เส้นทางสู่ระบอบอำนาจนิยมในสมัยทักษิณ

เส้นทางสู่ระบอบอำนาจนิยมในสมัยทักษิณ

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเมืองไทยในช่วงปี 2544-2549 ได้เดินทางไปสู่สภาวะทางการเมืองที่อยู่ภายใต้อำนาจนำและอิทธิพล

ของพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวภายใต้การนำของบุคคลคนเดียว นั่นคือ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร การเคลื่อนตัวไปสู่การปกครองโดยพรรคเดียว-คนเดียวนี้เกิดขึ้นเป็นช่วงๆ โดยเริ่มต้นในปี 2544 คือ หลังจากที่พรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงที่มากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย อันสืบเนื่องมาจากคุณสมบัติส่วนตัวของ พ.ต.ท. ทักษิณและนโยบายหาเสียงที่เป็นที่ยอมรับของพรรคไทยรักไทย

และด้วยเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ที่ต้องการส่งเสริมให้เกิดฝ่ายบริหารที่เข้มแข็ง พรรคเสรีธรรมที่เป็นพรรคขนาดเล็กตัดสินใจยุบตัวเองเพื่อไปรวมกับพรรคไทยรักไทยของ พ.ต.ท.ทักษิณ ในเดือนกรกฎาคม 2544 ด้วยเหตุผลที่ว่า นายประจวบ ไชยสาส์น หัวหน้าพรรคเสรีธรรมไม่ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2544 โดยสมาชิกพรรคเสรีธรรมทั้งหมด 14 คนได้เข้าเป็นสมาชิกพรรคไทยรักไทยด้วยความสมัครใจ โดยนายประจวบให้เหตุผลว่าเพื่อจะทำให้รัฐบาลมีอำนาจการตัดสินใจอย่างเด็ดขาดสามารถบริหารงานได้เพียงพรรคเดียว การตัดสินใจยุบพรรคเสรีธรรมดังกล่าวได้ส่งผลให้พรรคไทยรักไทยจากเดิมที่ได้ที่นั่ง 247 ที่นั่งเพิ่มเป็น 261 ที่นั่ง สามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

อีกหนึ่งปีต่อมา พรรคความหวังใหม่ภายใต้การนำของพลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ ซึ่งเป็นพรรคที่มีจำนวน ส.ส. ถึง 36 คนได้ตัดสินใจยุบพรรคเพื่อไปรวมกับพรรคไทยรักไทยเช่นเดียวกันในเดือนเมษายน 2545 โดยมีทั้งสมาชิกที่เห็นด้วยและคัดค้านอย่างรุนแรง ผลการยุบรวมนี้ทำให้พรรคไทยรักไทยมีจำนวน ส.ส. เพิ่มเป็น 294 คนโดยมาจากพรรคความหวังใหม่ 33 คนจาก 36 คน พลเอกชวลิตให้เหตุผลในทำนองเดียวกันกับหัวหน้าพรรคเสรีธรรมว่า “การเป็นขั้วที่ 3 เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้การเมืองของประเทศไทยไม่มีการพัฒนาและทำให้การแก้ไขปัญหาของชาติยืดเยื้อ ดังนั้นการรวมพรรคเพื่อทำให้ขั้วทางการเมืองชัดเจนก็จะสามารถแก้ปัญหาต่างๆ ได้ง่ายขึ้น”

ถัดจากพรรคความหวังใหม่อีก 2 ปีต่อมา เดือนสิงหาคม 2547 พรรคชาติพัฒนาซึ่งเป็นพรรคที่มีจำนวน ส.ส. 29 คนในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2544 โดยนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ หัวหน้าพรรคชาติพัฒนาขณะนั้น ได้ประกาศยุบพรรคชาติพัฒนาอย่างเป็นทางการ โดยมติเอกฉันท์เข้ารวมกับพรรคไทยรักไทย ทำให้พรรคไทยรักไทยมีจำนวน ส.ส.ถึง 325 ที่นั่ง โดยนายสุวัจน์ได้ให้เหตุผลว่า การยุบพรรคเป็นไปตามความต้องการของสมาชิกพรรคและมีเสียงเรียกร้องจากประชาชนโดยเฉพาะชาวนครราชสีมาที่ต้องการให้ไปช่วย พ.ต.ท. ทักษิณทำงาน ทั้งนี้ก่อนหน้านี้นายกร ทัพพะรังสี หัวหน้าพรรคชาติพัฒนาคนที่สอง และหลานชายของพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ผู้ก่อตั้งพรรคชาติพัฒนา ได้ลาออกจากที่ปรึกษาพรรคชาติพัฒนา เพื่อไปเป็นสมาชิกพรรคไทยรักไทย พร้อมรับตำแหน่งรองประธานที่ปรึกษาพรรคไทยรักไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

และการที่พรรคไทยรักไทยมี ส.ส.จำนวนมากเช่นนั้นในปี 2547 ส่งผลสองประการสำคัญ ประการแรกคือ ในช่วงเวลาที่ประกาศยุบพรรคชาติพัฒนารวมกับพรรคไทยรักไทย เป็นช่วงเวลาภายหลังที่รัฐบาลมีการปรับคณะรัฐมนตรีชุดที่ 9 ซึ่งพรรคชาติพัฒนาได้รับเชิญให้กลับเข้ามาร่วมรัฐบาลอีกครั้ง การยุบรวมพรรคชาติพัฒนาได้ส่งผลให้พรรคไทยรักไทยมีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมากเพียงพอที่พรรคไทยรักไทยจะสามารถรอดพ้นจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีอย่างแน่นอน ซึ่งแตกต่างไปจากแต่ก่อนที่พรรคไทยรักไทยยังต้องคอยดูท่าทีพรรคร่วมรัฐบาลพรรคอื่นๆ ว่าจะถอนตัวออกจากพรรครัฐบาลหรือไม่ อันแสดงให้เห็นถึงความไม่แน่นอนของระบบรัฐสภาภายใต้รัฐบาลผสม และประการที่สอง ส่งผลพรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้งในปี 2548 และเป็นพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวที่สามารรถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้อีกด้วย

สถานะดังกล่าวส่งผลให้เกิดพฤติกรรมที่ถูกมองว่าเป็นอำนาจนิยมที่เป็นการทำลายการตรวจสอบถ่วงดุลของระบบรัฐสภา เห็นได้จากสถิติกระบวนการพิจารณากระทู้ถามของปี 2548 ซึ่งอยู่ในสมัยที่สอง ทักษิณเป็นรัฐบาลหลังจากชนะการเลือกตั้งเป็นพรรคเดียวที่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ อันเป็นผลพวงจากการควบรวมพรรคการเมืองในสมัยแรกที่เป็นรัฐบาล จะพบว่า มีกระบวนการพิจารณากระทู้ถามทั้งสิ้น 1,001 รายการผู้ตั้งกระทู้ขอถอนเอง 98 รายการประธานไม่อนุญาตให้ถาม 16 รายการกระทู้ที่ตกไป 32 รายการกระทู้รัฐมนตรีตอบแล้ว 146 รายการ เป็นกระทู้สด 70 รายการเป็นของรัฐมนตรี 27 รายการ เป็นของนายกรัฐมนตรี 43 รายการ แต่ตัวทักษิณในฐานะนายกรัฐมนตรีมา ตอบด้วยตนเอง 0 รายการ

ต่อมาเป็นกระทู้ถามทั่วไปตอบในที่ประชุมสภา 76 รายการ เป็นของรัฐมนตรี 34 รายการ เป็นของนายกรัฐมนตรี 42 รายการ ตัวนายกรัฐมนตรีทักษิณมาตอบด้วยตนเอง 0 รายการ อีกทั้งในเดือนพฤษภาคม 2548 ประธานรัฐสภาที่มาจากพรรคไทยรักไทยได้ลดกระทู้ฝ่ายค้าน จากเดิมทีทุกสัปดาห์ ฝ่ายค้านได้ 2 รัฐบาลได้ 1 มาเป็นสองสัปดาห์แรก ฝ่ายค้านได้ 2 รัฐบาลได้ 1 และสัปดาห์ที่สาม ฝ่ายค้านได้ 1 รัฐบาลได้ 2 และพฤติกรรมไม่รับผิดชอบต่อรัฐสภาของทักษิณนี้ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากสื่อสำนักต่างๆ เผยแพร่ไปสู่สาธารณชนทั่วไปด้วย อีกทั้งสมาชิกวุฒิสภาหรือสภาผัวเมียก็ยังถูกมองว่าถูกครอบงำโดยทักษิณอีกด้วย