ประเมินผลลัพธ์ ต่ออายุมาตรการกระตุ้นศก.

ประเมินผลลัพธ์ ต่ออายุมาตรการกระตุ้นศก.

นับถอยหลังสู่เทศกาลสงกรานต์

 ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มอบของขวัญปีใหม่ไทย ด้วยการอนุมัติมาตรการลดหย่อนภาษีบุคคลธรรมดา ให้นำ “ใบกำกับภาษีฉบับเต็ม” ที่เกิดจากการกิน (ร้านอาหาร) และ เที่ยว (โรงแรม) ระหว่างวันที่ 9 -17 เม.ย. 2559 วงเงินไม่เกิน 1.5 หมื่นบาท มาลดหย่อนภาษีฯ คล้ายกับมาตรการ “ช้อปช่วยชาติ” ที่ออกมาช่วงปลายปีที่ผ่านมา 

ทว่า หนนี้มาตรการ  “ไม่ครอบคลุม” ถึงการชอปปิง

มติ ครม.ในคราวเดียวกัน ยังไฟเขียว ต่ออายุ มาตรการให้นำค่าใช้จ่ายจากการท่องเที่ยว มาลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ออกไปอีก “1 ปี” จากเดิมที่มาตรการนี้หมดอายุไปเมื่อสิ้นปี 2558  โดยกำหนดให้มาตรการมีผลต่อเนื่องย้อนหลังนับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2559 โดยให้บุคคลธรรมดาสามารถนำค่าใช้จ่ายด้านโรงแรม ราคาแพ็กเกจทัวร์ หรือการท่องเที่ยว นำไปใช้หักลดหย่อนภาษีได้ไปถึงปลายปี 2559

ถามว่า มาตรการเหล่านี้ จะช่วย กระตุ้นการใช้จ่าย ของคนไทย ประคับประคองเศรษฐกิจไทย ได้มากน้อยแค่ไหน ?

คำตอบจากภาคเอกชนท่องเที่ยว คือ ไม่แน่ใจ   

แม้ว่า “ภาคท่องเที่ยว” จะเป็น “เครื่องจักร” สำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ประเมินจากรายได้ท่องเที่ยว โดยเฉพาะรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่พบว่ายังเติบโตดี 

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์แนวโน้มตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยในปี 2559 ว่าจะมีจำนวนประมาณ 31.40-32.27 ล้านคน เติบโตประมาณ 5 -8 % เมื่อเทียบกับปี 58 ที่ขยายตัวประมาณ 20.4%

ขณะที่เครื่องจักรเศรษฐกิจตัวอื่น ทำงานอืด ไม่ว่าจะเป็นการส่งออก การลงทุนภาครัฐและเอกชน รวมถึงการบริโภคภายในประเทศ

แต่เหตุใดภาคเอกชน จึงเชื่อเช่นนั้น !!

เพราะสิ่งที่พวกเขามองเห็นเป็น จุดอ่อน ของการดำเนินมาตรการลดหย่อนภาษีท่องเที่ยวครั้งที่ผ่านมาคือ การอ่อนประชาสัมพันธ์ ขณะที่การประกาศมาตรการลดหย่อนภาษีท่องเที่ยว รอบล่าสุด ยังประกาศค่อนข้าง กระชั้นชิด ผลลัพธ์ของมาตรการจึงไม่น่าจะมากนัก เนื่องจากคนไทยส่วนหนึ่งวางแผนเดินทางท่องเที่ยวไว้ล่วงหน้าไปแล้ว โดยเฉพาะการเดินทางท่องเที่ยวในต่างประเทศ

สภาอุตฯท่องเที่ยว ยังสำรวจของมาตรการลดหย่อนภาษี จากค่าใช้จ่ายด้านท่องเที่ยวในประเทศที่ทำไปแล้วในปีที่ผ่านมา ว่า มีคนไทยรับทราบมาตรการ 69% แต่ยื่นขอลดหย่อนภาษีตามมาตรการนี้จริง 7% เหตุผลหลักเพราะไม่ได้ใช้จ่ายกับผู้ประกอบการที่ออกใบกำกับภาษีได้ตามเงื่อนไข และอีกส่วนหนึ่งไม่ได้มีกิจกรรมท่องเที่ยวสำหรับลดหย่อนภาษี 

ผลสำรวจนักท่องเที่ยวไทย 350 รายทั่วประเทศ ยังพบว่า มีการเดินทางในช่วงไตรมาสที่ 1 สัดส่วน 25% ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาที่่สูงถึง 49% 

ส่วนในไตรมาส 2 ของปีนี้ ผลสำรวจระบุว่า คนไทยที่ตั้งใจเที่ยวในประเทศสัดส่วน 31% ยังคงลดต่ำลงต่อเนื่องเมื่อเทียบกับปีก่อนที่สูงถึง 44%

ขณะที่ช่วงเทศกาลสงกรานต์ นักท่องเที่ยวไทยมีแผนเดินทาง 29% ลดลงเล็กน้อย โดยนักท่องเที่ยวจะเริ่มออกเดินทางกันในวันที่ 11-12 เม.ย.เป็นส่วนใหญ่ และเลือกเดินทางด้วยตัวเองมากที่สุด 54%

“การผลสำรวจ” หรือ “การประเมินผล” มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเหล่านี้ จึงถือเป็น “สิ่งจำเป็น” ที่รัฐควรจะต้องนำมา “ประกอบการพิจารณา” ต่ออายุมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใดๆ พร้อมไปกับการแก้ไขจุดอ่อนของมาตรการ

หากต้องการ เล็งผลเลิศ ของมาตรการ

ไม่ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ