กรณี 'แม่จ่านิว' บนความอ่อนไหว

กรณี 'แม่จ่านิว' บนความอ่อนไหว

เชื่อว่าหลายคนเห็นใจ พัฒน์นรี หรือ หนึ่งนุช ชาญกิจ

 "แม่" ของ "จ่านิว" สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ กรณีถูกจับในข้อหาร่วมกันกระทำความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิด เกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (3)

สาเหตุเนื่องมาจาก บุรินทร์ อินติน1 ใน 16 กลุ่มพลเมืองโต้กลับ ที่นัดกันทำกิจกรรม “ยืนเฉยๆ” ที่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ผู้ต้องหาทำผิดมาตรา 112 รับสารภาพว่า ได้แชทข้อความสนทนาผ่านเฟซบุ๊คกับแม่ของสิรวิชญ์ หรือ จ่านิว โดยมีข้อความในลักษณะหมิ่นสถาบันฯ

ยิ่งถ้าฟังจากทนายความและฝ่ายของ "แม่จ่านิว" ยิ่งน่าเห็นใจ เพราะจะได้ข้อเท็จจริงชุดหนึ่งว่า แม่จ่านิว ไม่ได้พิมพ์ข้อความอันเป็นการหมิ่นประมาทสถาบันเลย หากแต่เป็นการสนทนาฝ่ายเดียวของ "บุรินทร์"ซึ่งก็ไม่ได้คุ้นเคยอะไรกันมากนัก แม่จ่านิวเพียงแต่พิมพ์คำว่า“จ้า”เพื่อจบการสนทนาเท่านั้น

แต่ถ้าฟังจากถ้อยแถลงของ พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ ฝ่ายเสนาธิการผู้บังคับบัญชาคณะทำงานพิเศษฝ่ายกฎหมาย คสช. และพ.ต.อ.โอฬาร สุขเกษมผกก. 3 ปอท. กลับได้ความจริงอีกชุดหนึ่ง

โดยฝ่ายเจ้าหน้าที่ยืนยันว่า “พัฒน์นรี” และ “บุรินทร์” ดำเนินการร่วมกัน มีพฤติการณ์เข้าข่ายกระทำความผิด ทุกอย่างจะปรากฏในชั้นศาล

ขณะเดียวกัน พ.ต.อ.โอฬาร ยังกล่าวย้ำด้วยว่าแม่จ่านิวไม่ได้พิมพ์เพียงแค่คำว่า จ้า” มีการสนทนามากกว่านั้น ส่วนคำว่า “จ้า” ทางกฎหมายไม่มีการตีความ จะต้องดูพฤติการณ์ของผู้กระทำ ถึงจะพิจารณาดำเนินการต่อไป ดังนั้น ที่จะมาบอกว่าพิมพ์คำว่า“จ้า”อย่างเดียวและผิดกฎหมายนั้น ถือว่าเป็นการนำเสนอข้อมูลที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง ยืนยันว่าผู้ต้องหาทั้งสองรายนี้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมโดยศาล

แต่ไม่ว่าจะอย่างไร “ปม” ประเด็นการตีความที่ขยายมูลเหตุแห่งความผิดที่เกินเลย คือ ไม่ห้าม ปราม โดยการนำคำว่า “จ้า” มาเป็นการตั้งข้อหาตามมาตรา112ด้วย ก็ถูกนำมาขยายผลเป็นเกมการเมืองของบางฝ่ายเรียบร้อย

โดยเฉพาะการ “เด็ดยอด” เอาเพียงพิมพ์คำว่า จ้าก็มีความผิดมาเป็นประเด็น

เหนืออื่นใด คือ ความอ่อนไหวของเรื่องนี้ ที่ไม่เพียงตัวแม่ของจ่านิวเอง ก็ไม่ใช่นักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ผู้คนรู้จัก หรือเคยมีพฤติกรรมหมิ่นเหม่อย่างนี้มาก่อน แถมยังเป็น “แม่” ที่รับภาระครอบครัวที่มีสมาชิกหลายคน จึงเรียกความเห็นใจจากสังคมได้ไม่น้อย ผิดกับ “จ่านิว” หรือนักเคลื่อนไหวทางการเมืองหลายคน ที่ผู้คนอาจเคยชินกับพฤติกรรมไปแล้ว

แน่นอน ยิ่งสังคมเห็นใจ แม่จ่านิวมากเท่าใด ในทางตรงข้าม ก็จะยิ่งลดความเชื่อมั่นในการปฏิบัติต่อประชาชนอย่างเป็นธรรมของ คสช.มากขึ้นเท่านั้น

ยิ่งกว่านั้น การออกแถลงการณ์ของ แบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการกลุ่มเฝ้าระวังสิทธิมนุษยชน หรือฮิวแมน ไรท์ วอทช์ประจำภูมิภาคเอเชีย ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ก็ถือว่ามีผลต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาลไม่น้อย

โดยเฉพาะกรณีโยงความเป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยของ “จ่านิว” กับการจับกุมพัฒน์นรี ทั้งที่เพียงแค่ตอบข้อความนายบุรินทร์ อินติน สมาชิกกลุ่มพลเมืองโต้กลับอย่างคลุมเครือ ผ่านทางเครือข่ายสังคมออนไลน์เฟซบุ๊คเท่านั้น ถือเป็นการบิดเบือนกฎหมายนี้อย่างร้ายแรง

จริงอยู่ แม้ฝ่ายรัฐบาลจะอ้างว่า “ฮิวแมน ไรท์ วอทช์” เป็นพวก “ขาประจำ” ที่มีท่าทีต่อ “คสช.” เช่นนี้มาตลอดตั้งแต่เข้ามาบริหารประเทศแล้ว ก็จริง แต่ความหนักแน่น อาจอยู่ที่ประเด็นด้วยเหมือนกัน โดยเฉพาะประเด็นที่เกิดขึ้นกับกรณีแม่จ่านิว ซึ่งโยงถึงการเคลื่อนไหวของ จ่านิวได้ง่าย และอธิบายได้ง่ายด้วยว่า ต้องการให้มีผลต่อการเคลื่อนไหวของ จ่านิว

สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ หากการจับกุมยังคงดำเนินต่อไปอย่างไม่ลดละ ท่ามกลางความไม่ชัดเจนของข้อกล่าวหา หรือยากนำหลักฐานมาเปิดเผยจนเป็นที่ประจักษ์ อย่างกรณีแม่จ่านิว ความเชื่อที่ผู้คนสะสมเอาไว้จากหนึ่งเป็นสอง สามสี่...มากขึ้นเรื่อยๆ ลองคิดดู “คสช.” จะต่างอะไรกับคณะรัฐประหารชุดอื่น ต่อให้มีเจตนารมณ์ที่แตกต่างก็ตาม