บทเรียน 'พฤษภาทมิฬ'

บทเรียน 'พฤษภาทมิฬ'

เชื่อว่า คนที่เคยร่วมในเหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ”

 ถึงตอนนี้ คงกระจายไปอยู่ตามส่วนต่างๆ ของสังคมหลากหลายอาชีพ คนหนุ่มเข้าสู่วัยกลางคน ส่วนวัยกลางคนเริ่มแก่ลง “24ปี” นานพอที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรไปมากเหมือนกัน

แต่ดูเหมือนสิ่งหนึ่งที่ไม่ยอมเปลี่ยนก็คือวงจรอุบาทว์ ทางการเมือง ที่เป็นเหตุให้นำมาสู่รัฐประหาร

จนน่าอายต่อ วีรชนผู้กล้าที่เสียสละเอาชีวิตเข้าแลก กว่าจะทำให้การเมืองไทยหลุดพ้นจาก เผด็จการทหารมาได้ แต่ความเป็นประชาธิปไตยกลับถูกนำไปรับใช้กลุ่มทุน ตัวบุคคล ครอบครัวและวงศ์ตระกูลของนักการเมือง ที่แทบมองไม่เห็นพัฒนาการอะไรเลย นอกจาก เล่นเกมสร้างความขัดแย้ง จนสุดท้ายก็ถูกรัฐประหารอย่างง่ายดาย

อย่าลืมว่า เมื่อ24ปีที่แล้ว เหตุการณ์ที่นำมาสู่ “พฤษภาทมิฬ” ...คือการเรียกร้องประชาธิปไตย และเรียกร้อง “นายกรัฐมนตรี” มาจากการเลือกตั้ง

หลังเกิดการรัฐประหารรัฐบาลพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ(รสช.) จากนั้นก็ให้ อานันท์ ปันยารชุน ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีขัดตาทัพ เพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2535 โดยพรรคสามัคคีธรรมได้รับการเลือกตั้งเข้ามามากที่สุด จำนวน 79 คน ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

แต่เนื่องจากณรงค์ วงศ์วรรณ หัวหน้าพรรคไม่สามารถดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ เพราะนางมาร์กาเร็ต แท็ตไวเลอร์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ออกมาประกาศว่า “ณรงค์” เป็นหนึ่งในบัญชีดำ ผู้ไม่สามารถขอวีซ่าเดินทางเข้าสหรัฐฯได้ เนื่องจากมีความใกล้ชิดกับการค้ายาเสพติด

เป็นเหตุให้ พรรคร่วมเสียงข้างมาก ซึ่งประกอบด้วย พรรคสามัคคีธรรม พรรคชาติไทย พรรคกิจสังคม พรรคประชากรไทย พรรคราษฎร สนับสนุนพล.อ.สุจินดา คราประยูร หนึ่งในหัวขบวน “รสช.” ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 19 ทั้งที่ก่อนหน้านี้ พล.อ.สุจินดา เคยประกาศว่า จะไม่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่กลืนน้ำลายตัวเองในเวลาต่อมาว่า จำเป็นต้อง “เสียสัตย์เพื่อชาติ

หลังการเป็นนายกฯของพล.อ.สุจินดา ก็ตามมาด้วยกระแสคัดค้านอย่างรุนแรง กระทั่งมีการนัดชุมนุมใหญ่ที่ท้องสนามหลวง นัยว่ามีคนเข้าร่วมนับห้าแสนคนเลยทีเดียว ก่อนนำมาสู่การใช้กำลังทหารปราบปรามผู้ชุมนุมที่ถนนราชดำเนินอย่างรุนแรง จนมีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก ในช่วงระหว่างวันที่ 17-20พฤษภาคม 2535 และหลังจากเหตุการณ์สงบลงด้วยพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ประมาณหนึ่งสัปดาห์ พล.อ.สุจินดา ก็ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี...

ที่น่าสนใจอีกอย่าง ก็คือ การเกิดขึ้นของ พรรคเทพ และพรรคมาร ในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ซึ่งพรรคการเมืองแบ่งออกเป็น 2 ฝ่ายอย่างชัดเจน โดยพรรคที่ถูกเรียกว่า พรรคเทพ คือพรรคที่ประกาศตัวเป็นฝ่ายค้าน ไม่สนับสนุนการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.สุจินดา เนื่องจากกระแสหลักของสังคมไทยขณะนั้น เรียกร้อง “นายกฯ ต้องมาจากการเลือกตั้ง” ซึ่งพรรคเทพ ประกอบด้วย พรรคความหวังใหม่ (72 เสียง) พรรคประชาธิปัตย์ (44 เสียง) พรรคพลังธรรม (41 เสียง) และพรรคเอกภาพ (6 เสียง)

ขณะที่ พรรคมาร คือพรรคที่สนับสนุนพล.อ.สุจินดา ประกอบด้วย พรรคสามัคคีธรรม (79 เสียง) พรรคชาติไทย (74 เสียง) พรรคกิจสังคม (31 เสียง) พรรคประชากรไทย (7 เสียง) และพรรคราษฎร (4 เสียง) ซึ่งก่อนเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬมีกระแสเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้ “นายกรัฐมนตรี” ต้องมาจากการเลือกตั้ง และทั้ง 5 พรรคต่างเคยตอบรับมาก่อน แต่สุดท้ายก็หันมาสนับสนุนพล.อ.สุจินดา ทั้งที่เห็นได้ชัดว่า เป็นการพยายามสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร...

ทั้งหมด คือ บนเรียนให้เราได้ศึกษาถึง24ปี และกำลังเข้าสู่ “เบญจเพส” ที่คนโบราณถือว่าเป็นวัยที่อาจมีเคราะห์ร้ายเกิดขึ้นก็เป็นได้

เรากำลังต้องการรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย เรียกร้อง “นายกรัฐมนตรี” ต้องมาจากการเลือกตั้ง ขณะที่ “คสช.” ก็ประกาศที่จะคืนประชาธิปไตยให้ประชาชน ทั้งยังประกาศอย่างชัดเจนต่อสาธารณชนครั้งแล้วครั้งเล่าว่าจะไม่ “สืบทอดอำนาจ”

เรามีสองฝ่ายอย่างชัดเจน ที่สนับสนุนทั้ง “คสช.” และฝ่ายต่อต้าน “คสช.” โดยมีฐานมวลชนที่ใกล้เคียงกัน และมีผู้นำสองฝ่ายที่ไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่าอดีต

จึงหวังเพียงอย่างเดียวว่า “บทเรียน” จะไม่ทำให้ประวัติศาสตร์ต้องซ้ำรอยเท่านั้นเอง