จุดโฟกัสตัวแปรลงประชามติ

จุดโฟกัสตัวแปรลงประชามติ

ถึงตอนนี้ ประเด็นที่มีการพูดถึงกันมาก ก็คือ

 การลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับมีชัย ฤชุพันธุ์ว่าจะ “ผ่าน หรือ “ไม่ผ่าน เพราะเหตุใดกันแน่

หลังจากเป็นที่ชัดเจนแล้วว่า สองพรรคการเมืองใหญ่ อย่างเพื่อไทยและประชาธิปัตย์ ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ รวมถึงไม่เห็นด้วยกับคำถามพ่วง ของ“สปท.”(สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ) และ“สนช.”(สภานิติบัญญัติแห่งชาติ) ที่ได้สิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวให้ถามได้ 1 คำถาม พ่วงไปกับประชามติว่า เห็นด้วยที่จะให้รัฐสภา (ซึ่งรวมถึงส.ว. 250 คน ที่มาจากการสรรหาและแต่งตั้งโดย คสช.) สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้ในช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปีหรือไม่

นอกจากนี้ ในรายของ“สนช.” (กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ) แกนนำ อย่าง “ตู่จตุพร พรหมพันธุ์ ก็ออกมากล่าวย้ำครั้งแล้วครั้งเล่า ว่าไม่รับตั้งแต่ต้น และยังประกาศกร้าวด้วยว่า แกนนำใครรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่ต้องคบกัน

ขณะเดียวกัน แกนนำพรรคการเมืองใหญ่ ยังแสดงท่าทีที่จะไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งด้วย ถ้าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ผ่านประชามติ

ทำเอาพล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ต้องออกมาตอบโต้ ขอให้นักการเมืองที่ออกมาแสดงความคิดเห็น ต่อต้านร่างรัฐธรรมนูญ และยืนยันไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ได้จดจำและทำตามที่พูดไว้

แม้แต่ อลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) คนที่ 1 ยังห่วงว่า หากการออกเสียงประชามติเห็นชอบก้ำกึ่ง ไม่เด็ดขาดจะมีความเสี่ยงที่อาจเป็นชนวนความขัดแย้ง ก่อความไม่สงบตามมาจนกระทบต่อโรดแม็พของแม่น้ำ 5 สาย ที่ต้องการเดินหน้าประเทศสู่การเลือกตั้งภายในปี 2560

ขณะเดียวกัน ก็น่าสนใจ กรณีบรรหาร ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ที่ออกมาแสดงท่าทีรับร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็ไม่ต่างจากท่าทีของพรรคเล็กก่อนหน้านี้ กรณีของ “บรรหาร” เหตุผลชัดเจนคือ อยากให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว

ที่น่าสนใจไปกว่านั้น ยังมีกลุ่มการเมืองใหญ่อีกกลุ่มหนึ่ง คือ กลุ่มกปปส. (คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทย ให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) ที่เป็นฝ่ายตรงข้ามกับ“นปช.” อย่างชัดเจน และฐานมวลชนก็ไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน มีแนวโน้มสูงว่าจะรับร่างรัฐธรรมนูญ

เนื่องเพราะ“ลุงกำนัน”สุเทพ เทือกสุบรรณ มีท่าทีชัดเจนมาตลอดว่าสนับสนุน“คสช.”

ประเด็นที่น่าวิเคราะห์ จึงมีอยู่แค่ มวลชนของพรรคประชาธิปัตย์ กับ กปปส. เป็นคนกลุ่มเดียวกันหรือไม่ในเวลานี้? และถ้าเป็นคนกลุ่มเดียวกัน “หัว” ที่พวกเขาเชื่อมั่นยอมรับคือ ใคร ระหว่าง“สุเทพ”หรือ “อภิสิทธิ์” ซึ่งถ้าจะว่าไปแล้ว แม้แต่ในพรรคประชาธิปัตย์ ที่“อภิสิทธิ์”เป็นหัวหน้าพรรค ยังมีการวิเคราะห์กันว่า ฐานอำนาจส่วนใหญ่ยังเป็นของ“สุเทพ”อยู่เลย ตัวแปรส่วนนี้จึงนับว่าน่าสนใจ

ส่วนฐาน“ข้าราชการ”ที่มีอยู่จำนวนมาก ส่วนใหญ่ก็คงอยู่ในมือ “คสช.”

เว้นแต่ข้าราชการครู ที่หลังจาก “คสช.” ใช้ “ม.44” รวบอำนาจการศึกษาขั้นพื้นฐานเมื่อไม่นานมานี้ ปฏิกิริยาไม่เอา “คสช.” ของ “ครู” ส่วนใหญ่ แสดงออกให้เห็นอย่างเด่นชัด

แน่นอน การปรับโครงสร้างครั้งนี้ สำหรับครูแล้ว ไม่ถือว่าเป็นการแก้ปัญหาอะไรเลย นอกจากความรู้สึกได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง และไม่พอใจอย่างยิ่ง เพราะถือเป็นการใช้อำนาจเผด็จการกับครู ผู้ซึ่งมีปัญหาน้อยที่สุด เมื่อเทียบกับข้าราชการส่วนอื่น เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงน่าสนใจว่า ครูจำนวนมากมายก่ายกองทั่วประเทศจะตัดสินใจเป็น “บวก” หรือ“ลบ”ต่อการลงประชามติครั้งนี้

จริงอยู่ ยังถือว่าเร็วเกินไปที่จะ“ฟันธง”ได้ว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะผ่านการลงประชามติหรือไม่ แต่ปัญหาสำคัญอาจอยู่ที่“คสช.”นั่นเอง ว่าจะเรียกคะแนนกลับมาได้อย่างไร ถ้ายังคงใช้“กำปั้นเหล็ก”ทุบไปตรงนั้นทีตรงนี้ที เอาเร็วทันใจเข้าว่า จนลืมนึกถึงความละเอียดรอบคอบอย่างเพียงพอ หรือ “หูเบา” เชื่อแต่ข้าราชการเสนออะไรก็เอาหมด จนไม่ฟังเสียงสะท้อนจากฝ่ายอื่น

นั่นแหละในท้ายที่สุดจะเป็นตัวแปร “ผ่าน-ไม่ผ่าน” ประชามติที่ชัดเจน และดีไม่ดีอาจไม่ต้องรอจนถึงวันที่7สิงหาคม ก็เป็นได้ ใครจะรู้?