ต่างชาติสนใจเศรษฐกิจมากกว่าการเมือง

ต่างชาติสนใจเศรษฐกิจมากกว่าการเมือง

เดือนมี.ค.ที่ผ่านมา นับเป็นเดือนแรกในรอบเกือบ 5 ปี ที่เม็ดเงินต่างชาติไหลเข้าตลาดหุ้นไทยสุทธิเกิน 25,000 ล้านบาท

ซึ่งนอกจากจะทำให้บรรยากาศการลงทุนคึกคักมากขึ้น ยังช่วยดันดัชนี SET Index ให้ขึ้นไปถึงเกือบ 1,420 จุด ผมได้เขียนไว้ในบทความนี้เมื่อเดือนที่แล้วว่า ผมเชื่อว่าเงินส่วนใหญ่ที่ไหลเข้ามาเป็นเงินระยะสั้น เพราะพื้นฐานเศรษฐกิจไทยถึงแม้ว่าจะเริ่มดีขึ้นแต่ก็ยังมีความเสี่ยงอยู่มาก เม็ดเงินระยะยาวยังไม่น่าที่จะไหลเข้าจนกว่านักลงทุนจะต้องมั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยเริ่มเข้าสู่ภาวะการฟื้นตัวอย่างยั่งยืน และแนวโน้มผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนเริ่มดีขึ้น ซึ่งทั้งสองปัจจัยนี้ยังไม่เกิดขึ้น 

เท่าที่ผมทราบ เม็ดเงินที่ไหลเข้าส่วนใหญ่เป็นเงินจากกองทุนประเภท Passive (บริหารตามน้ำหนักตลาดหุ้นใน Benchmarks ต่างๆ) เช่น กองทุน Index Funds หรือ กองทุน ETF เป็นต้น การที่ตลาดหุ้นไทยปรับขึ้นสูงมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลกนับจากต้นปี น้ำหนักตลาดหุ้นไทยใน Benchmarks ต่างๆ จึงเพิ่มขึ้นตามไปด้วย กองทุน Passive เหล่านี้จึงจำเป็นต้องซื้อหุ้นไทยเพิ่มขึ้นเพื่อรักษาน้ำหนักตาม Benchmarks ยิ่งตลาดหุ้นไทยปรับขึ้น หรือ Outperform มากเท่าไร เงินเหล่านี้ก็จะไหลเข้ามากเท่านั้น

จึงไม่น่าแปลกใจที่เราเริ่มเห็นยอดขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาติเกือบทุกวันในเดือนนี้ เพราะ SET Index เริ่มปรับลดลงหลังจาก Outperform ตลาดหุ้นทั่วโลกมาตลอดสามเดือนที่ผ่านมา กองทุน Passive เหล่านี้จึงต้องขายหุ้นออกเพื่อรักษาน้ำหนักตลาดหุ้นไทยให้เท่ากับ Benchmarks ผมเชื่อว่าการไหลเข้าออกของเงินทุนต่างชาติจะยังคงผันผวนต่อไปอีกระยะหนึ่ง หรือจนกว่าเม็ดเงินจากกองทุนระยะยาวจะเริ่มกลับเข้ามา

แต่ถึงแม้เม็ดเงินระยะยาวจากกองทุนประเภท Active จะยังไม่ไหลเข้ามา ข้อดีของการเป็นตลาดหุ้นที่ปรับขึ้นมากสุดในเอเชีย คือการทำให้กองทุนต่างชาติส่วนใหญ่เริ่มกลับมาให้ความสนใจกับตลาดหุ้นไทยอีกครั้ง หลังจาก “ตกรถไฟ” ไปในช่วงไตรมาสหนึ่ง การปรับฐานของตลาดหุ้นไทยในเดือนนี้ จึงทำให้นักลงทุนต่างชาติเริ่มกลับมาศึกษาตลาดหุ้นไทยอย่างจริงจังอีกครั้ง เพื่อดูว่าถึงเวลากลับเข้ามาหรือยัง หลังจากขายหุ้นไทยไปกว่า 400,000 ล้านบาท ในช่วงสามปีที่ผ่านมา จนทำให้ระดับการถือครองหุ้นไทยของต่างชาติอยู่ในระดับที่ต่ำสุดในรอบกว่าสิบปี

ผมได้มีโอกาสไปพบกับนักลงทุนต่างชาติที่บริหารเงินระยะยาวที่ลอนดอนหลายรายในช่วงก่อนวันหยุดสงกรานต์ และก็เป็นไปตามคาด คือความสนใจในตลาดหุ้นไทยมีสูงขึ้นกว่าเมื่อ 3-4 เดือนที่แล้วมาก แม้ว่านักลงทุนส่วนใหญ่ที่ผมได้พบยังคง Underweight ตลาดหุ้นไทย แต่จากคำถามที่ผมได้รับ โดยเฉพาะระดับความลึกของรายละเอียดของคำถาม แสดงให้เห็นชัดเจนว่านักลงทุนต่างชาติระยะยาวเริ่มสนใจตลาดหุ้นไทยมากขึ้นแล้ว

แล้วอะไรคือ “Catalysts” หรือ ปัจจัยหลัก ที่จะทำให้เม็ดเงินระยะยาวไหลกลับเข้าตลาดหุ้นไทย? ผมเชื่อว่านักลงทุนต่างชาติให้ความสำคัญกับ 3 สิ่งนี้ คือ

1) ความคืบหน้าของการลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐาน ผมเชื่อว่าถ้ารัฐบาลสามารถเร่งรัดให้การดำเนินโครงการขนาดใหญ่ต่างๆ เกิดขึ้นโดยเร็ว นักลงทุนต่างชาติจะเกิดความมั่นใจมากขึ้นกับทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความเชื่อมั่นในทิศทางของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว นักลงทุนที่ผมได้พบส่วนใหญ่ไม่เข้าใจว่าทำไมโครงการเหล่านี้ถึงเกิดขึ้นยากมาก ทั้งที่เป็นนโยบายหลักของรัฐบาล และรัฐบาลนี้ก็มีอำนาจพิเศษที่สามารถเร่งรัดขั้นตอนการดำเนินการต่างๆ ได้ ดังนั้นถ้ารัฐบาลอยากเห็นเงินทุนระยะยาวไหลเข้าตลาดหุ้นมากขึ้น สิ่งที่ต้องทำคือเร่งรัดโครงการเหล่านี้ให้เกิดขึ้นให้ได้โดยเร็ว รวมถึงยกระดับการประชาสัมพันธ์เพื่อให้นักลงทุนได้เห็นถึงความคืบหน้า

2) การขยายตัวของการลงทุนของภาคธุรกิจเอกชน ในมุมมองของนักลงทุนต่างชาติ การลงทุนของภาคธุรกิจเอกชนเปรียบเสมือน “Stamp of Approval” หรือ “การยอมรับ” ที่ภาคธุรกิจมีให้กับรัฐบาลและทิศทางของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว นักลงทุนต่างชาติจึงให้ความสำคัญกับปัจจัยนี้มาก ส่วนใหญ่จะใช้เป็น “Leading Indicator” ในการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจ เพราะถ้าการลงทุนภาคเอกชนเริ่มขยายตัว แสดงว่าภาคธุรกิจเริ่มมีความมั่นใจกับการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล และเริ่มเห็นการฟื้นตัวของความต้องการในประเทศ ซึ่งก็หมายความว่าแนวโน้มเศรษฐกิจและผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนเริ่มดีขึ้น

3) การฟื้นตัวของการบริโภค คือ อีกหนึ่งปัจจัยหลักที่นักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจอย่างมาก นักลงทุนส่วนใหญ่ยังคงกังวลกับการเพิ่มขึ้นของหนี้สินครัวเรือนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เพราะนอกจากจะเป็นตัวฉุดกำลังซื้อ ยังทำให้เกิดปัญหาคุณภาพสินเชื่อของสถาบันการเงิน ถ้าการบริโภคภาคเอกชนเริ่มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และตัวฉุดกำลังซื้อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ระดับหนี้สินครัวเรือน รายได้เกษตรกร รายได้ครัวเรือน เริ่มปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น ผมเชื่อว่านักลงทุนต่างชาติจะมีความมั่นใจมากขึ้นกับเศรษฐกิจไทย

ที่น่าสนใจ คือ นักลงทุนต่างชาติที่ผมได้พบในลอนดอนในรอบนี้ ไม่ค่อยให้ความสำคัญมากนักกับเรื่องการเมือง รัฐธรรมนูญ หรือ การเลือกตั้ง แทบจะไม่มีใครสนใจเลยว่ารัฐธรรมนูญจะผ่านประชามติหรือไม่ แต่ที่ทุกคนสนใจคือแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ พวกเขาเชื่อว่าตราบใดที่การเมืองยังคงมีเสถียรภาพ ไม่มีความวุ่นวาย และไม่ได้เป็นตัวถ่วงเศรษฐกิจ ก็ไม่มีความจำเป็นต้องให้น้ำหนักมากนักกับเรื่องการเมือง และถ้ารัฐบาลนี้สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปในทิศทางที่ดีขึ้น ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างยั่งยืน ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และเริ่มปฏิรูปประเทศอย่างจริงจังเพื่อยกระดับเศรษฐกิจให้สามารถขยายตัวได้มากขึ้นในอนาคต พวกเขาก็พร้อมจะกลับเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทย