ตลาดออนไลน์จีน:ช่องทางลัดของสินค้าไทย?

ตลาดออนไลน์จีน:ช่องทางลัดของสินค้าไทย?

การค้าผ่านสื่อออนไลน์ได้กลายเป็นกระแสสุดฮิตบนแผ่นดินจีน และสะท้อนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค

 

จีนยุคใหม่ได้อย่างชัดเจนทุกวันนี้ มีทั้งการสั่งซื้อสินค้าและบริการผ่าน E-commerce ของจีนกันอย่างคึกคัก จนทำให้จีนก้าวกระโดดกลายเป็นตลาดค้าปลีกออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีมูลค่าการค้าปลีกบนอินเทอร์เน็ตในจีนที่สูงอันดับ 1 ของโลก ด้วยพลังของกลุ่มผู้ซื้อออนไลน์จีนที่มีมากทะลุหลัก 360 ล้านคน จากจำนวนพลเมืองเน็ตจีนที่มีมากกว่า 688 ล้านคน และยังมีชาวจีนอีกจำนวนไม่น้อยที่มีศักยภาพในการเป็นผู้ซื้อออนไลน์ โดยเฉพาะชาวจีนในชนบทที่มีรายได้เพิ่มขึ้น

ที่น่าสนใจ คือ คนจีนยุคใหม่นิยมช็อปปิ้งสินค้าของแท้คุณภาพดีจากต่างประเทศ และมักจะสั่งซื้อผ่านเว็บไซต์ยอดฮิตของจีน เช่น Tmall และ Jingdong โดยเฉพาะการสั่งซื้อสินค้านำเข้ากลุ่มผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับเด็ก และกลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมความงาม

ตลาดออนไลน์จีนที่เติบโตอย่างรวดเร็วจึงถูกมองว่าจะเป็นช่องทางใหม่ของสินค้าและบริการไทยในการแทรกตัวเข้าเจาะตลาดจีนที่สุดแสนจะหอมหวล โดยหวังจะใช้เป็น ช่องทางลัดที่ประหยัดค่าใช้จ่ายในการส่งสินค้าตรงจากไทยไปเจาะกลุ่มผู้บริโภคออนไลน์จีน อีกทั้งยังเป็นช่องทางที่สามารถนำเสนอสินค้าแก่ชาวจีนได้ 24 ชั่วโมง 7 วันต่อสัปดาห์ครอบคลุมไปทั่วทุกเมือง/มณฑลจีน

การเจาะตลาดปราบเซียนบนแผ่นดินจีนโดยผ่านระบบ E-commerce อาจจะไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด จำเป็นต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจข้อมูลในหลายด้าน ทั้งความรู้เกี่ยวกับระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ข้อมูลกฎหมายและกฎระเบียบจีน โครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ระบบขนส่งโลจิสติกส์ รวมทั้งพฤติกรรมผู้บริโภคของจีนในแต่ละกลุ่มสินค้าและรสนิยมที่หลากหลายในแต่ละมณฑล ตลอดจนจะต้องมีความเข้าใจการดำเนินธุรกิจออนไลน์ในจีนอย่างลึกซึ้ง

 นอกจากผู้ประกอบการไทยจะมีจุดอ่อนพื้นฐานในเรื่องปัญหาการสื่อสารภาษาจีนกลาง และไม่มีเครือข่ายคู่ค้าจีนที่ไว้วางใจได้แล้ว ส่วนใหญ่ยังขาดข้อมูลวิเคราะห์เชิงลึกในระดับพื้นที่ หลายคนทึกทักเอาเองว่า รู้และเข้าตลาดจีน ทั้งๆ ที่ตลาดแดนมังกรที่กว้างใหญ่นี้มีความหลากหลายมาก รวมทั้งการเข้าไปทำธุรกิจในตลาดออนไลน์ของจีนยังมีความซับซ้อน ทั้งในเรื่องกฎระเบียบต่างๆ ระบบการจดทะเบียน ระบบการชำระเงิน การส่งมอบสินค้า บริการหลังการขาย และกฎระเบียบ ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ซึ่งอาจจะปรับเปลี่ยนบ่อย

ที่สำคัญ ธุรกิจออนไลน์ในจีนมีการแข่งขันสูงมาก โดยเฉพาะผู้ค้ารายเดิมในตลาดจีนที่วางจำหน่ายสินค้าผ่านสื่อออนไลน์จะมีความได้เปรียบในหลายด้าน ทั้งในเรื่องต้นทุนและความคุ้นเคยกับการดำเนินธุรกิจในจีน โดยเปรียบเทียบแล้ว ธุรกิจจากต่างชาติจะมีต้นทุนสูงกว่าในการนำสินค้าถึงมือลูกค้าจีน ทั้งด้านการขนส่ง และภาษีศุลกากรนำเข้า รวมทั้งค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายอื่นๆ

นอกจากนี้ ก่อนจะรุกตลาดออนไลน์จีนยังจำเป็นต้องตรวจสอบในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาและจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าหรือตราสินค้าเพื่อป้องกันการลอกเลียนแบบ รวมไปถึงการรุกทำการตลาดและสร้างตราสินค้า ตลอดจนการขอใบรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ที่ออกโดยหน่วยงานของจีน

ในด้านการชำระเงิน ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในจีนนิยมใช้อุปกรณ์ในการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ที่แพร่หลายและนิยมมากที่สุด คือ สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต ผู้ซื้อออนไลน์ในจีนมักจะใช้วิธีการชำระเงินผ่านทางโทรศัพท์มือถือไปยังผู้ให้บริการบุคคลที่สาม (Third-party mobile payment) เช่น Alipay หรือ Tencent ดังนั้น ผู้ที่หวังจะเจาะตลาดจีนผ่าน E-commerce ก็ต้องให้ความสำคัญกับการมีทางเลือกในการชำระเงินด้วยวิธีดังกล่าวไว้ให้แก่กลุ่มลูกค้าของตนด้วย

แน่นอนว่า กุญแจสำคัญของการค้าออนไลน์ในจีน คือ การตัดสินใจเลือกช่องทางการจัดจำหน่ายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ที่เหมาะสม เพื่อเพิ่มโอกาสในการวางจำหน่ายสินค้าและสร้างตราสินค้าในตลาดจีน โดยควรเน้นแพลตฟอร์มที่มีผู้เข้าชมจำนวนมาก มีการชำระเงินที่เหมาะสม มีบริการจัดส่งที่ถูกต้อง และมีกลุ่มผู้บริโภคหลักที่สอดคล้องกับสินค้าของเราที่จะนำไปเจาะตลาดออนไลน์จีน

ที่ผ่านมา การเข้าไปทำธุรกิจการค้าออนไลน์ของชาวต่างชาติในจีนมีจุดอ่อนหลายด้าน เช่น ปัญหาในเรื่องการแปลข้อมูลภาษาจีน การขาดบริการหลังการขาย รวมถึงข้อจำกัดในการชำระเงิน การขอคืนเงิน และการส่งคืนสินค้า

สำหรับการดำเนินธุรกิจออนไลน์ผ่าน 3rd Party Platform ก็มีจุดอ่อนที่คล้ายคลึงกัน ตัวแทนขายสินค้าในจีนจะต้องมี e-store ทั้งนี้ การทำกิจกรรมส่งเสริมการตลาดอาจถูกจำกัดขึ้นอยู่กับหุ้นส่วนท้องถิ่นและแพลตฟอร์มผู้ให้บริการที่จะใช้ แม้กระทั่งรูปแบบของการขายสินค้าโดยตรงผ่าน website ภาษาจีนของตัวเอง ก็มีปัญหาและจุดอ่อน เช่น ต้องมีทีมงานในจีนมาดูแลงานทางเทคนิคและพัฒนา website การใช้เวลาในการวางระบบช่วงเริ่มต้น และต้องลงทะเบียนขอใบอนุญาต

จะเห็นได้ว่า การเลือกรูปแบบธุรกิจออนไลน์ในจีนที่เหมาะสมเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญและต้องสอดคล้องกับผลิตภัณฑ์และกลุ่มตลาดเป้าหมาย ตลอดจนควรมีการส่งเสริมการขายผ่านช่องทางที่หลากหลาย เช่น การใช้สังคมออฟไลน์ที่ผู้บริโภคเข้าถึงได้ ซึ่งอาจมีส่วนช่วยในการผลักดันยอดขายออนไลน์ได้เช่นกัน

เหนือสิ่งอื่นใด ควรมีเครือข่ายและพันธมิตรในจีนเพื่อใช้เป็นตัวแทนจำหน่าย หรือช่วยอำนวยความสะดวกต่อการเข้าสู่ตลาด การกระจายสินค้า การให้บริการหลังการขาย การขนส่งสินค้าคืน และการติดต่อกับลูกค้า แต่จะต้องมีความระมัดระวังรอบคอบในการเลือกคนจีนที่เชื่อถือได้มาเป็นพันธมิตร และจะต้องเป็นผู้มีประสบการณ์และเชี่ยวชาญ E-Commerce ในจีนอย่างแท้จริงด้วย

โดยสรุป ด้วยความซับซ้อนของตลาดจีนและมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รวมทั้งมีการแข่งขันอย่างรุนแรง จึงจำเป็นต้องมีอาวุธครบมือในการยกทัพเข้าไปรุกตลาดออนไลน์จีน ควรต้องเรียนรู้ข้อมูลเชิงลึกและกฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งก่อนที่จะเริ่มธุรกิจและระหว่างการดำเนินธุรกิจออนไลน์ในจีน ตลอดจนการให้บริการหลังการขาย รวมทั้งต้องมีความตื่นตัวคอยติดตามวิเคราะห์ข้อมูลและการตรวจสอบสื่อสังคมออนไลน์ในจีนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถเกาะติดอิทธิพลของสื่อโซเชียลในจีน เพื่อทำความเข้าใจแนวโน้มของการบริโภคและวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์ที่กำลังอยู่ในกระแส อีกทั้งยังต้องมีพันธมิตรในจีนที่เชื่อถือได้และมีกลยุทธ์การตลาดที่มุ่งเจาะผู้บริโภคออนไลน์จีนในระดับเมือง/มณฑลที่สอดคล้อง และเหมาะสมกับผลิตภัณฑ์ของไทยที่ตั้งใจส่งออกไปรุกตลาดออนไลน์จีนต่อไป

ดิฉันและทีมวิจัยของคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD) กำลังอยู่ระหว่างศึกษาวิจัยโครงการ “การแสวงหาโอกาสการค้าสินค้าและบริการระหว่างประเทศสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ไทยจาก China E-commerce” ซึ่งผลการศึกษาจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ภายในเดือนสิงหาคม และจะเผยแพร่สู่สาธารณะในรูปแบบ e-book ผ่านwww.itd.or.th  ต่อไป