เบื้องลึก..แก้กฎหมาย เงินสำรองฯ ลงทุนหุ้น!

เบื้องลึก..แก้กฎหมาย เงินสำรองฯ ลงทุนหุ้น!

“แบงก์ชาติ” ในเวลานี้กำลังถูกกดดันอย่างหนัก

 จากการแก้ไขพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (พ.ร.บ.ธปท.) ที่ขยายขอบเขตการลงทุนในส่วนของเงินสำรองระหว่างประเทศ ให้สามารถลงทุนในตราสารทุน หรือ “หุ้น” ได้

หลายคนตั้งคำถามว่า “แบงก์ชาติ กำลังแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น(search for yield) นำมาซึ่ง “ความเสี่ยง” ที่เพิ่มขึ้นด้วย ..ถ้าพลาดพลั้งขาดทุนขึ้นมาแล้วใครจะรับผิดชอบ?

ส่วนเหตุผลที่ทาง แบงก์ชาติ” ยกขึ้นมา “อธิบาย” กับสาธารณชน คือ เพื่อให้มีเครื่องมือการบริหารความเสี่ยงที่ครบถ้วน ช่วยให้การบริหารเงินสำรองฯ มี “ประสิทธิภาพ มากยิ่งขึ้น

แบงก์ชาติ ชี้แจงว่า ตลาดเงินโลกมีความผันผวนสูงขึ้น การลงทุนใน “พันธบัตร อย่างเดียว อาจไม่มีประสิทธิภาพ และเวลานี้จะเห็นว่า “บอนด์ยีลด์ หรือ ผลตอบแทนจากการลงทุนในพันธบัตรหลายๆ ประเทศต่ำมาก บางประเทศถึงขั้น “ติดลบ ..การลงทุนใน หุ้น ที่คัดสรรมาอย่างดี จึงน่าจะเป็นทางเลือกที่ช่วยชดเชยได้

อดีตผู้ว่าการแบงก์ชาติ “ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล เคยอธิบายไว้ว่า การแก้กฎหมายดังกล่าว เป็นการเพิ่มเครื่องมือในการบริหารจัดการ ช่วยให้มีเครื่องมือการลงทุนที่ครบถ้วน เข้าตามทฤษฎี การจัดพอร์ตลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพ (Optimal Portfolio Investment)

ดร.ประสาร บอกว่า การเพิ่มน้ำหนักลงทุนในหุ้นเพียงเล็กน้อย แล้วถ่วงน้ำหนักส่วนใหญ่ด้วยบอนด์ จะช่วยให้ “ผลตอบแทน” จากการลงทุน เพิ่มขึ้น” ขณะที่ “ความเสี่ยงเท่าเดิม” หรือหากพอใจกับผลตอบแทนที่เคยได้รับอยู่เดิม การลงทุนในหุ้นเพียงเล็กน้อย จะช่วยลดความเสี่ยงลงได้

เรียกว่าทำให้ “การลงทุน” ขยับขึ้นไปในตำแหน่งซึ่ง “มีประสิทธิภาพ หรือ อยู่บนเส้น “Efficient Frontier”

ผมเชื่อลึกๆว่า การแก้กฎหมายให้นำเงินสำรองฯ ลงทุนใน “หุ้น ได้ คงไม่ได้ทำเพื่อ “เพิ่มประสิทธิภาพ การบริหารเพียงอย่างเดียว แต่ทำเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ เครื่องมือเชิงนโยบายการเงิน” ด้วย โดยเฉพาะการเข้า “แทรกแซง ในตลาดเงิน

ที่ผ่านมาแบงก์ชาติ กังวลกับ “เงินบาท” ที่แข็งค่ามากเกินไปในบางช่วง มีหลายครั้งที่ต้องเข้า แทรกแซง” ในตลาดเงิน เพื่อป้องกันไม่ให้ค่าเงินแข็งเร็วเกินไป แต่การแทรกแซงก็มี ต้นทุน ไม่น้อย เพราะแบงก์ชาติต้องนำเงินบาทไปแลกเป็นเงินดอลลาร์มา

เงินดอลลาร์ที่ได้มาถูกเก็บในรูป เงินสำรองฯ ที่ผ่านมาเงินส่วนนี้ ตามกฎหมายอนุญาตให้ลงทุนได้เฉพาะใน “พันธบัตร” และ “ทองคำ” ส่วนใหญ่อยู่ในรูปพันธบัตร ซึ่งเวลานี้ผลตอบแทนจากการลงทุนต่ำมาก บางประเทศให้ผลตอบแทนติดลบ

ส่วน “เงินบาท” ที่แบงก์ชาตินำไปแลกซื้อดอลลาร์มา ทำให้ปริมาณเงินในระบบเพิ่มขึ้น นำมาซึ่งความเสี่ยงเชิงเสถียรภาพได้ แบงก์ชาติจึงต้อง “ดูดซับ” เงินบาทที่ปล่อยออกไปกลับเข้ามา ผ่านการออก พันธบัตรธปท. ซึ่งมี “ต้นทุน คือ “ดอกเบี้ย ปัจจุบันอยู่ที่ราว 1.5%

เท่ากับว่า เงินสำรองฯ ที่ แบงก์ชาติ บริหารอยู่มี “รายรับ” จากดอกเบี้ยต่ำ ขณะที่ รายจ่าย สูง จึงนำมาซึ่ง “ผลขาดทุน และเป็นผลขาดทุนที่เกิดขึ้นจริง ไม่ได้เกิดจากการตีราคาหลักทรัพย์แต่อย่างใด

อาจเพราะเหตุนี้ ทำให้การแทรกแซงค่าเงินของแบงก์ชาติช่วงที่ผ่านมา ต้องทำอย่างระมัดระวัง ยิ่งทำมาก ภาระยิ่งเพิ่ม แม้ผลขาดทุนไม่ใช่ เคพีไอ ของแบงก์ชาติ แต่ถ้าขาดทุนมากเกินไปอาจมีผลต่อความเชื่อมั่นได้

..การขยายลงทุนไปยัง หุ้น ถ้าลดการขาดทุนในส่วนนี้ลงได้ ก็น่าจะช่วยให้การใช้เครื่องมือทางนโยบายการเงินมีประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นด้วย

ทางเลือก แบงก์ชาติ จึงไม่มากนัก ถ้าไม่ทำยังไงก็ “ขาดทุน ..แต่ถ้าทำก็ต้องขึ้นอยู่กับความสามารถในการบริหารจัดการว่า จะช่วยพลิกมีกำไรหรือขาดทุนเพิ่ม!