จาก‘ทักษิณ’ถึง‘เดวิด คาเมรอน’ กรณีปานามาเปเปอร์ส 2559

จาก‘ทักษิณ’ถึง‘เดวิด คาเมรอน’ กรณีปานามาเปเปอร์ส 2559

ผู้เขียนได้กล่าวถึงปรากฏการณ์ที่บ่งชี้ถึงสภาวะของระบอบอำนาจนิยมภายใต้รัฐบาลทักษิณไปบ้างแล้ว อันได้แก่

1.การควบรวมพรรคและการปิดประตูตายการอภิปรายไม่ไว้วางใจจากฝ่ายค้าน

2.หลังจากจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ตั้งแต่ปี 2548 คุณทักษิณไม่สนใจที่จะตอบกระทู้ในสภาเลยแม้แต่ครั้งเดียว

3.ในเดือนพฤษภาคม 2548 ประธานรัฐสภาที่มาจากพรรคไทยรักไทยได้ลดกระทู้ฝ่ายค้าน จากเดิมทีทุกสัปดาห์ ฝ่ายค้านได้ 2 รัฐบาลได้ 1 มาเป็นสองสัปดาห์แรก ฝ่ายค้านได้ 2 รัฐบาลได้ 1 และสัปดาห์ที่สาม ฝ่ายค้านได้ 1 รัฐบาลได้ 2

4.ใช้เสียงข้างมากแก้กฎหมายที่มีคำถามว่าเพื่อเอื้อประโยชน์ครอบครัว (อันจะได้กล่าวต่อไป)

5.สมาชิกวุฒิสภาส่วนใหญ่ที่ถูกวิจารณ์ว่าเป็น “สภาผัวเมีย” ที่ถูกมองว่าอยู่ภายใต้อาณัติของทักษิณ ทำให้วุฒิสภาไม่สามารถทำหน้าที่เป็นกลไกตรวจสอบถ่วงดุลสภาผู้แทนราษฎรและฝ่ายบริหารได้ และประการสุดท้ายที่ได้กล่าวไปคือ การใช้กลไกการยุบสภาอย่างผิดหลักการ เพื่อเลี่ยงที่จะตอบคำถามจากสภาผู้แทนราษฎรในกรณีการซื้อขายหุ้นโดยไม่ต้องเสียภาษีของครอบครัวชินวัตร

ในกรณียุบสภาเพื่อหลีกเลี่ยงที่จะตอบข้อสงสัยเกี่ยวกับการซื้อขายหุ้นของครอบครัวคุณทักษิณนี้ หลายคนเคยอ้างว่า การยุบสภาของคุณทักษิณเป็นสิ่งที่ทำได้และไม่ผิดกติกาของประชาธิปไตยแบบรัฐสภา อีกทั้งคุณทักษิณไปออกรายการสัมภาษณ์โทรทัศน์รายการหนึ่ง หลังจากที่ยุบสภาไปแล้ว และรอการเลือกตั้ง แต่ผู้คนก็ยังเห็นต่างประท้วงต่อเนื่อง และคุณทักษิณได้อ้างว่า ที่ยุบสภาก็เป็นไปตามหลักการ ที่คุณทักษิณใช้ภาษาอังกฤษว่า “parliamentary supremacy” (อำนาจสูงสุดอยู่ที่รัฐสภา/ผู้เขียน) แต่ถ้าคุณทักษิณเชื่อหลักที่ว่านี้จริง เหตุไฉนจึงยุบสภาผู้แทนราษฎรเสียเล่า?

เพราะในกรณีที่คล้ายกันที่เพิ่งเกิดขึ้นและสร้างข่าวกระฉ่อนไปทั่วโลกก็คือ กรณี ปานามาเปเปอร์สที่ผู้นำหลายประเทศเข้าไปพัวพัน และหนึ่งในนั้นก็คือ นายเดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ เพราะปานามาเปเปอร์สที่หลุดออกมานั้นมีข้อมูลชี้ว่า สมาชิกในครอบครัวของนายคาเมรอนได้ไปจดทะเบียนบริษัทในประเทศที่ไม่ต้องเสียภาษี เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษี แน่นอนว่า ข่าวนี้ย่อมไม่เป็นผลดีต่อตัวนายคาเมรอนและรัฐบาลของเขา

แต่สิ่งที่นายคาเมรอนทำนั้น ถือได้ว่าเป็นการเคารพหลักการ อำนาจสูงสุดอยู่ที่รัฐสภาอย่างแท้จริง เพราะเขายอมไปตอบกระทู้ถามในกรณีดังกล่าวนี้ในสภา หนังสือพิมพ์มติชนฉบับวันที่ 13 เมษายน 2559 หน้า 15 ได้ลงข่าวเรื่องนี้ว่า “ในการอภิปรายอย่างดุเดือดในรัฐสภา จนมีสมาชิกสภานิติบัญญัติฝ่ายค้านรายหนึ่งต้องถูกเชิญตัวออกไป นายคาเมรอนกล่าวปกป้องผู้ที่ต้องการนำเงินมาช่วยเหลือจุนเจือครอบครัว ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาบอกว่า เป็นจุดประสงค์ของพ่อผู้ล่วงลับของเขาในการจัดตั้งบริษัทนอกอาณาเขต หรือออฟชอร์คอมปะนีที่ถูกเปิดเผยไว้ใน ‘ปานามาเปเปอร์ส’ เอกสารที่รั่วไหลออกมาของบริษัทที่ปรึกษาทางกฎหมาย ‘มอสแสค ฟอนเซกา’ ในปานามา”

อีกทั้ง “นายคาเมรอนพยายามที่จะเน้นย้ำถึงความแตกต่างของการหนีภาษีแบบผิดกฎหมาย และการหลีกเลี่ยงภาษีแบบถูกกฎหมาย และพยายามที่จะกล่าวถึงความห่วงกังวลในเรื่องความเป็นผู้นำของเขาที่ได้รับความเสียหาย ไม่เพียงแต่จากคำถามเกี่ยวกับทรัพย์สมบัติของเขาในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ยังเป็นเรื่องความแตกแยกในพรรคอนุรักษ์นิยมรวมถึงในเรื่องสมาชิกภาพของสหภาพยุโรปด้วย”

อย่างไรก็ดี นายเดวิด คาเมรอน กล่าวว่า “กำลังปรับแก้กฎหมายให้เข้มงวดมากขึ้นเพื่อขจัดการหนีภาษีให้หมดไป และหวังว่าจะยุติการถูกตรวจสอบอย่างละเอียดในเรื่องความมั่งคั่งร่ำรวยส่วนตัว และฟื้นความเชื่อมั่นในการเป็นผู้นำของเขาให้กลับมา” นายคาเมรอนกล่าวว่า “เป็นเรื่องถูกต้องในการออกกฎหมายให้เข้มงวดยิ่งขึ้น และเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมในเรื่องเกี่ยวกับการลงทุน เพื่อทำให้การหนีภาษีเป็นเรื่องผิดกฎหมายโดยสิ้นเชิง และชักจูงให้เลิกใช้ช่องโหว่เพื่อใช้สิทธิบรรเทาภาษีอย่างสุดโต่ง ซึ่งในการจะทำเช่นนั้น เราควรจะสร้างความแตกต่างระหว่างโครงการที่ออกมาเพื่อลดภาระทางภาษีและโครงการที่กระตุ้นการลงทุนอย่างแท้จริง ความทะเยอทะยานและการสร้างความมั่งคั่งไม่ใช่เรื่องสกปรก สิ่งเหล่านี้เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนการเติบโตและความมั่งคั่งในประเทศของเรา และเราควรจะให้การสนับสนุนผู้ที่ต้องการถือหุ้นหรือลงทุนเพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลครอบครัว”

แต่กระนั้น “มาตรการที่นายคาเมรอนประกาศออกมา ไม่ช่วยให้เสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่มีต่อตัวเขาลดน้อยลงเท่าใดนัก โดยเขาถูกกล่าวหาจากฝ่ายค้านว่าเป็นคนมือถือสาก ปากถือศีล จากการไล่ล่าเอาผิดผู้หลบเลี่ยงภาษีเนื่องจากกองทุนของพ่อถูกเปิดเผย และจากความล่าช้าในการเปิดเผยข้อมูลการยื่นแบบเสียภาษีของตน” หัวหน้าพรรคแรงงาน นายเจเรมี คอร์บิน กล่าวหานายคาเมรอนว่าเป็น “เจ้าแห่งการเบี่ยงประเด็น” ขณะที่นายเดนนิสสกินเนอร์ ส.ส.พรรคแรงงานที่ถูกเชิญออกจากห้องประชุมไป หลังไม่ยอมถอนคำพูดที่เรียกนายคาเมรอนว่า “จอมเจ้าเล่ห์”

จะเห็นได้ว่า กรณีซื้อขายหุ้นโดยเลี่ยงภาษีของครอบครัวนายคาเมรอนไม่ต่างจากกรณีซื้อขายหุ้นของครอบครัวคุณทักษิณเลย แต่สิ่งที่แตกต่างก็คือ 1. นายคาเมรอนเคารพหลักการอำนาจสูงสุดของรัฐสภา กล้าที่จะเข้าไปตอบข้อซักถามโดยไม่ได้กล่าวอ้างหลักการ แต่นายทักษิณกลับยุบสภาทิ้งหนีไปเฉยๆ แต่กลับกล่าวอ้างผ่านทางโทรทัศน์ว่า “เคารพหลักการ” 2. นายคาเมรอนจะแก้กฎหมายไม่ให้กรณีแบบนี้เกิดขึ้นอีกเพื่อ “หวังกู้ภาพลักษณ์”

แต่สำหรับนายทักษิณที่เป็นฝ่ายเสียงข้างมากในสภา มีการแก้กฎหมายที่เป็นช่องโหว่ในการเสียภาษี ทั้งๆ ที่กฎหมายเดิมห้ามไว้อยู่แล้ว เพราะตามพระราชบัญญัติประกอบกิจการโทรคมนามคม พ.ศ. 2544 ได้กำหนดไว้ว่า ต้องมิใช่คนต่างด้าวตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว และต้องมีสัดส่วนการถือหุ้นของบุคคลผู้มีสัญชาติไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของทุนทั้งหมดในนิติบุคคลนั้น รวมทั้งต้องมีกรรมการทั้งหมดและผู้มีอำนาจกระทำการผูกพันนิติบุคคลนั้น ต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทยด้วย ในการนี้คณะกรรมการ (กทช.) อาจกำหนดให้ผู้ขอรับใบอนุญาตสำหรับประกอบกิจการบางลักษณะหรือบางประเภทที่เป็นนิติบุคคล จะต้องกำหนดข้อห้ามการกระทำอื่นใดที่มีลักษณะเป็นการครอบงำกิจการ โดยบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทยอีกด้วยก็ได้’

เห็นได้ว่าชาวต่างชาติไม่สามารถถือหุ้นได้เกินร้อยละ 25 ทั้งยังถูกจำกัดสัดส่วนของกรรมการที่ต้องเป็นสัญชาติไทยไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 แต่กลุ่มทักษิณที่กุมเสียง ส.ส.ในสภา 375 เสียง และ ส.ว.อีกมากกว่าครึ่ง ทำให้การผลักดันแก้ไขพระราชบัญญัติดังกล่าว แก้ไข พ.ร.บ. การประกอบกิจการโทรคมนามคม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2549 ตัดเงื่อนไขที่เป็นข้อห้าม

และวิกฤติความวุ่นวายทางการเมืองก็เกิดขึ้นตามมาจนกระทั่งบัดนี้ จากกรณีของนายเดวิด คาเมรอนเคารพหลักการอำนาจสูงสุดของรัฐสภาน่าจะเป็นคำตอบที่ชัดเจนสำหรับพี่น้องชาวไทยได้แล้วว่า อะไรคือสาเหตุของวิกฤติอันยาวนานครั้งนี้