จุดหัวเลี้ยวหัวต่อของเศรษฐกิจไทย

จุดหัวเลี้ยวหัวต่อของเศรษฐกิจไทย

ปี 2559-2560 จะเป็นจุดหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญของเศรษฐกิจไทย

คนที่ติดตามเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด มักจะมีคำถามอยู่ในใจอยู่เสมอในช่วงหลังๆ ว่า “กำลังเกิดอะไรขึ้นกับเศรษฐกิจไทย” เพราะในอดีต ประเทศของเราเคยเจริญเติบโตได้ดี เคยเติบโตสูงสุดของโลก ต่อมา แม้จะชะลอลงบ้าง แต่ GDP ที่โตปีละ 6-7% ก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดาของเศรษฐกิจไทย เช่นเดียวกับการส่งออกที่โตได้อย่างน่าพึงพอใจในระดับ 20% ปีแล้วปีเล่า

แต่ล่าสุด เศรษฐกิจไทยกลับทำตัวเหมือนกับว่าเป็นหนังคนละม้วน ระหว่างปี 2556-2558 ขยายตัวเพียง 2.7% 0.8% และ 2.8% ตามลำดับ โดยเฉพาะปี 2558 แม้ฐานก็ต่ำจากปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นปีที่มีการเผชิญหน้าอย่างรุนแรงทางการเมือง อีกทั้ง รัฐบาลจะได้อัดฉีดมาตรการออกไป หลายต่อหลายขนานเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของเราก็ยังไม่โตอย่างที่ควรจะเป็น

ส่วนด้านการส่งออกก็เช่นกัน ขยายตัวได้เพียง 2.9% -0.3% -0.4% -5.8% ในช่วงสี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าห่างไกลจากอัตราในอดีตมาก

กำลังเกิดอะไรขึ้นกับเศรษฐกิจไทย

บางคนอธิบายว่า โลกกำลังเข้าสู่ New Normal ทุกประเทศขยายตัวได้ช้าลง ประเทศไทยก็คงหลีกเลี่ยงจากแนวโน้มดังกล่าวไม่ได้ ดังนั้น ที่เราขยายตัวได้ไม่ถึง 3% ถือเป็นเรื่องปกติ ไม่ต้องกังวลใจ

แต่ในประเด็นนี้ ผมคิดว่าไม่น่าจะจริง ถ้าเราไปดูอัตราการเจริญเติบโตของเพื่อนบ้านในปี 2558 ที่ผ่านมา เราจะเห็นได้ว่ามีเพียงประเทศไทยเท่านั้น ที่โตไม่ออก ขยายตัวไม่ได้ เพราะในปีดังกล่าว เพื่อนบ้านเรา เช่น มาเลเซียสามารถขยายตัวได้ประมาณ 5% อินโดนีเซียขยายตัว 5% ฟิลิปปินส์ขยายตัว 6%

ถ้าเราเข้าสู่ New Normal โตได้ไม่ถึง 3% มา 3 ปี แล้วทำไมเพื่อนบ้านของเรายังขยายตัวได้คนละ 5-6% ในช่วงเดียวกัน

หลังหาคำตอบมาหลายรอบ คำตอบสุดท้ายที่ผมสรุปได้ก็คือ เศรษฐกิจไทยกำลังทำตัวเหมือน บริษัทที่พยายามขายมือถือตกรุ่น” เพื่อนๆ เขาก้าวไปสู่การเป็น Smartphone แบบหน้าจอสัมผัสไปแล้ว แต่เราก็ยังขายรุ่นเดิมๆ ที่อาศัยแป้นกดอยู่เหมือนเดิม พยายามให้พนักงานไปเร่งขาย ทำทุกวิถีทางเพื่อเพิ่มยอด แต่ท้ายที่สุด ยอดขายก็โตแบบกระท่อนกระแท่น ขณะที่ยอดขายเพื่อนโตได้ดีจนเราต้องอิจฉา

เราคงต้องยอมรับความจริงว่า 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยของเราทะเลาะกันมากเกินไป จนกระทั่งไม่ได้ลงทุนก่อสร้างในโครงสร้างพื้นฐานสำคัญๆ ไม่ได้สร้างอุตสาหกรรมใหม่ที่จะเป็นอนาคตให้กับทุกคน นอกจากนี้ ปัญหาน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ยิ่งช่วยเร่งให้นักลงทุนต่างชาติ ที่เดิมใช้ไทยเป็นฐานหลักในการผลิตของเขา มองหาทางเลือกใหม่ ฐานการผลิตใหม่ที่จะช่วยลดความเสี่ยงต่อกระบวนการผลิต

ด้วยเหตุนี้ จึงไม่น่าแปลกใจว่า เศรษฐกิจไทยไม่สามารถออกตัว ไม่สามารถวิ่งไปข้างหน้าได้ดี เช่นเดียวกับคนอื่นๆ

จุดหัวเลี้ยวหัวต่อของเศรษฐกิจไทย

การที่เศรษฐกิจไทยจะไปได้ดีหรือไม่ในอนาคต จึงอยู่ที่ปี 2559-2560 ว่าเราจะสามารถปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไทยได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่า เราสามารถใช้โอกาสที่เปิดขึ้นในการเร่งลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เร่งพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่เพื่อสร้างอนาคตให้กับทุกคน และปรับเปลี่ยนกฎหมายที่เป็นข้อจำกัด ตัวถ่วงการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ เพื่อให้เป็น Platform ใหม่ พร้อมแข่งขันกับทุกคน ได้หรือไม่

ในประเด็นนี้ สิ่งที่น่าดีใจก็คือ โครงการ Megaprojects ที่เราพูดถึงกันมามากกว่า 10 ปี กำลังเริ่มขยับเขยื้อนเป็นครั้งแรก จากการประมูล 4G และการประมูลโครงการรถไฟทางคู่สายจิระ-ขอนแก่น และแก่งคอย-คลองสิบเก้า-ฉะเชิงเทรา เมื่อปลายปีที่แล้ว ต้นปีนี้ โครงการสุวรรณภูมิช่วงที่สอง รถไฟใต้ดินสายสีชมพู สีเหลือง สีน้ำเงิน ทางหลวงบางปะอิน-โคราช บางใหญ่-กาญจนบุรี กำลังเริ่มขึ้นเช่นกัน นอกจากนี้ รัฐบาลกำลังสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำโครงการรถไฟฟ้าใต้ดินที่เหลือเข้าสู่การพิจารณา เตรียมการเรื่องรถไฟความเร็วสูงสายต่างๆ ตลอดจนมุ่งยกระดับ Eastern Seaboard ขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง โดยเริ่มพิจารณาการขยายท่าเรือแหลมฉบังเฟสสาม การยกระดับท่าเรือและสนามบินอู่ตะเภา ตลอดจนการสร้าง Free Trade Zone ในภาคตะวันออก เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางสำคัญของการผลิตและโลจิสติกส์ของอาเซียนต่อไป

อีกด้านที่น่าดีใจเช่นกัน ก็คือ เราเริ่มเดินหน้าสร้างอุตสาหกรรมใหม่ให้กับประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมาย 10 กลุ่มที่จะเป็นอนาคตให้กับประเทศ เช่น อุตสาหกรรม Digital อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรม Biochemical และ Biofuels ตลอดจนอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub) ออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อช่วยสนับสนุนการลงทุนของภาคเอกชนในการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ การเอื้อให้มหาวิทยาลัยทำงานใกล้ชิดกับภาคเอกชนในการวิจัย รวมทั้ง การให้ความสำคัญกับการสร้าง Start up ไม่ว่าจะเป็น Bio-tech Medical-tech Fin-tech Digital-tech ฯลฯ ซึ่งอุตสาหกรรมและบริษัทใหม่ๆ เหล่านี้ จะออกดอกออกผลและเป็นกำลังสำคัญในการแข่งขันให้กับประเทศในช่วงต่อไป เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมยานยนต์และปิโตรเคมิคอลที่กำลังออกดอกออกผลอยู่ในขณะนี้

ท้ายสุด คือ การปรับปรุงกฎระเบียบและออกกฎหมายที่จะเป็นรากฐานด้านเศรษฐกิจของประเทศ เช่น ในด้านศุลกากร Work Permits การอำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจ พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้า พ.ร.บ. การเงินการคลัง พ.ร.บ. กำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ตลอดจนกฎหมายอื่นๆ ที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำของชนชั้น เช่น พ.ร.บ. สถาบันการเงินชุมชน พ.ร.บ. ระบบเกษตรพันธสัญญาที่เป็นธรรม พ.ร.บ. ธนาคารที่ดิน ตลอดจน การปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆ เพื่อสนับสนุนให้เกิดการประกันภัยพืชผลอย่างทั่วถึง เป็นต้น จะช่วยวางกรอบใหม่ในการทำงานของระบบเศรษฐกิจไทย

การปฏิรูปเปลี่ยนแปลงในทั้งสามด้านนี้ จะเป็นจุดหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญที่ช่วย Platform ใหม่ให้กับประเทศ ซึ่งเมื่อสำเร็จจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยสามารถแข่งขันได้ สามารถขยายตัว ส่งออกได้ไม่น้อยกว่าเพื่อนๆ และช่วยสร้างอนาคตให้กับลูกหลานคนไทยต่อไป

ผมขอเป็นกำลังใจให้กับทุกคนครับ