ถึงคราว“เงินริยัล” ของซาอุดิอาระเบียต้องลอยตัว?

ถึงคราว“เงินริยัล” ของซาอุดิอาระเบียต้องลอยตัว?

ซาอุดิอาระเบียจะพบกับจุดจบทางการเงินในระยะปานกลาง หรือในอีกช่วงเวลา 5 ปีข้างหน้า ตามการประเมินของกองทุน

การเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) หรือไม่ ถ้าหากว่าไม่ปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ หรือถ้าหากปรับเปลี่ยนไปแล้วแต่ไม่สำเร็จ

ในปี 2014 ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของซาอุดิอาระเบียอยู่ที่ 746,000 ล้านดอลลาร์ โดยที่จีดีพีประมาณ 70% ของจีดีพีนี้มาจากการขายน้ำมัน ในปี 2015 จีดีพีลดลงเหลือ 653,000 ล้านดอลลาร์ เนื่องจากราคาน้ำมันตกต่ำ ทำให้เศรษฐกิจของซาอุดิอาระเบียเล็กกว่าตุรกี เนเธอร์แลนด์ และสวิตเซอร์แลนด์ไปแล้ว

ปี 2016 นี้ เศรษฐกิจของซาอุดิอาระเบียยิ่งจะหดเล็กลงไปอีก เพราะว่าราคาน้ำมันยังคงตกต่ำต่อเนื่อง และไม่มีทีท่าว่าโอเปคหรือประเทศผู้ผลิตส่งออกน้ำมันอื่นๆ สามารถลดกำลังการผลิตลงไปได้

แต่การที่ประชากรของซาอุดิอาระเบียมีเพียง 20 ล้านคน เทียบกับ 85 ล้านคนที่อียิปต์ 75 ล้านคนที่ตุรกี 75 ล้านคนที่อิหร่าน 90 ล้านคนที่เอธิโอเปีย แรงงานซาอุดิอาระเบียส่วนมากเป็นชาวต่างชาติ จะพัฒนาเศรษฐกิจให้มีการบริโภคภายในที่มีประชากรขนาดเล็กอย่างนี้แข่งกับเพื่อนบ้านย่อมมีความลำบาก

เมื่อ Aramco ซึ่งเป็นบริษัทรัฐวิสาหกิจน้ำมันของซาอุดิอาระเบียเตรียมขายหุ้น IPO ให้กับนักลงทุนจำนวน 5% หวังได้เงินเข้ามา 100,000 ล้านดอลลาร์ และทำให้ทรัพย์สินของ Aramco มีมูลค่า 2 ล้านล้านดอลลาร์ แต่หลังจากนั้นจะทำอย่างไรต่อไป เพราะว่าที่จะได้มา 100,000 ล้านดอลลาร์เทียบเท่ากับมูลค่าแค่ 1 ใน 6 ของจีดีพี เอาไปจ่ายในงบกลาโหมก็แทบจะหมดแล้ว

ด้วยเหตุนี้ Jim Rickards ผู้แต่งหนังสือขายดี The Death of Money และ The New Case for Gold มองว่าวิกฤตการณ์ของอัตราแลกเปลี่ยนครั้งใหญ่ลูกต่อไปจะเกิดกับค่าเงินริอัลของซาอุดิอาระเบียที่ผูกค่าเงินแบบคงที่ระดับ 3.75 กับเงินดอลลาร์ เพราะว่าซาอุดิอาระเบียกำลังเผชิญกับวิกฤติราคาน้ำมันตกต่ำ จะทำให้ซาอุดิอาระเบียสามารถใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่และผูกค่าเงินริยัลในระดับ 3.75 ริยัลต่อดอลลาร์มาเป็นเวลานานหลายสิบปี เนื่องจากมีรายได้น้ำมันมหาศาลมาหนุนค่าเงิน และซาอุดิอาระเบียมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศมากเป็นอันดับ 3 ของโลกที่ระดับ 750,000 ล้านดอลลาร์ (ในตอนนี้อาจจะเหลือแค่ 500,000 ล้านดอลลาร์) แต่รายได้น้ำมันที่ตกต่ำ ไม่พอกับรายจ่ายที่ลดไม่ได้ ทำให้ค่าเงินรียัลต่อไปจะมีปัญหา

นาย Rickards บอกว่า ในช่วงที่ผ่านมาโลกเรามีวิกฤติอัตราแลกเปลี่ยนเกิดขึ้นแล้ว 2 ครั้ง คือเมื่อธนาคารกลางของสวิตเซอร์แลนด์ปล่อยค่าเงินสวิสฟรังก์ลอยตัวจากการผูกกับค่าเงินยูโร เพราะว่าทนการที่ต้องเข้าไปแทรกแซงเพื่อซื้อยูโรแล้วขยายสวิสฟรังก์เพื่อกดค่าลดลงไม่ไหว ผลก็คืองบดุลของธนาคารกลางสวิสขาดทุนป่นปี้จากอัตราแลกเปลี่ยนและตลาดการเงินมีความปั่นป่วนหนัก

วิกฤติอัตราแลกเปลี่ยนอีกลูกหนึ่งคือ การลดค่าเงินหยวนของจีนในเดือนสิงหาคมในปี 2015 เพื่อปรับกับทิศทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอลงทำให้เกิดความสั่นสะเทือนไปทั่วในระบบการเงินโลก แต่สงครามเงินหยวนยังคงดำเนินต่อเนื่อง เงินหยวนจะมีเสถียรภาพขึ้นอยู่กับว่าทางการจีนจะสามารถรักษาความมั่นคงของเศรษฐกิจจีนที่มีหนี้มากได้มากเพียงใด

นาย Rickards มองว่า ระเบิดเวลาของอัตราแลกเปลี่ยนลูกต่อไปคือเงินรียัลของซาอุดิอาระเบีย ถ้าหากเศรษฐกิจซาอุดิอาระเบียมีปัญหาจากรายได้น้ำมันที่ตกต่ำอย่างต่อเนื่อง มันจะเป็นการลำบากที่จะรักษาค่าเงินรียัลให้มีเสถียรภาพต่อไป ทางการซาอุดิอาระเบียอาจจะโดนแรงกดดันจากตลาดให้ปล่อยให้ค่าเงินลอยตัวเพื่อจะได้ไม่ต้องใช้ดอลลาร์เข้าไปอุ้ม ผลก็คือจะเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินโลกอีกลูกหนึ่ง และคนซาอุดิอาระเบียจะเจอกับเงินเฟ้อ เพราะว่าสินค้าอุปโภคบริโภคส่วนมากต้องนำเข้า

ดุลยภาพในภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลางจะพลิก ถ้าหากว่าซาอุดิอาระเบียไม่สามารถแก้ไขปัญหาวิกฤติการเงินได้