Inflation Targeting จริงจังแค่ไหน?

Inflation Targeting จริงจังแค่ไหน?

ดูเหมือนว่า “คำถาม” เกี่ยวกับ “เป้าหมาย” นโยบายการเงิน

ของ ไทย จะกลับมาเป็นประเด็นที่ ถกเถียง กันดังๆ อีกครั้ง เพราะเวลานี้เริ่มมีคน ตั้งข้อสงสัย มากขึ้นว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ แบงก์ชาติ จริงจัง กับการใช้ เป้าหมายเงินเฟ้อ หรือ Inflation Targeting ในการทำนโยบายการเงินมากน้อยแค่ไหน?

 

 ผู้ที่ตั้งคำถามนี้บอกเลยว่า “ไม่ธรรมดา!”

 

..คนหนึ่งเป็น นายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน คุณไพบูลย์ นรินทรางกูร อีกคนเคยเป็นถึง รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ดร.บัณฑิต นิจถาวร

 

คุณไพบูลย์ ถามคำถามนี้ตรงกับ ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ในงาน “SET 100 ผนึกกำลังประชารัฐ” เมื่อเดือนเม.ย. โดยยกเหตุผลว่า เวลานี้ เงินเฟ้อติดลบและต่ำกว่าเป้าหมายมาก แต่ดูเหมือนแบงก์ชาติยังนิ่งๆ อีกทั้งปาฐกถา(ในวันนั้น) แทบไม่แตะเรื่องเงินเฟ้อเลย

 

ขณะที่ ดร.บัณฑิต เขียนบทความผ่านคอลัมภ์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต ฉบับวันที่ 9 พ.ค.2559 ว่า มีคำถามจากผู้ลงทุนต่างประเทศ เกี่ยวกับการดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของแบงก์ชาติ ว่า จริงจังแค่ไหน เพราะที่ผ่านมาปีเศษ เงินเฟ้อไทยติดลบต่อเนื่องและต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย แต่แบงก์ชาติกลับไม่ลดดอกเบี้ยตามที่ควรเป็น

 

ดร.บัณฑิต เขียนระบุด้วยว่า นี่คือเรื่องของวินัยการดำเนินนโยบาย

 

แต่ประเด็นที่ทำให้สาธารณชน “คาใจ” แบบสุดๆ คือ การกล่าวเปิดงานมันนี่เอ็กซ์โปของ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เมื่อปลายสัปดาห์ก่อน ซึ่งระบุชัดเจนบนเวทีว่า ไม่เห็นด้วยกับ Inflation Targeting มาตั้งแต่สมัยที่ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ) เสนอให้ใช้แล้ว

 

ดร.สมคิด ยกตัวอย่าง “ญี่ปุ่น” ซึ่งลดดอกเบี้ยจน “ติดลบ” แต่ยังไม่สามารถช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นขึ้นได้ ..เมื่อระดับ “รองนายกฯ” พูดชัดเจนขนาดนี้ แรงกดดันทั้งหมดจึงตกกับ “แบงก์ชาติ” ที่ต้องเคลียร์ข้อสงสัยดังกล่าว!

 

ความจริงแล้ว “ดร.วิรไท” ตอบคำถามเรื่องนี้อยู่บ่อยครั้ง เท่าที่จับใจความได้ ทุกครั้งจะ “ย้ำ” ว่า กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ ยังเป็นกรอบในการทำนโยบายการเงิน เพียงแต่กรอบที่แบงก์ชาติใช้ เป็นกรอบที่มีความ ยืดหยุ่นหรือที่เรียกว่า “Flexible inflation targeting” ซึ่งมีทั้ง เป้าหมายหลักและ เป้าหมายรอง

 

เป้าหมายหลัก คือ การดูแลเงินเฟ้อ ..สิ่งที่แบงก์ชาติกลัวเป็นพิเศษ คือ เงินเฟ้อ “ขาขึ้น” ถ้าเป็น “ขาลง” ก็ต้องดูว่า เกิดจากอะไร หากลงเพราะ “ราคาน้ำมัน” ซึ่งเป็นผลจากภาวะ “อุปทานล้น” ไม่ใช่เพราะ “อุปสงค์” ที่หดหาย ความกังวลในส่วนนี้ก็ลดลง และเชื่อว่าเมื่อฐานของราคาน้ำมันหมดไป เงินเฟ้อน่าจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้ในระยะข้างหน้า

 

เมื่อเป็นเช่นนั้น แบงก์ชาติ ก็สามารถหันไปให้ความสำคัญกับเป้าหมายรอง ซึ่งเป็นเรื่องเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงินได้ ..ช่วงหลังๆ จะเห็นว่า แบงก์ชาติ ให้ความสำคัญกับเสถียรภาพการเงินเป็นพิเศษ โดยเฉพาะพฤติกรรมการแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะฟองสบู่ได้

 

ส่วนตัวผมเชื่อว่า คำถามเหล่านี้จะน้อยลงมาก ถ้าแบงก์ชาติยังคงใช้“เงินเฟ้อพื้นฐาน”เป็น“เครื่องยึด”ในการทำนโยบายการเงิน เพราะการใช้ “เงินเฟ้อทั่วไป” มีความอ่อนไหวต่อราคาพลังงานที่ผันผวนมาก

 

ช่วงที่ผ่านมาเงินเฟ้อทั่วไปปรับลงจาก “ราคาน้ำมัน” จนดัชนีราคาติดลบและต่ำกว่ากรอบเป้าหมายอยู่มาก แต่ถ้าดูเงินเฟ้อพื้นฐานซึ่งหักราคาพลังงานและอาหารสดออกไป จะเห็นว่ายังขยายตัวได้ราว 1% อยู่ในกรอบเป้าหมายที่แบงก์ชาติเคยใช้

 

เมื่อแบงก์ชาติเลือกเปลี่ยนมาใช้ เงินเฟ้อทั่วไปเป็นเครื่องยึดในการทำนโยบายการเงิน ผมคิดว่าก็ต้องยอมเหนื่อยในการอธิบายกับสังคมเป็นธรรมดา...ขอเอาใจช่วยครับ!