธุรกิจ หรือเฉพาะธุรกิจที่ถูกรวมและอาจก่อให้เกิดการลดการแข่งขันอย่างมีนัยสำคัญยกตัวอย่างเช่น บริษัท ก ผู้ผลิตดินสอสี สมุดบันทึก ไส้ปากกาและน้ำหมึกปากกาทุกชนิด ต้องการรวมธุรกิจกับบริษัท ข ผู้ผลิต ดินสอไม้ไส้ปากกาลูกลื่น และน้ำหมึกปากกาเขียนกระดาน โดยได้ทำการรวมธุรกิจเฉพาะส่วนการผลิตไส้ปากกาลูกลื่นและหมึกปากกาเขียนกระดานเท่านั้น และไม่ได้แจ้งให้คณะกรรมการทราบ ภายหลังการรวมธุรกิจ มีรายได้จากการผลิตปากกาลูกลื่นเป็นจำนวน 100 ล้านบาท และรายได้จากการผลิตหมึกปากกาเขียนกระดานเป็นจำนวน 40 ล้านบาท

หากคณะกรรมการพบในภายหลังว่า การรวมธุรกิจการผลิตปากกาลูกลื่นเป็นการลดการแข่งขันในตลาดการผลิตปากกาลูกลื่น และต้องเสียค่าปรับนั้น ค่าปรับดังกล่าวจะคำนวณจากรายได้เฉพาะการผลิตปากกาลูกลื่นเท่านั้น หรือต้องคำนวณจากรายได้สำหรับทุกธุรกิจที่ทำการควบรวมด้วยซึ่งในตัวอย่างนี้ ได้แก่ธุรกิจการผลิตไส้ปากกาลูกลื่นและหมึกปากกาเขียนกระดานด้วยนอกจากนี้ ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าคณะกรรมการจะประกาศหลักเกณฑ์แนวทางการพิจารณาว่า การรวมธุรกิจลักษณะใดที่เข้าข่ายอาจเกิดการลดการแข่งขันอย่างมีนัยสำคัญในตลาดสินค้าใดสินค้าหนึ่ง ทั้งนี้ เพื่อเป็นแนวทางในการพิจารณาของหน่วยงานกำกับดูแลเอง และเพื่อให้ผู้ประกอบการได้ศึกษาเป็นข้อมูลก่อนตัดสินใจเข้ารวมธุรกิจกับผู้ประกอบการรายอื่น

ขณะนี้ร่างกฎหมายฉบับใหม่ยังอยู่ในระหว่างการตรวจสอบและพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ผู้เขียนเห็นว่า การแก้ไขปรับปรุงกฎหมายแข่งขันทางการค้านี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการพัฒนากฎหมายให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของภาคธุรกิจค่ะ

แล้วพบกันใหม่คราวหน้าค่ะ

--------------------

อมราพร สัจจารักษ์ตระกูล

บริษัท อัลเลน แอนด์ โอเวอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด