เอกสารปานามา:บทเรียนของนักวิชาชีพสื่อ

เอกสารปานามา:บทเรียนของนักวิชาชีพสื่อ

เมื่อราวต้นเมษายนที่ผ่านมา เอกสารรั่วไหลจากข้อมูลบริษัทกฎหมายที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลกซึ่งเรียกขานกันในนาม

เอกสารปานามา’ หรือ ‘Panama papers’ ได้สร้างความสั่นสะเทือนให้กับแวดวงธุรกิจการเมืองและวงการสื่ออย่างมหาศาล บรรดานักการเมือง นักธุรกิจ และคนเด่นคนดังจากทุกวงการถูกระบุรายชื่อเกี่ยวข้องกับเอกสารดังกล่าว อันนำไปสู่ชะตากรรมที่ตนเองไม่คาดคิด

การเปิดโปงเอกสารดังกล่าวต่อสาธารณชนนับเป็นอีกผลงานหนึ่งของนักข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน ซึ่งมีเจ้าภาพคือ The International Consortium of Investigative Journalist หรือที่เรียกย่อๆ ว่า ‘ICIJ’ อันเป็นองค์กรศูนย์รวมองค์กรข่าวและสื่อมวลชนกว่า 107 แห่งทั่วโลก โดยการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวถือว่าเป็นการรั่วไหลของข้อมูลลับที่ใหญ่ที่สุดในโลก เพราะมันเป็นข้อมูลที่มีขนาดถึง 2,600 GB เป็นเอกสารจำนวน 11.5 ล้านฉบับ อันเป็นข้อมูลเกี่ยวกับการเลี่ยงภาษี ฟอกเงิน ย้อนหลังกลับไปจนถึงปี 2513 กันเลยทีเดียว

ผลกระทบที่หนักและรุนแรงของเอกสารปานามาเหล่านี้ ก็เห็นจะเป็นในส่วนของแวดวงการเมือง ซึ่งเกี่ยวโยงกับผลประโยชน์สาธารณะและบุคคลสาธารณะที่ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อันอ้างอิงกับอุดมการณ์เพื่อสังคม แต่ท้ายสุดกลับถูกเอ่ยอ้างถึงการหลีกเลี่ยงภาษี และการแสวงหาทุนกับความมั่งคั่งเพื่อการส่วนตัว โดยกรณีที่หนักสุดเห็นจะเป็นนายกรัฐมนตรีจากไอซ์แลนด์ นายซิกมุนเดอร์ กุนน์ลอคสัน ที่ต้องลาออกจากตำแหน่งอันเนื่องมาจากแรงกดดันของสังคมซึ่งมองว่าท่านนายกฯไอซ์แลนด์ขาดความชอบธรรม อันเนื่องมาจากมีชื่อตัวเองปรากฏอยู่ในเอกสารดังกล่าว และถูกกล่าวถึงการเข้าร่วมเครือข่ายการเลี่ยงภาษีนี้ด้วย

อย่างไรก็ตาม ด้วยความใหญ่และเยอะของข้อมูลเหล่านี้ กอปรกับการเลี่ยงภาษีและฟอกเงินดังกล่าวนับเป็นเรื่องปกติของวงการธุรกิจและการเมืองที่มีเครือข่ายระดับโลก ส่งผลให้การนำเอกสารดังกล่าวขยายความไปสู่การตรวจสอบถ่วงดุล บุคคล กลุ่มคน หรือบริษัทที่มีชื่ออยู่ในเอกสารปานามาเหล่านี้ทำได้ไม่เยอะและกว้างเหมือนกับความมหึมาของข้อมูลที่ได้มา อันชี้ให้เห็นถึงวิกฤติของยุคดิจิตัลที่ศักยภาพของคนไม่ทันต่อข้อมูลจำนวนมหาศาล ซึ่งไหลบ่ามาแบบไม่ทันตั้งตัว

แม้วงการข่าวบ้านเราจะพยายามผลิตนักข่าวเพื่อป้อนสู่ระบบอย่างต่อเนื่อง แต่ศักยภาพของคนข่าวที่สามารถเข้าถึงและเข้าใจข้อมูลซับซ้อนในธุรกิจการเงินดังเช่นที่ปรากฏในเอกสารปานามาก็ถือว่าจำกัดเหลือหลาย ส่วนหนึ่งก็เนื่องมาจากการสร้างนักข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องใช้ทั้งความกล้าหาญและทักษะในการสืบค้นข้อมูลขั้นสูง ซึ่งส่วนใหญ่ยังเน้นไปยังข้อมูลเชิงประจักษ์แบบหลักฐานพื้นๆ และข้อมูลเชิงสัมภาษณ์เป็นหลัก โดยเมื่อเจอเข้ากับข้อมูลที่สลับซับซ้อน ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลการเงิน การคลัง และเศรษฐกิจในระดับที่ดีกรีปริญญาทางเศรษฐศาสตร์ยังยากจะทำความเข้าใจได้ การสืบสวน สอบสวนที่เท่าทันความแยบยลทางธุรกิจและเศรษฐกิจที่ซับซ้อนเหล่านั้นก็อันเป็นจบเห่ เนื่องมาจากคนแปลงสาส์นเหล่านั้นไม่อาจทำความเข้าใจกับเนื้อหาดังกล่าวได้ ท้ายที่สุดจึงทำได้แค่รายงานแบบพื้นๆ หรือไม่ก็หลบเลี่ยงประเด็นดังกล่าวไปซะอย่างนั้น

กอปรกับระบบการตรวจสอบถ่วงดุลของนักวิชาชีพสื่อที่มีต่อผู้มีอิทธิพลในสังคมแห่งนี้ยังเป็นเรื่องยาก ภารกิจสุนัขเฝ้าบ้านดูจะเป็นแค่เพียงฝันสำหรับนักข่าวบ้านเราที่ทำได้เฉพาะกับผู้มีอิทธิพลตัวเล็กตัวน้อย โดยปล่อยให้รายใหญ่ ๆ รอดสายตาไป ทำให้การจับจ้องของสื่อมวลชนไทยเป็นแบบปิดตาข้างเดียว ตามน้ำไปเรื่อยเพื่อความอยู่รอดของตนเอง

ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่แม้การทำข่าวเอกสารดังกล่าวจะเป็นที่ฮือฮาในต่างประเทศ แต่พอมาถึงไทยกับเงียบเงิบ ทั้งๆ ที่จากการรายงานล่าสุดของนาย เคนตะ ชิโนซากิ นักข่าวประจำวารสารนิคเคอิ เอเซียน รีวิว ได้จัดทำลำดับให้ประเทศไทยติดอันดับที่ 11 ของประเทศที่มีจำนวนรายชื่อสูงสุดในเอกสารปานามาดังกล่าว ทั้งนี้จากรายงานได้ระบุให้จีนถือเป็นประเทศแชมป์เปี้ยนที่มีรายชื่อบุคคลและบริษัทเกี่ยวข้องมากที่สุดถึง 24,635 แห่ง รองลงมาได้แก่ เขตปกครองพิเศษฮ่องกงซึ่งมีถึง 13,362 แห่ง ซึ่งสองพื้นที่นี้หากรวมเป็นรัฐชาติเดียวกันก็ถือว่าเป็นพื้นที่ของการฟอกเงิน หลบเลี่ยงภาษีจำนวนมหาศาลระดับโลก ทั้งนี้รายงานได้ระบุถึงเครือข่ายของชนชั้นนำของพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่ใช้ฮ่องกงเป็นฐานในการผ่านเงินเพื่อนำไปสู่การหลบเลี่ยงภาษีในพื้นที่อื่นๆ ทั่วโลกอีกด้วย

นอกจากนี้ ที่น่าสนใจคือ รายงานของการจัดอันดับดังกล่าวมีกลุ่มประเทศอาเซียนติดโผเกือบครบครัน โดยมีสิงคโปร์ติดอยู่ในอันดับ 8 คือ 2,273 บริษัท ตามมาด้วยอันดับ 9 คือมาเลเซีย 1,483 บริษัท อันดับ 10 ได้แก่อินโดนิเซีย 1,038 บริษัท และในส่วนของไทยเราที่ติดโผเป็นอันดับที่ 11 ก็พบว่ามีรายนามบุคคลและบริษัทที่ถูกระบุอยู่ในเอกสารปานามาถึง 773 บริษัท โดยในส่วนของประเทศอาเซียนอื่นๆ ก็เข้าวินมาไม่ทิ้งห่างกัน ได้แก่ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ลาว บรูไน กัมพูชา และพม่า จนเรียกได้ว่า หากจะนำนโยบายการหลบเลี่ยงภาษีมาเป็นนโยบายนำของประชาคมแห่งนี้ก็ดูท่าจะสามารถสร้างเครือข่ายได้อย่างเป็นล่ำเป็นสันเลยทีเดียว

จากเอกสารหลุดปานามามาสู่การใคร่ครวญศักยภาพของวงการสื่อ ที่สะท้อนให้เราเห็นว่า การเข้าถึงข้อมูลที่เป็นทั้งข้อมูลขยะและข้อมูลคุณภาพในยุคดิจิทัลนั้นไม่ใช่เรื่องยากแต่อย่างใด หากแต่การวิเคราะห์ เข้าใจ และแปลงสาส์นของข้อมูลดังกล่าวต่างหากที่ต้องเป็นทักษะจำเป็นในการทำความเข้าใจและสร้างการรู้เท่าทันให้กับนักวิชาชีพสื่อ ซึ่งนอกจากจะต้องตระหนักถึงแหล่งข้อมูลที่ควรเข้าถึง คุณค่าของข้อมูลที่จำเป็นแล้ว การเข้าใจข้อมูลเพื่อแปลงความยากและแยบยลของข้อมูลเหล่านั้นมาสู่ประชาชนผู้รับสารคือโจทย์ใหญ่ใจความของการสร้างนักข่าวเชิงข้อมูล หรือ ‘Data journalist’ ที่ไม่ใช่การรอเพียงแต่ข้อมูลการสัมภาษณ์ ซึ่งเต็มไปด้วยความเห็นส่วนบุคคลและดราม่าทางอารมณ์เป็นที่ตั้ง หากแต่ต้องรุกเข้าไปยังข้อมูลที่สร้างความเป็นเหตุเป็นผลให้กับสังคม เพื่อสร้างการรู้เท่าทันสื่อให้เกิดขึ้นท่ามกลางข้อมูลที่ไหลบ่าเต็มไปด้วยดราม่าอย่างเช่นที่เป็นในปัจจุบัน