ปั้น OTOP ให้เป็น TOP BRAND @ บุรีรัมย์ (1)

ปั้น OTOP ให้เป็น TOP BRAND @ บุรีรัมย์ (1)

ตอบตกลงทันทีเมื่อได้รับจดหมายเชิญจากท่านสุทธิศักดิ์ พรหมบุตร พาณิชย์จังหวัดบุรีรัมย์ ให้เป็นวิทยากร

หลักสูตรฝึกอบรม “การเพิ่มสมรรถนะการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนเพื่อเพิ่มมูลค่า” เน้นเรื่องการสร้างแบรนด์ การทำความเข้าใจพฤติกรรมของลูกค้า และการนำเสนอผลิตภัณฑ์ OTOP ให้น่าสนใจ

จุดหมายปลายทางของการบรรยายครั้งนี้อยู่ที่บ้านสนวนนอก อำเภอห้วยราช จังหวัดบุรีรัมย์

นี่คือครั้งแรกของการเดินทางไปจังหวัดบุรีรัมย์... จังหวัดที่มีศิลปวัฒนธรรมยุคโบราณและยุคปัจจุบันที่ไม่เหมือนใคร จนได้รับการคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 12 “เมืองต้องห้ามพลาด”

นี่คือครั้งแรกของการเดินทางไปบ้านสนวนนอก...หมู่บ้านเล็กๆ ที่สืบทอดวิธีปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและทอผ้ามาแต่โบราณ จนได้รับการเปิดตัวให้เป็น “หมู่บ้านท่องเที่ยวไหมบ้านสนวนนอก”

ความประทับใจของวิทยากรเกิดขึ้นตั้งแต่เห็นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับภาคประชาชน ความเต็มที่ของผู้บริหารที่เสียสละเวลาช่วงวันหยุดเดินทางมาเปิดงาน อาทิ ท่านชัยณรงค์ โชไชย ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ ท่านสุทธิศักดิ์ พรหมบุตร พาณิชย์จังหวัดบุรีรัมย์ และนายอำเภอห้วยราช โดยมีเป้าหมายเดียวกันคือการให้ผู้เข้าอบรมได้รับความรู้ ประสบการณ์ด้านการตลาดและการสร้างแบรนด์เพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ ยกระดับ OTOP สู่ TOP BRAND ในอนาคต

            “ผู้เข้าอบรม” ถือเป็นไฮไลต์ของงานเลยก็ว่าได้ ใครจะเชื่อ!! นี่คืองานช้างที่รวมปราชญ์ชาวบ้านด้านผลิตภัณฑ์ไหมกว่า 80 ท่าน ทั้งตัวแทนกลุ่มเกษตรกร กลุ่มผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ไหม กลุ่มชุมชนหมู่บ้านท่องเที่ยวไหมจาก 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ อำเภอห้วยราช อำเภอนางรอง อำเภอประโคนชัย อำเภอกระสัง และอำเภอบ้านด่าน

พิธีเปิดเสร็จสิ้นก็เข้าสู่การบรรยายหัวข้อแรก “สถานการณ์การตลาดที่ผู้ประกอบการต้องเผชิญ” ผู้เขียนฉายภาพให้เห็นภาพว่าการแข่งขันทุกวันนี้หนีไม่พ้น 3 เรื่องหลัก

ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการสื่อสาร 

      เทคโนโลยีการสื่อสารอย่างอินเทอร์เน็ตได้บังคับธุรกิจกลายๆ ให้ขายผ่านช่องทางออนไลน์ ส่งข้อมูลผ่านอีเมล ส่งรูปภาพผ่านเฟสบุ๊คหรือไลน์ กลายเป็นกระแส ทำตามกันไม่ลืมหูลืมตา บ่อยครั้งลืมถามตัวเองกลับ

 “เราขายอะไร?” “ลูกค้าเป็นใคร?” “จำเป็นต้องมีไหม?” 

      เพราะทุกอย่างมีต้นทุน มีค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะ OTOP ที่เงินทุนน้อย สายป่านไม่ยาว อาจเจ๊งได้ง่ายๆ ดังนั้น จงเลือกทำในสิ่งที่จำเป็น แต่ถ้าอยากขายออนไลน์ วิธีลัดสไตล์ OTOP คือ ให้ลูกหลานที่เก่งคอมพิวเตอร์เข้าอินเทอร์เน็ต สมัครเฟสบุ๊คเพื่ออัพโหลดสินค้า บอกลูกค้าให้โอนเงินเข้าบัญชี แล้วรอรับสินค้าทางไปรษณีย์ เห็นไหมว่าระบบค้าขายแบบดั้งเดิมทำงานร่วมกับสื่อใหม่ได้อย่างลงตัว

การแข่งขันที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ 

    การแข่งขันทุกวันนี้ร้อนแรงกว่าแต่ก่อนมาก แถมเป็นการแข่งขันที่เร่งวันตายเพราะสักแต่ลดราคา ลดตอนแรกอยากเอาชนะคู่แข่ง ลดไปลดมาลูกค้าดันชอบและติดใจ สุดท้ายก็ต้องลดราคาไปเรื่อยๆ รู้ตัวอีกทีทุนหายกำไรหด ใครผลิตสินค้า OTOP ยิ่งเศร้า ลองคิดดู ทุกท่านในที่นี้กว่าจะทอผ้าไหมได้ซักผืนใช้เวลานานแค่ไหน เหนื่อยไหม...ลูกค้าต่อราคาแต่ละทีแทบหมดแรง พอไม่ลดก็ไม่พอใจ ขอความเห็นใจ ลูกค้าก็ไม่เชื่อ คิดว่าทอกันง่ายๆ แป๊บเดียวเสร็จ

ปัญหาที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการ OTOP ไม่สามารถทำให้ลูกค้ารับรู้คุณค่าของสินค้า มองไม่เห็นความต่าง ไม่เห็นความยากลำบากในการผลิต ไม่มีเรื่องราวของแบรนด์หรือ “Brand Story” ให้จดจำ ทั้งๆที่ภาคอีสานขึ้นชื่อเรื่องการทอผ้าไหม เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สั่งสมมาแต่บรรพบุรุษ

แล้วทางออกของปัญหาคืออะไร? วิธีง่ายๆ อยากให้แบรนด์เป็นที่รู้จักก็ต้องหาความต่างให้เจอ ชูจุดเด่นให้รู้ และสร้างเรื่องราวเพื่อเพิ่มมูลค่า

พฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว 

      ความน่ากลัวของการตลาดยุคนี้ไม่ใช่แค่การรับมือกับพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาของลูกค้าเท่านั้น แต่รวมถึงการตั้งรับกับบทบาทใหม่ของพวกเขาในฐานะ 

“ผู้ผลิตคอนเทนท์” 

    ที่สร้างและบอกต่อเรื่องราวต่างๆ ด้วยตัวเอง สังคมแชท-แชร์-โพสต์ ได้เพิ่มอำนาจแก่ลูกค้าอย่างมาก จาก Passive Consumer สู่ Active Consumer

ถ้าสินค้าเราดี บริการประทับใจจะมีคนช่วยบอกต่อแบบทวีคูณ โชคดีแค่ไหนไม่ต้องแชร์เอง ไม่ต้องเก่งเทคโนโลยี เพราะลูกค้าเป็นฝ่ายจัดให้

แต่ถ้าเป็นเรื่องไม่ดีล่ะ เช่น สินค้าไม่มีคุณภาพ ไม่ได้มาตรฐาน บริการแย่ ไม่ประทับใจ...ลูกค้าก็คงแชท-แชร์-โพสต์แบบจัดหนักเหมือนกัน!!!

ฉบับหน้าพบกับมุมมองของผู้เข้าอบรมที่ทำให้เห็นความจริงว่า “ประสบการณ์นอกตำราเจ๋งกว่าในตำราเยอะ” พร้อมเรื่องราวสนุกๆที่เต็มไปด้วยเสียงหัวเราะและรอยยิ้ม ณ บ้านสนวนนอก อำเภอห้วยราช จังหวัดบุรีรัมย์