‘ดิจิทัล’ดูดงบทุกสื่อ จ่อยึดโฆษณาเบอร์2รองทีวี

‘ดิจิทัล’ดูดงบทุกสื่อ จ่อยึดโฆษณาเบอร์2รองทีวี

บริษัทบริหารจัดการ การลงทุนด้านสื่อระดับโลก GroupM

    เผยรายงานประจำปีในชื่อ Interaction 2016 ที่ให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับโฆษณาดิจิทัลทั่วโลก จาก 45 ประเทศ

คาดการณ์โฆษณาดิจิทัลปีนี้ไว้ว่า การลงทุนในโฆษณาทางสื่อที่สามารถวัดผลได้จะอยู่ที่ 31%  สูงกว่าปีที่แล้วซึ่งอยู่ที่ 28% เติบโต 14.4% มูลค่าแตะ 1.6 แสนล้านดอลลาร์ การลงทุนเหล่านี้มีเป้าหมายที่จะเข้าถึงยอดผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 2.3 พันล้านคนในปีนี้

หันกลับมาดูทิศทางโฆษณาสื่อดิจิทัลในไทย ซึ่งสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) เก็บข้อมูลผ่านสื่อดิจิทัลประเภทต่างๆ เริ่มจากปี 2555 มูลค่าอยู่ที่ 2,783 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 1-2% ของอุตสาหกรรมโฆษณา  ปี2558 มีมูลค่า 8,084 ล้านบาท และปี 2559 คาดการณ์มูลค่า 9,927 ล้านบาท เติบโต 23% ช่วง 5 ปีที่ผ่านมาโฆษณาสื่อดิจิทัลเติบโตด้วยอัตรา 20-50% ต่อเนื่อง

ด้วยมูลค่าเกือบ หมื่นล้านบาท ของเม็ดเงินสื่อดิจิทัลในปีนี้ คิดเป็นสัดส่วน 9-10% ของอุตสาหกรรมโฆษณามูลค่ากว่าแสนล้านบาทต่อปี และยังมีแนวโน้นเติบโตด้วยตัวเลข “สองหลัก”ต่อปี จากปัจจัยประชากรไทยเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันมีสัดส่วน 50% ปีนี้จะขยับเป็น 65% โดยเฉพาะโมบาย อินเทอร์เน็ต ขณะเดียวกันการให้บริการ 4จีเต็มรูปแบบ จะกระตุ้นกลุ่มที่ใช้อินเทอร์เน็ตผ่านมือถืออยู่แล้วใช้เวลาและเสพวีดิโอ คอนเทนท์เพิ่มขึ้น จากความสะดวกรวดเร็ว

ทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีและพฤติกรรมเสพสื่อของผู้บริโภคในยุคนี้ เรียกได้ว่าไม่มีปัจจัยลบต่อการเติบโตโฆษณาสื่อดิจิทัล

ตัวเลขผู้ใช้โซเชียล มีเดีย เฟซบุ๊คที่ 38 ล้านรายในปีที่ผ่านมา แบ่งเป็นพื้นที่กรุงเทพฯและเขตเมือง 25 ล้านราย และพื้นที่นอกเมือง 12 ล้านราย ปัจจัยการให้บริการ4จี และการทำตลาดสมาร์ทโฟนราคาประหยัด จะกระตุ้นการเติบโตกลุ่มต่างจังหวัดใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นในปีนี้ ด้วยจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตและสื่อโซเชียลเกือบ 40 ล้านราย ขยายวงกว้างในพื้นที่ต่างจังหวัด ทำให้นักการตลาดและแบรนด์ต่างให้ความสำคัญกับการใช้ “ดิจิทัล แพลตฟอร์ม” เพื่อเข้าถึงผู้บริโภคในยุคนี้

ปัจจัยการเติบโตของสื่อดิจิทัล ยังมาจากการถดถอยของสื่ออื่นๆ สะท้อนได้จากสัดส่วนที่ลดลงต่อเนื่องในอุตสาหกรรมโฆษณาของสื่อสิ่งพิมพ์ นิตยสาร วิทยุ ซึ่งเป็นกลุ่มแรก ที่สื่อดิจิทัลเข้าไปแย่งเม็ดเงินโฆษณามาก่อนหน้านี้  จากการเปลี่ยนแปลงของ “ทีวีดิจิทัล” ที่มีช่องรายการจำนวนมากทำให้ผู้ชมกระจายตัว รวมทั้งภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อชะลอตัว ส่งผลให้ยอดขายสินค้าไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ทำให้แบรนด์ต่างๆต้องอยู่ในภาวะ“รัดเข็มขัด” ปีที่ผ่านมาถึงปัจจุบันมีการโยกงบโฆษณาจาก ทีวี มายังสื่อดิจิทัลมากขึ้น เพราะมองว่าตอบโจทย์เรื่องความคุ้มค่า และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างเฉพาะเจาะจง ล่าสุดพัฒนาสู่ช่องทางการจำหน่ายอีคอมเมิร์ซ

จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียระดับ 40 ล้านราย ทำให้วันนี้ “สื่อดิจิทัล” มีอิทธิพลเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายตลาดแมสทั้งกลุ่มเมืองและต่างจังหวัด เข้ามาแข่งขันแย่งเม็ดเงินโฆษณาได้กับทุกสื่อ เห็นได้จากปีที่ผ่านมามีหลายธุรกิจใช้เม็ดเงินผ่านสื่อดิจิทัลเพิ่มขึ้น อันดันต้นๆ คือกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค(FMCG) ที่ขยายแพลตฟอร์มสู่อีคอมเมิร์ซ เพราะต้องเร่งสร้างยอดขายในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว

ข้อมูล “นีลเส็น” ปี 2558 รายงานเม็ดเงินโฆษณาผ่านสื่อมีมูลค่า 1.22 แสนล้านบาท กลุ่มทีวีอนาล็อก ครองสัดส่วน 47% ทีวีดิจิทัล 17% เคเบิลและทีวีดาวเทียม 5% รวมกลุ่มทีวีอยู่ที่ 69% สื่ออันดับ2ที่ครองงบโฆษณา คือ หนังสือพิมพ์ มูลค่า 1.2 หมื่นล้านบาท สัดส่วน 10% ลดลงต่อเนื่องในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยปี 2548 มีมูลค่า 1.6 หมื่นล้านบาท สัดส่วน 18.9%

จากการขยายตัวของผู้ใช้สื่อออนไลน์ และบทบาทการตอบโจทย์สื่อสารแบรนด์ทุกด้าน กระทั่งช่องทางขายสินค้า ดังนั้นทิศทางของ สื่อดิจิทัล จะก้าวขึ้นมาครองเม็ดเงินโฆษณาอันดับ2 รองจากสื่อทีวีในช่วง 1-2ปีจากนี้