เศรษฐกิจจีนเผชิญการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ 9 ประการ

เศรษฐกิจจีนเผชิญการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ 9 ประการ

รัฐบาลจีนกำลังตระหนักดีว่า เศรษฐกิจจีนกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ ทั้งจากสภาพแวดล้อมภายใน

และภายนอกประเทศ อีกทั้งต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายต่างๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นจากภาวะ New Normal ในอนาคตจากนี้

บทความวันนี้ จึงขอสรุปการเปลี่ยนแปลงทั้ง 9 ประการของจีน ดังนี้

ประการแรก ยุคการเจริญเติบโตในอัตราสูงได้สิ้นสุดลงแล้ว ในอีก 5 ปีข้างหน้า การเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวมในจีนจะชะลอตัวลง ยุคการเติบโตอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจจีนได้สิ้นสุดแล้ว จีนต้องปรับเผชิญกับความท้าทายใหม่นานัปการ การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนมีคำอธิบายที่หลากหลาย ทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน หากยังคงดำเนินการในวิถีทางหรือรูปแบบเดิมๆ ก็จะกลายเป็นตัวถ่วงของการเดินหน้าเศรษฐกิจจีนจากนี้ต่อไป

ประการที่ 2 “ม้าลากรถสามตัวกำลังอ่อนแรง ที่ผ่านมาเศรษฐกิจจีนเติบโตได้จากภาคการส่งออก การลงทุนและการบริโภค เป็นเสมือนม้าลากรถสามตัว ที่เคยใช้เป็นแรงผลักดันพื้นฐานในการพัฒนาเศรษฐกิจของจีน หากแต่ในขณะนี้ บริบทต่างๆ ได้เปลี่ยนแปลงไป จำเป็นต้องมีการสร้างหัวจักรใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีน ได้แก่ การปฏิรูปทั้งระบบ (System Reform) การปรับโครงสร้างที่สมดุล (Structure Optimization) และการยกระดับองค์ประกอบอย่างแท้จริง (Elements Upgrade) เพื่อมุ่งสู่การสร้างประสิทธิภาพและปรับตัวให้ทันต่อเหตุการณ์

ประการที่ 3 “ยุคต้นทุนสูงกำลังคืบคลานมา ในอดีตที่ผ่านมา “ความได้เปรียบด้านต้นทุน” คืออาวุธหลักที่ทำให้สินค้าของจีนสามารถแข่งขันได้ในตลาดต่างประเทศ แต่ในขณะนี้เศรษฐกิจจีนกำลังคืบคลานเข้าสู่ “ยุคต้นทุนสูง” โดยเฉพาะต้นทุนค่าแรงงานที่เพิ่มขึ้น ตั้งแต่ปี 2008 นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายทางสังคมที่เพิ่มขึ้น ภาคธุรกิจของจีนจะต้องรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น ทั้งด้านความปลอดภัยทางสังคม การคุ้มครองสิ่งแวดล้อม และความรับผิดชอบต่อสังคมด้านอื่นๆ ทำให้มีต้นทุนเพิ่มมากขึ้น รวมไปถึง ต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะต้นทุนด้านพลังงาน ตลอดจนต้นทุนของที่ดินที่เพิ่มขึ้นราคาสิทธิในการใช้ที่ดินของจีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี เป็นเหตุให้เศรษฐกิจจีนเข้าสู่ยุคที่มีต้นทุนสูงอย่างชัดเจน

ประการที่ 4 ปรับเปลี่ยนจากสังคมชนบทเป็น สังคมเมือง” การสร้างความเป็นเมือง (Urbanization) ของรัฐบาลจีนมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งด้านอุปสงค์และอุปทานให้ขยายตัวไปได้ ความเป็นสังคมเมืองทำให้ชนชั้นกลางจีนกลายเป็นขุมพลังของเศรษฐกิจจีน และส่งผลต่อการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมและภาคบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ในอนาคตจะมีอัตราการขยายตัวของเขตเมืองเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ ดังนั้นรูปแบบการใช้ชีวิตและความต้องการของชาวจีนในเขตเมือง จะนำมาซึ่งความต้องการด้านลงทุนขนาดใหญ่ตามมา

ประการที่ 5 “ระบบเครือข่ายธุรกิจบนอินเทอร์เน็ตล้มล้างระบบดั้งเดิม แนวคิดธุรกิจแบบดั้งเดิมเน้นข้อได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้ง อาจจะอาศัยเพียงแค่มีพื้นที่หน้าร้านในย่านใจกลางเมืองบวกกับการสร้างความสัมพันธ์ Guanxi ก็สามารถสร้างธุรกิจขึ้นได้ แต่ในยุคของระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่พัฒนาก้าวไกล ส่งผลให้กิจการที่มีความได้เปรียบทางทำเลที่ตั้งนับวันจะยิ่งอ่อนแอลงในขณะนี้ เพียงแค่มีโทรศัพท์สมาร์ทโฟนที่ทันสมัย ผู้บริโภคจีนก็มีความสะดวกสบายในการสั่งซื้อสินค้าผ่านระบบออนไลน์ โทรศัพท์มือถือในยุคนี้จึงเปรียบเสมือนประตูเชื่อมความต้องการที่ลงตัวและสามารถตอบโจทย์วิถีชีวิตชาวจีนยุคใหม่ได้มากขึ้น เครือข่ายอินเทอร์เน็ตบนมือถือได้มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงการดำเนินชีวิตของผู้บริโภคจีนยุคใหม่ และส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมธุรกิจรูปแบบดั้งเดิม ซึ่งจำเป็นต้องปรับปรุงขนานใหญ่ เพื่อความอยู่รอดและปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปในยุคโลกออนไลน์

ประการที่ 6 “ธุรกิจด้านบริการแซงหน้าธุรกิจอุตสาหกรรม ธุรกิจการผลิตอุตสาหกรรมของจีนกำลังก้าวเข้าสู่ยุคที่ล้าหลังลงไปเรื่อยๆ ในขณะที่ธุรกิจภาคบริการก้าวขึ้นมามีบทบาทอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการจัดจำหน่ายสินค้าที่ควบคู่ไปกับการให้บริการ รวมไปถึงภาคการท่องเที่ยว การศึกษา และธุรกิจบริการที่ตอบสนองต่อไลฟ์สไตล์ของคนจีนยุคใหม่ ดังนั้นธุรกิจด้านการบริการกลายเป็นแนวโน้มที่ผู้ประกอบการจีนต้องปรับตัวและพัฒนาต่อไป มีการพูดถึง ยุทธศาสตร์ Internet Plus +” และการมุ่งสู่เศรษฐกิจดิจิตอล เพื่อใช้ประโยชน์จากเครือข่ายอินเทอร์เน็ตในการผลิต การจำหน่ายสินค้า และการให้บริการควบคู่กันไป

ประการที่ 7 ความได้เปรียบ ด้านคุณภาพของทรัพยากรมนุษย์ มาแทนที่ความได้เปรียบจาก ขนาดจำนวนประชากร ในอดีตที่ผ่านมา เศรษฐกิจจีนอาศัยความได้เปรียบจากขนาดและจำนวนประชากร ในการผลิตสินค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้น มีต้นทุนต่ำจนกลายเป็นโรงงานของโลก แต่ด้วยปัญหาในเชิงโครงสร้างประชากรจีนที่กำลังจะเกิดขึ้น ทั้งในเรื่องสังคมผู้สูงอายุและความจำกัดของกำลังแรงงานจีน บวกกับค่าแรงที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ความได้เปรียบแบบเดิมๆ ของจีนกำลังจะตกยุค จำเป็นต้องหันมาพัฒนาสร้าง “ความได้เปรียบของทรัพยากรมนุษย์” ที่มีคุณภาพและมีนวัตกรรมในการผลิต ตลอดจนการหันมาผลิตในโรงงานที่เป็น Smart Factory ภายใต้ยุทธศาสตร์อุตสาหกรรม Made in China 2025 ในยุค Industry 4.0 เน้นใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิตอลในการผลิต และมีการบริการลูกค้าควบคู่ไปด้วย

ประการที่ 8 มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมในจีนสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมประชาชาติ 5 ปี ฉบับที่ 11 เป็นต้นมา รัฐบาลจีนได้หันมาเน้นเรื่องมาตรฐานสิ่งแวดล้อมและเริ่มใช้ระบบตัวชี้วัดด้านสิ่งแวดล้อมเข้ามาเป็นเงื่อนไขในการผลิต ตลอดจนการออกกฎหมายและมีมาตรการที่เข้มงวดด้านสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง ส่งผลให้ต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในประเทศจีน

ประการที่ 9 หมดยุคของการเป็น มณฑลนิยมแข่งขันกันจนเกิดปัญหา รัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นจีนกำลังมุ่งเน้นส่งเสริมการ “ก้าวไปพร้อมกัน” มีการจับมือร่วมมือระหว่างรัฐบาลมณฑลระดับพื้นที่ ซึ่งแตกต่างกับในอดีตที่มีการแข่งขันในระดับมณฑลกันอย่างเข้มข้นจนเกิดปัญหา “มณฑลนิยม” แข่งกันผลิต แข่งกันสร้าง จนเกิดภาวะล้นเกิน สร้างปัญหาในระดับมหภาค การหันมาเน้นความร่วมมือกันระหว่างมณฑล ส่งผลดีต่อการสร้างความเชื่อมโยงของเครือข่ายอุตสาหกรรมการผลิต มีการเคลื่อนย้ายของอุตสาหกรรมระหว่างพื้นที่ในเขตภูมิภาค และการเคลื่อนย้ายของประชากรก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน ส่งผลให้มีการกำกับดูแลและควบคุมทางด้านสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มขึ้น และส่งผลต่อเนื่องถึงระบบการคมนาคมขนส่งและการสื่อสาร ตลอดจนเครือข่ายในภาคบริการของจีน

โดยสรุป การเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ทั้ง 9 ประการ สะท้อนถึง สิ่งจำเป็นที่รัฐบาลจีนต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจจีนแบบยกเครื่อง เพื่อสร้างความแข็งแกร่งจากภายในเสริมพลังในการผงาดขึ้นมาเป็นมหาอำนาจอันดับ 1 ของโลกต่อไป และทั้งหมดนี้เป็นทิศทางที่รัฐบาลไทยและภาคเอกชน ตลอดจนผู้ที่สนใจติดตามพัฒนาการประเทศจีนควรที่จะเรียนรู้และพึงตระหนัก เพื่อเตรียมรับมือ พร้อมไปกับการคิดวิเคราะห์หาแนวทางเพื่อเติบโตไปกับมังกรจีน Rise with the Dragon อย่างไร เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศไทยจากนี้ต่อไป

---------------------

รศ.ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น

ดร.หลี่ เหรินเหลียง

ศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน แห่งสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ

www.vijaichina.com