'บัญชีเล่มเดียว'วัดใจเอสเอ็มอี

'บัญชีเล่มเดียว'วัดใจเอสเอ็มอี

มีเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรท่านหนึ่ง เล่าให้ผู้เขียนฟังว่า

 ขณะนี้ โครงการจัดทำบัญชีเล่มเดียว ที่รัฐบาลโดยกรมสรรพากรต้องการให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ยื่นแสดงรายการบัญชีรายรับและรายจ่ายอย่างถูกต้อง หรือที่เรียกว่าการยื่นบัญชีเล่มเดียวนั้น กำลังเป็นประเด็นปัญหาที่ทำให้กรมสรรพากร ต้องนำมาถกในการประชุมสรรพากรพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จมากที่สุด

เพราะปัญหาที่ว่านี้ กำลังเกิดขึ้นทั้งฝั่งผู้ปฏิบัติ ซึ่งก็คือ ผู้เสียภาษี และ ฝั่งผู้ผู้กำกับ ซึ่งก็คือ กรมสรรพากร โดยปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับผู้ปฎิบัติ ซึ่งก็คือ ตัวผู้ประกอบการเอง เมื่อเข้าร่วมโครงการทำบัญชีเล่มเดียวกับกรมสรรพากรแล้ว จะต้องยื่นแสดงรายรับและรายจ่ายในการชำระภาษีที่ตรงกับความเป็นจริง เพื่อให้ได้สิทธิประโยชน์ตามที่กรมสรรพากรจูงใจ อาทิ ไม่ถูกตรวจสอบภาษีย้อนหลัง ได้การยกเว้นภาษีในปี 2559 และ ปี 2560 สำหรับรายที่มีกำไรไม่เกิน 3 แสนบาท ส่วนที่มีกำไรเกินกว่านั้น จะเสียภาษีในอัตรา 10% ในปี 2560 เป็นต้น

แต่ปัญหา คือ ผู้ประกอบการจะทำใจยื่นแสดงบัญชีที่ถูกต้องได้แค่ไหน โดยเฉพาะในรายที่เคยแสดงผลกำไรต่ำกว่าความเป็นจริงมากเป็นระยะเวลานาน เช่น ในอดีตเคยยื่นแสดงกำไรในหลัก 1-2 ล้านบาท หรือ อาจยื่นผลขาดทุน แต่มีกำไรจริง 10 ล้านบาท ซึ่งแม้ว่า สิทธิประโยชน์ที่กรมสรรพากรให้ จะจูงใจในระยะ 1-2 ปีแรก แต่ระยะปีต่อๆไปนั้น การแสดงผลกกำไรในแบบรายการยื่นภาษีนั้น จะต้องเป็นตัวเลขจริงที่เป็นฐานในการคำนวณภาษีระยะต่อไป

หากผู้ประกอบการทำใจยื่นบัญชีถูกต้อง ก็ไม่มีปัญหา แต่อาจทำให้เจ้าหน้าที่กรมสรรพากรทำใจไม่ได้ เพราะเคยเก็บภาษีบนฐานแสดงกำไรที่ต่ำถึงต่ำมาก แต่หากผู้ประกอบการยังทำใจยื่นภาษีถูกต้องไม่ได้ การยื่นบัญชีไม่ถูกต้องเหมือนเดิม กรณีนี้ จะเป็นปัญหากับกรมสรรพากรในฐานะผู้กำกับ เพราะต้องยอมรับการยื่นบัญชีที่ไม่ถูกต้องนี้ อย่างน้อยก็ในระยะที่กรมสรรพากรมีโปรโมชั่นไม่เก็บภาษีในปี 2559

อย่างไรก็ดี ในปี 2560 กรมสรรพากรจะเริ่มเก็บภาษีแต่จัดเก็บในอัตราลดลง ซึ่งก็ต้องมีการตรวจสอบภาษีอย่างเข้มงวด คำถามคือ ถ้าการตรวจสอบการชำระภาษีของกรมสรรพากรมีประสิทธิภาพดีแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องจัดให้มีโครงการบัญชีเล่มเดียว จึงไม่อาจแน่ใจว่า กรมสรรพากรจะสามารถตรวจสอบการชำระภาษีให้ดีมากขึ้นได้อย่างไร

ว่ากันว่า ปัญหานี้ จะหมดไป เมื่อโครงการ National e-Payment ถูกนำมาใช้ เพราะกรมสรรพากรจะสามารถเชื่อมโยงข้อมูลทุกรายการที่มีการซื้อและขาย ทำให้สามารถประเมินถึงรายรับและรายจ่ายของผู้ประกอบธุรกิจได้ ตัวผู้ประกอบการจะไม่สามารถเลี่ยงภาษีได้ ขณะที่ เจ้าหน้าที่กรมสรรพากรก็จะมีข้อมูลจริงของผู้ประกอบการมากขึ้น

อีกประการหนึ่ง คือ นับจากปี 2562 ผู้ประกอบการที่จะขอเงินทุนจากสถาบันการเงิน จะต้องใช้บัญชีเล่มเดียวกันกับที่ยื่นต่อกรมสรรพากรมาแสดง เพื่อเป็นหลักฐานว่า นี่คือ บัญชีตัวจริง ไม่มีการสร้างรายได้เท็จขึ้นมาเพื่อขอสินเชื่อ ถือเป็นหนึ่งในมาตรการที่จะช่วยตีกรอบให้เอสเอ็มอีเข้าระบบภาษีที่ถูกต้อง

โครงการนี้ ถือเป็นโครงการที่ดีมากโครงการหนึ่ง เพราะจะทำให้เอสเอ็มอีกว่า 4 แสนรายเสียภาษีอย่างตรงไปตรงมา สร้างความเป็นธรรมกับผู้เสียภาษีในระบบ ฐานภาษีและรายได้ของรัฐบาลก็จะมากขึ้น แต่ในระยะเปลี่ยนผ่านนี้ ถือเป็นช่วงเวลาวัดใจผู้ประกอบการว่า จะเดินหน้าไปกับกรมสรรพากรหรือไม่