ผันผวนทุกตลาดยกเว้น .....

ผันผวนทุกตลาดยกเว้น .....

หลังจากธนาคารพาณิชย์พร้อมใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MLR ลง ราคาหุ้นกลุ่มธนาคารได้ปรับลดลง 5-10%

ตามสัดส่วนรายได้ว่าค่อนไปทาง Wholesale มากเพียงใด 


นอกจากผลจากการปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ลงจะส่งผลกระทบต่อรายได้แล้ว การที่ LDR หรือ Loan-to-Deposit ratio อยู่ต่ำกว่าระดับมาตรฐานทำให้ธนาคารต้อง Trade-off ระหว่างการปล่อยให้สภาพคล่องส่วนเกินท่วมในรูปของ interbank loans ที่กู้ยืมกันที่อัตราดอกเบี้ยนโยบาย 1.50% แต่ส่งผลให้ NIM (Net Interest Margin) ลดลง หรือ จะเพิ่มพอร์ตสินเชื่อกลุ่ม SME เพื่อเพิ่ม NIM แต่จะนำไปสู่ความกังวลเรื่องการเพิ่มขึ้น NPL

ท่ามกลางความกังวลจากมุมมองที่เป็นลบจากภาคการเงินการธนาคาร ยังพอมีข่าวดีในตลาดหุ้นอยู่บ้าง นั่นคือ แม้หุ้น Big Cap กลุ่มแบงก์จะถูกขายออกอย่างต่อเนื่อง หุ้นกลุ่มพลังงานกลับขึ้นสวนทางและเป็นตัวช่วยพยุงดัชนีตลาดให้อยู่ในกรอบ 1,350-1,420 ตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา เงินที่ไหลเข้า ปตท. ปตทสผ. ตามทิศทางราคาน้ำมันซึ่งดีดตัวขึ้นจาก 35 แตะ 46 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล …ขึ้นมาได้ยังไงครับราคานั้น สภาวะ Oversupply ในตลาดโลกยังคงมีอยู่ชนิดที่ไม่น่าจะขจัดได้ในปีนี้ด้วยซ้ำไป

อีกหนึ่งปัจจัยที่ต้องกล่าวถึงเพราะทำให้เกิดความผันผวนในตลาดเงินอย่างมากก็คือ ค่าเงินครับ ดอกเบี้ย หรือ Yield curve จะไม่เป็นความกังวลไปอีกหลายเดือน ผมยังมองไม่เห็นว่าจะปรับตัวขึ้นได้อย่างไรในสภาวะที่สภาพคล่องล้นตลาด Money Market ขนาดนี้ ... ตั้งแต่ต้นปี ค่าเงินบาท มีความผันผวนมาก บางวัน USDTHB เทรดกันใน band (High - Low) ที่กว้างสุดถึง 44 สตางค์ เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของ band ในปีนี้ที่ 18 สตางค์ เช่นวันที่ 23 มี.ค. เงินบาทมีความผันผวนมากแกว่งตัวระหว่าง 34.89-35.28

กล่าวได้ว่า ปัจจัยที่มีผลต่อค่าเงินบาทในปีนี้มาจาก External factor จากฝั่งสหรัฐและญี่ปุ่นเป็นสำคัญ ล่าสุดการที่ธนาคารกลางของญี่ปุ่นตัดสินใจไม่เพิ่มมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในการประชุมวันที่ 28 เม.ย. เพราะคาดหวังว่าผลจากการปรับดอกเบี้ยนโยบายติดลบไปในเดือน ก.พ.ที่ผ่านมากำลังจะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจ ในวันนั้นค่าเงิน JPY แข็งขึ้นอย่างมากจาก 111.8 สู่ 107.9 และยังส่งผลให้ค่าเงินเอเชียรวมทั้ง THB แข็งค่าในลักษณะเดียวกันด้วย หลังจากการประชุม BOJ ในวันที่ 28 เม.ย. ค่าเงินบาท rally ระยะสั้นจาก 35.15 แตะ 34.82 ก่อนที่จะอ่อนค่าสู่ 35.15 อีกครั้ง

เมื่อต้นปีนี้เอง ผมเขียนบทความแนะนำให้ท่านผู้อ่านพิจารณา 2 ประเด็น 1) หลีกเลี่ยงหุ้นที่มี P/E สูงกว่า 50 เท่า และ/หรือ มี Price/Book value มากกว่า 10 เท่า 2) พิจารณาการลงทุนทางเลือก (Alternative Investments หรือ AI) ประเภทกองทุนอสังหาริมทรัพย์ Property fund (PF) หรือ REIT (Real Estate Investment Trust) หรือ Infrastructure Fund หรือ IFF

ความน่าสนใจของ PF หรือ REIT คือ สามารถฟันฝ่าความผันผวนของตลาดลงทุนไปได้เสมอ การลงทุนนั้น คือ ที่มีรูปแบบของผลตอบแทนใกล้เคียงการเก็บค่าเช่า แตกต่างกันในส่วนของ Investment Universe และ Lock-up period ของ IFF ที่ยาวนานกว่า PF และ REIT

หากพิจารณา ความสัมพันธ์ (คร่าวๆ) อันหนึ่งที่ผมมักจะใช้เป็นกรอบในการพิจารณาลงทุน และทำ Asset Allocation คือ Government Bond Yield 10 ปี = Dividend Yield = GDP growth พอจะสรุปความเบื้องต้นได้ว่า การที่เศรษฐกิจเติบโตดี ย่อมสะท้อนในรูปของ GDP growth ที่โต และกำไรของบริษัทจดทะเบียนจะเติบโตเช่นกัน สิ่งที่ตามมาคือ Dividend yield ของ SET จะสูง และการที่ GDP เติบโต อัตราดอกเบี้ยย่อมปรับสูงขึ้นตาม inflation

ผม plot ความสัมพันธ์ของ NAV ของ 2 กองทุน PF (CPNRF และ TLGF) ที่มีสภาพคล่องสูงเทียบกับ Yield ของพันธบัตรรัฐบาลไทย 10 ปี มาให้พิจารณา การใช้ Chart นี้ประกอบกับความสัมพันธ์ข้างต้นสามารถตอบเราได้ว่า ทำไม NAV ของ PF จึงปรับขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่เดือน ก.พ. จนถึง พ.ค. เมื่อต้นปี Yield 10 ปี ยังคงอยู่ในระดับ 2.7-2.8%

การที่ PF ให้ผลตอบแทนในรูปเงินปันผลที่ 5.5-7.5% สูงกว่าพันธบัตรรัฐบาลถึง 3% ต่อปี ย่อมเป็นการลงทุนที่ไม่ควรมองข้ามอย่างแน่นอน ในปีนี้ที่ระบบธนาคารเผชิญปัญหาสภาพคล่องที่ท่วมท้น เม็ดเงินจำนวนมากจึงไหลเข้าตลาดพันธบัตรรัฐบาล ดันให้ผลตอบแทนลดลงจาก 2.7% แตะ 1.6% ภายในเวลาเพียง 3 เดือน สิ่งที่เราสามารถคาดเดาได้คือ ...... เม็ดเงินอีกส่วนหนึ่งย่อมไหลเข้าสู่กองทุน PF/REIT/IFF จนกระทั่งระดับการจ่ายปันผลลดลงจาก 5.5-7.5% เหลือเพียง 4.0-5.0% ต่อปี ถึงกระนั้นก็ยังน่าสนใจกว่าพันธบัตรรัฐบาล ส่วนเกณฑ์ในการเลือกกองทุน PF นั้นในเบื้องต้นเรามักพิจารณา Discount เมื่อเทียบกับ NAV และ Trailing Dividend yield ครับ บทวิเคราะห์โดยละเอียดสามารถติดตามได้จาก Finansia Syrus (PF/REIT/IFF) วันที่ 4 พ.ค. 2559 ครับ