ให้ทำงาน 52 นาที พัก 17 นาที

ให้ทำงาน 52 นาที พัก 17 นาที

ระหว่างผู้ที่คร่ำเคร่งกับงานนั่งทำงานติดต่อกันเป็นชั่วโมงๆ กับผู้ที่นั่งทำงานระยะหนึ่ง ก็หยุดพักพูดคุย

เดินเล่น ท่านผู้อ่านคิดว่าพวกไหนจะนำไปสู่ผลงานที่ดีกว่ากันครับความเชื่อแบบดั้งเดิมนั้น พวกที่ทุ่มเทให้กับงานอย่างจริงจัง คือพวกที่ทำงานแบบมาราธอนไม่หยุดนั่งอยู่หน้าเครื่องคอมพิวเตอร์หรือในห้องประชุมได้ติดต่อกันเป็นชั่วโมงๆ แต่งานวิจัยที่เกี่ยวกับเรื่อง Work Productivity ทุกเรื่องชี้ออกมาตรงกันนะครับว่า พวกที่รู้จักที่จะหยุดพักระหว่างการทำงานนั้น เป็นผู้ที่เมื่อวัดและเปรียบเทียบกันแล้ว ผลงานจะออกมาดีกว่าพวกทำงานแบบมาราธอนไม่รู้จักหยุดพักครับ

ผู้ที่เป็นเจ้านายมักจะมีความรู้สึกชื่นใจและชื่นชม เมื่อเห็นลูกน้องทำงานตลอดเวลาดูวุ่นวาย ไม่ได้มีโอกาสหยุดพักหรือ แม้กระทั่งอาหารกลางวันก็ไม่ได้รับประทาน เพราะทำงานต่อเนื่องตลอดเวลา ขณะเดียวกัน เมื่อเห็นลูกน้องที่ทำงานบ้างหยุดพักบ้าง เดินเล่นบ้าง จับกลุ่มคุยเรื่องละครบ้าง ก็จะมีความรู้สึกหงุดหงิดรำคาญในหัวใจ ว่าทำไมลูกน้องกลุ่มนี้ถึงไม่ขยันขันแข็งเหมือนกลุ่มแรกที่ทำงานจนไม่มีเวลาทานอาหาร

แต่จากการทดลองและงานวิจัยต่างๆ ที่ได้ไปอ่านมากลับพบว่า ลูกน้องกลุ่มหลังที่มีการพักบ้างเป็นระยะๆ นั้น สุดท้ายแล้วผลงานจะออกมาดีกว่าพวกที่ทำงานไม่หยุดหย่อนครับ ทำให้เราอาจจะต้องปรับเปลี่ยนความเชื่อเสียใหม่แล้วนะครับ ว่าการทำงานที่ดีและฉลาดเป็นคนละเรื่องกับการทำงานหนัก

จริงๆ เรื่องนี้มีการค้นพบตั้งแต่ช่วงปี 1920 แล้วครับ ที่ Henry Ford เจ้าของบริษัทรถยนต์ Ford อันถือเป็นตำนานทางการบริหารของสหรัฐได้ลดเวลาการทำงานของพนักงานลงจากสัปดาห์ละ 6 วัน เหลือสัปดาห์ละ 5 วัน และลดจำนวนชั่วโมงการทำงานลงจากสัปดาห์ละ 48 ชั่วโมง เหลือสัปดาห์ละ 40 ชั่วโมง หลังจากที่ Ford พบว่า ผลิตภาพหรือความสามารถในการทำงานของพนักงานลดน้อยลง เมื่อเริ่มทำงานเกินวันละ 8 ชั่วโมงสัปดาห์ละ 5 วัน

ทีนี้บรรดางานวิจัยยุคใหม่ทั้งหลาย ก็ได้ผลลัพธ์ออกมาเช่นเดียวกันครับว่า การทำงานเป็นระยะหนึ่งจากนั้นพักระยะสั้นๆ จะทำให้พนักงานมีสมาธิในการทำงานได้งานที่ออกมาดี และมีคุณภาพมากกว่าการทำงานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสาเหตุหลักๆ ก็มาจากการทำงานของสมองของเรานั่นแหละครับ การใช้งานสมองที่หนักและต่อเนื่อง ก็จะมีผลทำให้สมองของเราล้า และไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ได้ ดังนั้น จะต้องมีการหยุดพักเป็นระยะๆ เพื่อเติมพลังงานให้สมองของเราใหม่ เพียงแต่คำถามคือควรจะทำงานต่อเนื่องนานแค่ไหน ถึงค่อยหยุดพักและควรจะหยุดพักนานแค่ไหน?

ล่าสุดมีบริษัทที่ทำพวก Time-tracking app (ชื่อของ app คือ DeskTime) เขาทดลองโดยเก็บข้อมูลผู้ที่ใช้ app และมีผลิตภาพ (productivtty) ในการทำงานสูงสุด 10% ออกมาแล้วพบว่า พวกคน 10% นั้นจริงๆ แล้วเป็นพวกที่ไม่ได้ทำงานอย่างต่อเนื่องแต่อย่างใดครับ แต่เป็นพวกที่ทำงาน 52 นาที จากนั้นหยุดพัก 17 นาที นั้นคือถ้าท่านนั่งทำงานอย่างมีสมาธิเป็นเวลา 52 นาทีแล้วก็ขอให้หยุดพักเป็นเวลา 17 นาที เพื่อที่จะได้ไปเติมพลังงานให้สมองแล้วกลับมาทำงานใหม่อีก 52 นาทีแล้วหยุดพักอีก 17 นาที เป็นวงจรแบบนี้ไปเรื่อยๆ ท่านผู้อ่านบางท่านอาจจะสงสัยว่า ทำไมตัวเลขไม่ลงตัวทำไมไม่เป็น 50 นาที หรือ 20 นาที? สาเหตุหลักๆ ก็คือ ตัวเลขนี้มาจากการเก็บสถิติของพวกที่มี productivity สูงสุด 10% ครับ

สำหรับช่วงระยะเวลาของการพัก 17 นาทีนั้น พวกมนุษย์ 10% นั้น จะไปทำอะไรที่ไม่เกี่ยวข้องกับเครื่องคอมพิวเตอร์หรือหน้าจอเลยนะครับ เช่นไปเดินเล่นหรือไปคุยเรื่อยเปื่อยไร้สาระกับเพื่อนร่วมงาน ไม่ใช่ว่าใช้เวลา 17 นาทีนั้นเช็คอีเมลหรือดูละครใน Youtube

นอกเหลือจากแนวคิดทำงาน 52 นาทีและพัก 17 นาทีแล้ว อีกเทคนิคหนึ่งที่เป็นที่นิยมไปทั่วโลกคือ Pomodoro Technique (ผมเองก็นำมาปรับใช้บ้างครับ) ที่ให้เรามุ่งทำงานอยู่ที่เรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นเวลา 25 นาที จากนั้นให้พักได้ 5 นาที แล้วกลับไปทำงานอีก 25 นาที แล้วพักได้ 5 นาที โดยทำแบบนี้อยู่สามรอบ พอถึงรอบที่สี่ค่อยหยุดพักยาวเป็นเวลา 25 นาทีครับ ซึ่งแนวคิดของ Pomodoro นั้นคือเน้นให้เรามุ่งหรือให้ความสนใจอยู่กับเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะ และให้มีการพักเป็นระยะๆ และเป็นช่วงเวลาที่สั้นครับ

ดังนั้น ต่อไปเจ้านายทั้งหลายอาจจะต้องเปลี่ยนมุมมองใหม่นะครับว่า พนักงานที่ทำงานบ้างหยุดบ้างนั้น สุดท้ายแล้วผลงานออกมาเป็นอย่างไร แล้วเราอาจจะพบว่าคนเหล่านี้ถ้าหยุดพัก (อย่างถูกหลัก) จะมีผลงานที่ดีกว่าพวกทำงานแบบไม่รู้จักหยุดพักก็ได้ครับ

----------------------

รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์

คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

[email protected]