การถ่ายทอดสดกรณีอันอ่อนไหว กับประโยชน์สาธารณะ

การถ่ายทอดสดกรณีอันอ่อนไหว กับประโยชน์สาธารณะ

ไม่ใช่ครั้งแรกที่สื่อไทยถูกตั้งคำถามในเชิงจริยธรรม และคงไม่ใช่ครั้งสุดท้ายอย่างแน่นอน

แม้จะผ่านไปแล้วเกือบสองสัปดาห์ แต่คาดว่าประชาชนคนไทยผู้เปิดรับข่าวสารโดยเฉพาะข่าวสารทางโทรทัศน์จะยังไม่ลืมภาพการถ่ายทอดสดในหลายช่องทีวีดิจิทัล ถึงเหตุการณ์การเข้าล้อมจับอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งซึ่งมีหลักฐานให้ตำรวจเชื่อได้ว่า เขาได้ทำการฆ่าเพื่อนร่วมงานสองคนกลางมหาวิทยาลัยไปก่อนหน้า

ตลอดเวลาของการล้อมจับ อาจารย์ท่านนี้ถือปืนจ่ออยู่ที่ข้างศีรษะขู่จะยิงตัวเองตลอดเวลา แม้ตำรวจ ญาติมิตร และลูกศิษย์จะมาร่วมเจรจาเป็นเวลากว่า 5 ชั่วโมง ท่านก็ไม่ยอมจำนนที่จะมอบตัว เหตุการณ์ตึงเครียดสลับผ่อนคลายเป็นระยะ แต่ท้ายที่สุดก็จบลงตรงที่อาจารย์ตัดสินใจเหนี่ยวไกปลิดชีวิตตนเองทันทีที่เสียงปืนดัง ตำรวจเปิดประตูให้นักข่าวที่รออยู่นอกรั้ว หรือกำลังเก็บภาพจากมุมสูงบนคอนโดที่อยู่ติดกัน เกิดความชุลมุนวุ่นวายตามมา

ลำดับเหตุการณ์เรื่องราวที่ว่าน่าจะเป็นเค้าโครงเยี่ยมยอดสำหรับละครหรือภาพยนตร์ประเภทแอ๊คชั่น หรือสืบสวนสอบสวนแนวระทึกใจ แต่นี่เป็นเรื่องจริง มีคนจริงๆเสียชีวิตจากลูกกระสุนจริง คนๆ นั้นมีตัวตนจริงอยู่ในสังคม และมีคนจำนวนหลายล้านคนทั่วประเทศจับจ้องมองดูผ่านจอทีวีในเวลาจริง (real-time) ว่าจะเกิดอัตวินิบาตกรรมหรือไม่

คำถามก็คือ เหตุการณ์นี้มีคุณค่าเพียงพอที่จะต้องออกอากาศถ่ายทอดสดหรือไม่ การปลุกเร้าให้ประชาชนคนดูสนใจภาพการรายงานข่าวแบบเกาะติดสถานการณ์ตลอดเวลากว่า 5 ชั่วโมงเป็นประโยชน์กับสาธารณะอย่างไร โดยเฉพาะเมื่อภาพที่นำเสนอสะท้อนความรุนแรงอย่างชัดเจน และผู้ที่เป็นจำเลยในสายตากว่าล้านคู่ทั่วประเทศ ยังไม่ได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ก็ย่อมจะมีสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่จะไม่ถูกนำเสนอในลักษณะที่เสมือนถูกตัดสินไปแล้วว่าเป็นผู้กระทำผิด

แน่นอนว่า เรื่องนี้มีคุณค่าข่าวอย่างปฏิเสธไม่ได้ พัฒนาการของเหตุการณ์ที่มีมาก่อนหน้าและได้ถูกรายงานผ่านสื่อต่างๆ อย่างกว้างขวางทำให้เป็นประเด็นที่ผู้คนให้ความสนใจ ในกรณีนี้ มีองค์ประกอบของความไม่น่าจะเป็นจากการที่ผู้ต้องสงสัยในคดีฆาตกรรมมีดีกรีเป็นถึงอาจารย์มหาวิทยาลัย จบการศึกษามาในระดับสูง จึงผิดโปรไฟล์ผู้ต้องสงสัยทั่วไป และองค์ประกอบของความขัดแย้งที่พัวพันกับการดำเนินงานในมหาวิทยาลัย แถมยังมีองค์ประกอบของความระทึกใจที่ทำให้คนอยากติดตามอย่างใจจดใจจ่อ หรือที่เรียกในภาษาอังกฤษว่า suspense อันสืบเนื่องมาจากการที่อาจารย์ผู้ต้องสงสัยหลบหนีไป และเกิดเจอตัวขึ้นมา แถมยังมีการถือปืนขู่อีก

ประเด็นที่ว่า เรื่องนี้ควรนำเสนอเป็นข่าวหรือไม่จึงไม่มีอะไรน่ากังขา แต่ที่ยังต้องทบทวนคือควรนำเสนอเป็นข่าวอย่างไรต่างหาก การถ่ายทอดสดเหตุการณ์แบบยิงยาว แม้จะมีแทรกด้วยการสัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้อง หรือการรายงานจากในห้องส่งเป็นช่วงๆ เป็นรูปแบบที่ควรกระทำหรือไม่

อนึ่ง การถ่ายทอดสดเหตุการณ์ใดๆ ก็ตาม เป็นความเสี่ยงที่ผู้ประกอบการและนักวิชาชีพสื่อไม่สามารถควบคุมอะไรได้เลย นอกเหนือไปจากการใช้เทคนิคการดีเลย์ภาพไปเล็กน้อยหรือที่เรียกกันว่า “สดหลอก” ซึ่งช่องทีวีทั่วโลกก็มักจะทำกัน คือดีเลย์ไปประมาณ 5 วินาทีเผื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่สมควรแพร่ภาพขึ้นมา จะได้หยุดการออกอากาศทัน

ในกรณีหนึ่งที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาใน พ.ศ.2555 ที่รัฐแอริโซน่า รายการข่าวของช่องฟ็อกซ์ (FOX) ซึ่งเป็นเครือข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินระดับชาติออกอากาศสดโดยใช้กล้องจากเฮลิคอปเตอร์ เหตุการณ์ที่ชายคนหนึ่งซึ่งถูกตำรวจไล่ล่าฐานขโมยรถ และยังมียิงใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจด้วย จนชายผู้นี้วิ่งรถเข้าไปในทะเลทราย หยุดรถ วิ่งหนีหัวซุกหัวซุนต่อไป และถึงจุดหนึ่งก็หยุดและควักปืนออกมาระเบิดสมองตัวเอง ภาพดังกล่าวถูกแพร่ภาพออกอากาศสดโดยไม่มีการดีเลย์

หลังเหตุการณ์ดังกล่าว ทางช่อง FOX ออกมาขอโทษประชาชน และยอมรับว่าเป็นความผิดพลาดของทีมงาน และหลังจากนั้นไม่นาน ก็มีการฟ้องร้องทางสถานีจากทางครอบครัวของชายคนดังกล่าว โดยเฉพาะจากลูกที่อยู่ในวัยเยาว์ของเขาว่า การได้ดูภาพพ่อของพวกเขาฆ่าตัวตายออกอากาศทำให้เกิดความกระทบกระเทือนใจอย่างแรงจนไม่สามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้อย่างปกติสุข และยังกลายเป็นตราบาปทำให้ถูกล้อเลียนในโรงเรียนอีกด้วย

อาจจะเป็นโชคดีของสื่อไทยหลายๆ ช่องที่ฉากสุดท้ายของชีวิตของอาจารย์ผู้ที่ก่ออัตวินิบาตกรรมไม่ได้ถูกจับภาพไว้ เนื่องจากเกิดขึ้นใต้มุมอับที่กล้องเข้าไม่ถึง อีกทั้งอาจารย์ไม่ได้มีครอบครัวที่ได้รับผลกระทบเหมือนกรณีในแอริโซน่า แต่ภายในความต่างนั้น สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันก็คือ ความต้องการเพิ่มเรทติ้งในระยะสั้นของสถานีโทรทัศน์ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าสื่อบางช่องจะอ้างถึงภารกิจในการนำเสนอความจริงสู่สาธารณะ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า “ความจริง” ชุดที่ถูกคัดเลือกให้ออกอากาศสดอย่างต่อเนื่องหลายชั่วโมง เป็นประเภทเจือไปด้วยความดราม่าเพื่อดึงดูดให้คนติดตามว่าจะจบอย่างไร มากกว่าจะมุ่งแจ้งข่าวสารหรือจรรโลงสังคมให้ดีขึ้น

อันที่จริง ก็มีสื่อจำนวนไม่น้อยที่เลือกจะไม่นำเสนอการถ่ายทอดสดเหตุการณ์การล้อมจับดังกล่าวอย่างต่อเนื่องตลอด แต่เลือกนำเสนอเป็นข่าวในรูปแบบที่แตกต่างออกไป โดยสามารถประมวลให้เห็นโดยสังเขปตามตาราง

บางทีอาจจะต้องมีการทบทวนความเข้าใจของสื่อเกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะ หรือที่เรียกกันในภาษาอังกฤษว่า Public interest ในนัยยะหนึ่งที่ฉาบฉวยที่สุด Public interest ถูกตีความว่าโดยสื่อที่ไร้ความรับผิดชอบว่าหมายถึง อะไรก็ตามที่ทำให้คนสนใจย่อมเป็นประโยชน์ต่อมวลชน แต่ในมิติที่มีความหมายกว่า Public interest หมายถึงอรรถประโยชน์ที่ผู้เปิดรับข่าวสารพึงได้จากสื่อ ที่สามารถนำไปใช้ได้จริงหรือเป็นพื้นฐานการรับรู้และการตัดสินใจต่อไปได้จริงในอนาคต

สื่อที่เกี่ยวข้องในกรณีนี้ คงต้องตอบเองให้ได้ว่า พิจารณาประโยชน์สาธารณะในมิติใดกันแน่